ร้อง ป.ป.ช.สอบรพ.สังกัด กทม.ส่อฮั้วจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ คาดใช้สนับสนุนกิจกรรมพรรคการเมือง


ร้องโรงพยาบาล กทม.ส่อฮั้วจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช.สอบ เผย 2 บริษัทเสนอราคาต่างกัน 14 ล้านบาท ลือแซดใช้สนับสนุนกิจกรรมพรรคการเมือง กก.สั่งยกเลิกการประมูลทันที ชี้หลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาที่ไม่เป็นธรรม ผู้บริหารยัวะขู่ปลดประธานกรรมพ้นตำแหน่งบริหาร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ผู้บริหารระดับสูงสังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร(กทม.)ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการจัดซื้ออุปกรณ์ทางแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสังกัด กทม. ที่ส่อว่า จะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือการฮั้วประมูล โดยเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ได้รับหนังสือแทนและลงเลขรับหนังสือที่ 04044 / 11 กุมภาพันธ์ 2552 

ทั้งนี้ เอกสารการร้องเรียนระบุว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 โรงพยาบาลดังกล่าวได้ประกาศซื้อเครื่องเอกซ์เรย์ตรวจสวนหัวใจชนิดระนาบเดียว (Cardiac Catheterization Lap) จำนวน 1 เครื่อง วงเงิน 40 ล้านบาท ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีบริษัทเอกชนผ่านการคัดเลือก 2 ราย คือ 1.บริษัทซีเมนส์ จำกัด ที่เสนอเครื่องเอกซ์เรย์ยี่ห้อ Siemens รุ่น Artis Zee และ 2.บริษัทเมดิคเทค อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายของบริษัทฟิลลิปส์ นำเสนอเครื่องเอกซ์เรย์ ยี่ห้อ Philips รุ่น Allura Xper FD10
 
"วันที่ 12 ธันวาคม 2551 จึงมีการเปิดประมูล ผลการประมูลปรากฏว่าบริษัทซีเมนส์ จำกัด เป็นผู้เสนอต่ำสุดในราคา 39,546,999 บาท ซึ่งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตงานและร่างเอกสารการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการประมูลซื้อฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าการเสนอราคาดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาที่ไม่เป็นธรรม มีความผิดในมาตรา 4 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 เนื่องจากได้รับข้อมูลจากใบเสนอราคาเครื่องเอกซ์เรย์ยี่ห้อ Philips รุ่น Allura Xper FD10 โดยตรงจากบริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่งมายังโรงพยาบาลในภายหลังก็มีคุณสมบัติเดียวกัน หรือเหนือกว่าที่ปรากฏในร่างขอบเขตงานฯ โดยมีราคาเพียง 25 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงยกเลิกการประมูล" เอกสารระบุ

หนังสือระบุอีกว่า ต่อมาวันที่ 24 และ 28 มกราคม 2552 บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดได้ขอต่อรองด้วยการลดราคาจาก 39,546,999 บาท เหลือ 39 ล้านบาท พร้อมกับเสนออุปกรณ์เพิ่มเติม รวมมูลค่า 1.5 ล้านบาท เพื่อขอให้คณะกรรมการฯเปลี่ยนแปลงมติ ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงได้ประชุมในวันที่ 28 มกราคม 2552 ยืนยันความเห็นเดิมว่า จะไม่มีการประมูลต่อ เนื่องจากเห็นได้ว่า มีการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในการประมูล

ข่าวแจ้งว่า ภายหลังคณะกรรมการฯ มีมติยกเลิกการประมูล ตัวแทนบริษัทซีเมนส์ จำกัด ได้พยายามขอเข้าพบผู้ใหญ่ระดับผู้บริหารในโรงพยาบาลดังกล่าว เพื่อให้ดำเนินการเร่งรัดให้คณะกรรมการรับรองการประมูลเครื่องเอ็กซ์เรย์ แต่ทางคณะกรรมการฯ ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ขณะเดียวกันยังมีกระแสข่าวว่า ผู้บริหารโรงพยาบาลบางคนได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่อื่นๆ ภายในโรงพยาบาลในทำนองว่า จะปลดประธานคณะกรรมการ ออกจากตำแหน่งระดับผู้บริหาร

"ราคาที่ชนะการประมูลดังกล่าว หากเปรียบเทียบกับราคาที่ส่งมาจากอีกบริษัทหนึ่ง พบว่ามีส่วนต่างถึง 14 ล้านบาทนั้น มีการพูดกันว่า จะนำไปสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า ขณะเดียวกันโรงพยาบาลดังกล่าว ยังมีการจัดซื้อเครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มูลค่า 65 ล้านบาท มีคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตงานและร่างเอกสารการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการประมูลซื้อฯ เป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการฯ จัดซื้อเครื่องเอกซ์เรย์ตรวจสวนหัวใจ โดยระหว่างการร่างสเปคกำหนดกรอบทีโออาร์ ผู้บริหารบางคนได้ระบุว่า เครื่อง MRI จะต้องเปิดทางให้บริษัทหนึ่งได้รับการประมูล เพื่อเป็นการแลกกันกับที่บริษัทอีกแห่งหนึ่งได้รับการประมูลเครื่องเอ็กซ์เรย์ตรวจสวนหัวใจแล้ว
 
ทั้งนี้ มีข้อมูลระบุว่า การซื้อเครื่องเอกซ์เรย์ตรวจสวนหัวใจจาก 9 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่จัดซื้อระหว่างปี 2549-2551 มีราคาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
 
1.โรงพยาบาลพระปกเกล้าจ.จันทบุรี  ซื้อ Seimens รุ่น Axiom Artis dFC เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 ราคา 28,950,000 บาท
2.โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ซื้อ  Phillips รุ่น Allura FD10 ราคา 23,888,000 บาท
3.วชิรพยาบาล กทม.ซื้อ Siemens รุ่น AXIOM Artis dFC เมื่อ 18 ตุลาคม 2549ราคา 48,5000,000 บาท
4.โรงพยาบาลขอนแก่น ซื้อเครื่องเอกซ์เรย์หลอดเลือดร่วมรักษา Phillips รุ่น Allura FD10 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 ราคา 28,800,000 บาท
5.โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซื้อ Phillips รุ่น Allura FD10 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 ราคา 24,367,800 บาท
6.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซื้อ Phillips รุ่น Allura FD20 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550 ราคา 23,200,000 บาท
7.โรงพยาบาลพิจิตร ซื้อ Toshiba รุ่น Infinix Vci-FPD เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ราคา 28 ล้านบาท
8.โรงพยาบาลราชวิถี ซื้อ Siemens รุ่น AXIOM Artis Zee เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2551 ราคา 24 ล้านบาท

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์