นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ ) กล่าววันนี้ (6 มี.ค.)
คนไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนยากจนที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 8-10 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนยากจนที่อยู่ในชนบท ชาวนา และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่าง รวดเร็วในปี 2551 มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือคนยากจนยังไม่เพียงพอ เพราะยังขาดการช่วยเหลือรายจ่ายด้านอาหารพื้นฐานและมาตรการช่วยเหลือยังไม่ ถึงมือประชาชนที่ด้อยโอกาส สาเหตุเพราะรัฐบาลขาดข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลข สถานที่ และสถานการณ์ของคนยากจน รัฐบาลต้องจัดทำระบบข้อมูลของคนยากจนให้สมบูรณ์ โดยกำหนดให้ประชากรในวัยทำงานทั้งหมดกรอกแบบแสดงรายการภาษีปีละครั้ง ไม่ว่าจะมีงานทำและมีรายได้หรือไม่ วิธีนี้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศได้นำมาใช้แล้ว
นายอัมมาร กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนที่ตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การช่วยเหลือด้วยเงินสดเหมือนหลายประเทศใช้วิธีให้เงินแก่คนยากจน
วิธีการทำได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ประเทศไทยยังไม่มีโครงการโอนเงินสดในระดับใหญ่ เพราะมีปัญหาการระบุประชากรที่มีฐานะยากจนที่แท้จริง ทีดีอาร์ไอ เชื่อว่าในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจการช่วยเหลือด้วยเงินสดจะบรรเทาปัญหาความยากจน ของประเทศไทยได้ และรัฐบาลควรศึกษาวิธีการที่ประเทศต่างๆ ได้นำโครงการนี้มาใช้ เพื่อปรับใช้ในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม
"เดิมเชื่อว่าการยกระดับราคาข้าวจะช่วยแก้ปัญหาคนจนได้ แต่ปัจจุบันเลิกแนวคิดดังกล่าวไปแล้ว เพราะพบข้อมูลว่าชาวนากว่าร้อยละ 30 เป็นชาวนาระดับบนที่มีฐานะดี และเงินในการยกระดับราคาข้าวถึงร้อยละ 40 ตกไปอยู่ในมือชาวนาระดับบนไม่ถึงมือเกษตรกรที่ยากจนจริง" นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ
จัดทำระบบข้อมูลเกี่ยวกับคนยากจนและคนด้อยโอกาสให้ทันสมัย เพื่อให้เงินช่วยเหลือถึงมือคนยากจนอย่างแท้จริง และรัฐบาลควรขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมลูกจ้างเอกชนทั้งหมด รวมทั้งแรงงานนอกระบบ 23 ล้านคน ผลักดันให้มีการออมภาคบังคับหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร เร่งระบบชลประทาน การขนส่ง เพื่อช่วยเหลือคนจนที่อยู่ในภาคเกษตร
นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องระวังภาวะเงินเฟ้อที่อาจกลับมาสูงขึ้น และจะกระทบกับรายจ่ายของประชาชน
แม้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะติดลบ เพราะเชื่อว่าเมื่อสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แล้วจะกลับเข้ามาเก็งกำไรน้ำมัน สินค้าเกษตร และทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอีก จะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้นได้