กรุงเทพธุรกิจ
21 กรกฎาคม 2549 22:15 น.
"นาม ยิ้มแย้ม" ประธานอนุสอบจ้างพรรคเล็ก ระบุชัด พยานพรรคเล็กซัดรับเงิน "ธรรมรักษ์" แฉ กลาโหม ปิดทาง สอบทหารรักษาการ ชี้สอบคดีเลือกตั้ง 1,000 คดีไม่เคยพบ กกต.สั่งสอบพยานซ้ำซาก
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ศาลสืบพยานโจทก์ครั้งที่สองในคดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว. พ.ศ. 2541 มาตรา 24 กรณีที่ไม่เร่งรัดดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แข่งขันเพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ร้อยละ 20 ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยวันนี้นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีว่าจ้างพรรคการเมืองให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เบิกความถึงขั้นตอนการสอบสวนว่า หลังจากที่เกษียณอายุราชการจากการเป็นผู้พิพากษาแล้ว พยานเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการสอบสวนการคัดค้านคดีเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 มีประสบการณ์สอบสวนคดีกว่า 1,000 คดี สำหรับคดีนี้จำเลยที่1 ร้องขอให้เข้ามาเป็นประธานอนุกรรมการฯแต่ครั้งแรกพยานปฏิเสธ กระทั่งจำเลยที่ 1 รับปากว่าจะให้สรุปความเห็นการสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นจึงได้เข้ามาเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯสอบสวนกรณีที่โจทก์ยื่นหนังสือร้องเรียนวันที่ 20 มี.ค. 2549 กล่าวหาพรรคไทยรักไทย จ้างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยการสอบปากคำบุคคลต่างๆ ที่ถูกพาดพิง พยานมอบหมายให้อนุกรรมการฯ แบ่งกันสอบปากคำพยานแต่ละกลุ่ม
ทักษิณส่อโดนด้วย
คณะอนุกรรมการฯประชุมสรุปผลการสอบพยานหลายครั้งก่อนจะได้สรุปมติคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรกในวันที่ 7 เม.ย. 49 ที่เห็นว่า คำร้องเรียนมีมูลและมีพยานหลักฐาน เชื่อมโยงสอดคล้องต้องกัน มีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ กกต.หนึ่งคน ปลอมแปลงฐานข้อมูลสำนักงานกกต. เรื่องคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และพบว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย โดยมีมติให้แจ้งข้อหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ด้วยแต่จำเลยทั้งสามยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กลับมีคำสั่งให้คณะอนุกรรมการฯสอบพยานเพิ่มเติมในอีกหลายกรณี
ประธานคณะอนุกรรมการฯ เบิกความต่อว่า เมื่อคณะอนุกรรมการฯสอบสวนเพิ่มเติมแล้วมีมติความเห็นเช่นเดียวสำนวนการสอบสวนครั้งแรก โดยวันที่ 21 เม.ย. จำเลยทั้งสามจึงประชุมและมีคำสั่งเสนอให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยเท่านั้น แต่ยังไม่ดำเนินการใดๆกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งสั่งให้คณะอนุกรรมการฯสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้เรียกบุคคลที่ถูกพาดพิงมาสอบสวนเพิ่มเติมอีก 15 ปาก แต่เมื่อคณะอนุกรรมการฯประชุมร่วมกันเห็นว่า สำนวนการสอบสวนมีน้ำหนักเพียงพอแล้วจึงมีมติวันที่ 4 พ.ค.2549 ไม่สอบสวนบุคคลเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ ประธานอนุกรรมการฯ เบิกความด้วยว่าที่คณะอนุกรรมการฯไม่ได้สอบปากคำ พล.อ.ธรรมรักษ์ นายพงษ์ศักดิ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต และพล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ผู้ที่ถูกพาดพิงการรับและจ่ายเงิน เนื่องจากการสอบสวนคำร้องเรียนของกกต. ใช้ระบบการไต่สวนที่จะฟังหลักฐานฝ่ายผู้ร้องเป็นหลักแล้วจะสอบพยาน ถ้าเห็นว่าคำร้องมีมูลก็จะให้ผู้ถูกร้องมาชี้แจงแสดงพยานหลักฐานต่อไป โดยเป็นเรื่องที่ กกต. จะดำเนินการตามมาตรา 19 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และสว. พ.ศ. 2541
ชี้ พรรคเล็กรับเงิน ธรรมรักษ์
ส่วนกรณีของนายทวี สุวรรณรัตน์ นายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์ และนายธีรชัย จุลพัฒน์ หรือต้อง (ทั้งหมดเป็นผู้ติดต่อพรรคเล็กที่นายชวการ โตสวัสดิ์ ผู้ติดต่อพรรคพัฒนาชาติไทย เคยให้ปากคำว่าทั้งหมดเป็นผู้พาไปพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ เพื่อรับเงิน) คณะอนุกรรมการฯได้เรียกมาสอบปากคำแล้วทั้งสามคนไม่มา แต่การสอบสวนคณะอนุกรรมการฯได้ความจากคำให้การของนายชวการ โตสวัสดิ์ พยานรับว่าไปที่ห้องทำงานพล.อ.ธรรมรักษ์ ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อรับเงิน
อย่างไรก็ดี ประธานคณะอนุกรรมการฯ เบิกความยืนยันด้วยว่า การที่จำเลยทั้งสามส่งสำนวนยุบพรรคไทยรักไทย ให้อัยการสูงสุดโดยไม่มีการชี้มูล และแจ้งข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ถือว่าขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว. พ.ศ. 2541 มาตรา 19 วรรคสอง และระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ข้อที่ 40 เนื่องจากเป็นการทำให้สำนวนการสอบสวนไม่สมบูรณ์ ซึ่งการเบิกความประธานอนุกรรมการฯปฏิเสธด้วยว่าไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน และเมื่อทนายโจทก์ ถามว่าในการทำหน้าที่สอบสวนของพยานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2544 เคยปรากฏว่าหรือไม่ว่า เมื่อส่งรายงานมติผลสอบสวนแล้ว กกต. ยังสั่งสอบเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง และเมื่อไม่สอบเพิ่มเติม กกต.ได้เรียกสอบพยานเอง ประธานอนุกรรมการฯปฏิเสธว่า ไม่เคยปรากฏเหตุเช่นนี้มาก่อน คดีนี้ถือเป็นครั้งแรก ซึ่งเมื่อคำร้องมีมูล กกต จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯและระเบียบ กกต.
