"วอชิงตัน โพสต์" เสนอข่าวทั่วโลกยังไม่เห็นมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชัดเจนจากการประชุมอาเซียน
(2มี.ค.) เว็บไซท์ของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ รายงานว่า
บรรดาผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดเป็นเวลา 2 วันแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เรื่องของความพยายามแสวงหาความร่วมมือในการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ก็ล้มเหลวต่อการออกมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน โดยในแถลงการณ์ร่วม บรรดาชาติผู้นำของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ได้เห็นชอบร่วมกันถึงความจำเป็นของการดำเนินการที่มุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยว ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาด และหลักประกันเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน แต่นอกเหนือจากการยอมผูกมัดตัวเองว่าจะให้ความร่วมมือให้ดีขึ้นกว่าเดิม ต่อแผนการกระตุ้นเศรฐกิจและประนามการปกป้องทางการค้าแล้ว ผู้นำเหล่านี้ กลับมีรายละเอียดของการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้อยมาก
การเติบโตของภูมิภาคแห่งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เป็นแรงขับดันจากการส่งออกเสียเป็นส่วนใหญ่และชาติสมาชิกสมาคมอาเซีย ต่างก็ได้รับผลประทบหนักจากความต้องการที่ลดลงในตลาดใหญ่ ๆ อย่างในสหรัฐ และยุโรป ชาติสมาชิกหลัก เช่น สิงคโปร์และไทย ต่างก็ได้รับสัญญาณของการหดตัวของ GDP มาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว และคาดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีก ก่อนที่จะเริ่มดีขึ้น
การประชุมที่หัวหิน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของสมาคมอาเซียน
ซึ่งเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ชาติสมาชิกลงนามในกฎบัตร ที่ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ให้สถานะอาเซียนเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล ซึ่งชาติสมาชิกได้คาดหวังจะให้อาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจ เป็นเขตการค้าเสรี ที่มีความร่วมมือกันด้านนโยบายความมั่นคง ภายในปี 2558
ในการประชุมล่าสุด ผู้นำอาเซียน ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี ร่วมกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ส่วนในเรื่องของกฎบัตร หนึ่งในสาระสำคัญคือ การสถาปนาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระ แต่การพยายามผลักดันของอาเซียน ก็ต้องเผชิญอุปสรรค เมื่อพม่าและกัมพูชา ขู่ว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ถ้ามีนักเคลื่อนไหวจากสองประเทศนี้เข้าร่วมการประชุมด้วย