ทั้งนี้ เมื่อฝ่ายจำเลยซักค้านเกี่ยวกับรายละเอียดหลักฐาน การตรวจสอบ การรับเงิน บัญชีของพล.อ.ธรรมรักษ์ นายพงษ์ศักดิ์ พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ประธานอนุกรรมการฯ ตอบว่า คณะอนุกรรมการฯไม่มีหลักฐานเอกสารการจ่ายเงินของพรรคการเมือง แต่การสอบสวนได้ความจากคำให้การของนางฐัติมา ภาวะสี พรรคแผ่นดินไทยที่ให้การไว้ที่กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 พบว่านางฐัติมารับเงินจากพล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ จำนวน 3 ล้านบาท และมีหลักฐานที่นางฐัติมา ลงชื่อจ่ายเงินให้ผู้สมัครรายอื่น ส่วนการตรวจสอบบัญชีพรรคการเมืองนั้นได้ตรวจของพรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย แต่ไม่พบเงิน และเมื่อฝ่ายจำเลยถามว่า ที่มีการพาดพิงถึงการไปพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ เพื่อรับเงินนั้นคณะอนุกรรมการฯ สอบบุคคลอื่นพื่อยืนยันข้อเท็จจริงหรือไม่ ประธานอนุกรรมการฯ ตอบว่าตามที่นายชวการ ให้การว่า ไปประชุมที่พรรคไทยรักไทยร่วมกับนายทวี นายพงษ์ศรี และนายธีรชัย นั้น ได้สอบบุคลที่อยู่ร้านอาหารใกล้กับพรรคไทยรักไทย ยืนยันว่าพบทั้ง 4 คนไปนั่งรับประทานอาหาร ส่วนการสอบเจ้าหน้าที่ทหารที่ตรวจสอบการเข้า-ออก กระทรวงกลาโหมนั้น คณะอนุกรรมการฯ แจ้งให้ทราบว่าเคยขอเข้าไปสอบเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ไม่ได้รับอนุญาต โดยเรื่องนี้ ภายหลังปรากฏข่าวทางสื่อมวลชน ว่ามีหลักฐานภาพถ่ายในเทปวงจรปิดเห็นบุคคลทั้ง 4 ไปที่กระทรวงกลาโหมวันที่ 3 มี.ค.49
เมื่อสิ้นการเบิกความพยานแล้ว ศาลนัดสืบพยานโจทก์ 2ปากสุดท้าย วันที่ 25 ก.ค. นี้เวลา 09.00 น.
ภายหลัง นายนาม ยิ้มแย้ม กล่าวยืนยันว่า ที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มที่ และมีพยานหลักฐานโดยครบถ้วนเห็นว่าคำร้อง นายสุเทพ มีมูลจึงเสนอให้กกต.ดำเนินการยุบพรรคการเมือง ส่วนที่ไม่ได้เรียกพ.ต.ท.ทักษิณ มาชี้แจงข้อกล่าวหา เป็นเรื่องที่กกต.จะต้องดำเนินการเอง ไม่ใช่อำนาจของคณะอนุกรรมการฯ ส่วนที่จะมีใครตั้งข้อสงสัยว่าตนมีความสัมพันธ์ สนิทสนมกับพรรคประชาธิปัตย์ เคยบอกไปหลายครั้งแล้วว่า ไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว แม้กับนายสุเทพ ก็รู้จักว่าเป็นนักการเมืองเท่านั้น
เมื่อถามว่า หลังจากนี้ไปหากมีคำร้องเกี่ยวกับคดีเลือกตั้งที่ต้องสอบสวนอีก จะเต็มใจร่วมสอบสวนหรือไม่ นายนาม กล่าวว่า หากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่ต่อไป