"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนนตรี แถลงอาเซียนร่วมผลักดันประชาคมตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนภายในปลายปีนี้ กรีนพีซแสดงละครล้อเลียน ภริยานายกฯเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันคู่สมรสผู้นำอาเซียน
(1 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน อำเภอชะอำ ว่า ได้มีนักเรียนจากโรงเรียนในเขตเทศบาลชะอำ จำนวน 300 คน จากโรงเรียนเทศบาล 4 บ้านบ่อเขม โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านห้วยทรายใต้ โรงเรียนเทศบาล 6 บ้านห้วยทรายเหนือ และโรงเรียนเทศบาล 2 วัดไทรย้อย โรงเรียนละ 75 คน ยืนเรียงรายโบกธงชาติของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อต้อนรับขบวนของผู้นำประเทศ ที่เดินทางมาร่วมประชุมในช่วงเช้าวันนี้ (1 มี.ค.) ซึ่งเริ่มขึ้นในเวลา 08.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังที่ได้มีการถ่ายภาพหมู่รวมกันเสร็จสิ้นแล้วจากนั้นในเวลาประมาณ 11.15 น.จะมีพิธีลงนามเอกสารที่เป็นผลจากการประชุมครั้งนี้ โดยเอกสารที่จะลงนามโดยผู้นำอาเซียนมีทั้งสิ้น 2 ฉบับ คือ ร่างปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียนปี ค.ศ. 2009-2015 และร่างความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียม
นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่รับรองโดยผู้นำอาเซียนอีก 5 ฉบับ เอกสารที่จะรับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 2 ฉบับ และเอกสารที่จะมีการลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอีก 8 ฉบับ จากนั้นในเวลา 11.45 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน จะแถลงผลการประชุมในครั้งนี้ และในเวลา 12.10 น.จะเป็นเจ้าภาพในงานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำประเทศอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการประชุมในครั้งนี้ ก่อนที่ในช่วงบ่ายผู้นำชาติอาเซียนและคณะผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ จะทยอยเดินทางกลับ อย่างไรก็ตามในเวลา 13.30 น. นายอภิสิทธิ์มีกำหนดการที่จะแถลงข่าวกับสื่อมวลชนไทย
นายกฯแถลงผลประชุมอาเซียนตั้งเป้าจัดตั้งประชาคมอาเซียน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียนได้แถลงถึงผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ว่า การประชุมครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จ ภายใต้หัวข้อหลัก “กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน” ซึ่งที่ประชุมเห็นถึงความสำคัญของการผลักดัน ให้เกิดประชาคมอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ภายในปี 2558 รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยได้ตกลงว่า องค์กรนี้ ควรเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ในช่วงปลายปี 2552
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลก ตลอดจนผลกระทบทางลบต่อภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมมีความกังวลว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการ ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นของอาเซียน เพื่อรักษาความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ เราได้รับการรายงานสรุปเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและการคลังที่ขยายตัว ที่แต่ละรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงนโยบาย เกี่ยวกับมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อคงไว้ซึ่งการจ้างงาน และรายได้สำหรับกลุ่มมีรายได้ต่ำและปานกลาง ที่ได้รับผลกระทบ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวโยงกันระหว่างความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงด้านพลังงานอย่างรอบด้าน โดยได้ให้คำมั่นที่จะกระชับความร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารทั้งภาคการผลิต และภาคการจัดจำหน่าย ที่ทำให้มั่นใจว่า ทรัพยากรและเทคโนโลยี จะได้รับการจัดสรรอย่างเพียงพอ ในยามวิกฤติ ซึ่งเรายินดีต่อความพยายามที่กำลังดำเนินอยู่ ในการจัดตั้งกองทุนสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 เพื่อเป็นกลไกถาวรในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังเน้นความจำเป็น ที่จะกระชับความร่วมมือ ในการพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก รวมทั้งเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเน้นย้ำความจำเป็น ที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ร่วมกับพลังงานรูปแบบอื่น ๆ ในสัดส่วนที่มากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในการนี้ ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ร่วมกันกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณของพลังงานทดแทน ร่วมกับพลังงานรูปแบบอื่น ๆ ภายใน 5 ปีข้างหน้า และได้ตกลงที่จะพิจารณาลู่ทางให้ภูมิภาคนี้ เป็นศูนย์กลางสำหรับการวิจัย และพัฒนาด้านพลังงานทดแทน
สำหรับสถานการณ์ในพม่า ที่ประชุมรับฟังการกล่าวสรุป โดยนายเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า เกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองล่าสุด และความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 7 ขั้นตอนที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งเราสนับสนุนให้รัฐบาลพม่า อำนวยความสะดวกต่อกระบวนการปรองดองแห่งชาติ ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสร้างเอกภาพแห่งชาติ อันจะนำไปสู่สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในพม่า
"การปลดปล่อยผู้ถูกคุมขังทางการเมือง และการเชิญทุกพรรคการเมือง เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ต่อกระบวนการปรองดองแห่งชาติในพม่า ซึ่งเราให้ความสำคัญกับความจำเป็น และยินดีต่อความเต็มใจของรัฐบาลพม่า ที่ร่วมมืออย่างแข็งขัน กับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการอาเซียน และผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อลดความห่วงกังวลของประชาคมระหว่างประเทศต่อสถานการณ์ในพม่า ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในมหาสมุทรอินเดีย"
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมาจากบังคลาเทศและพม่า และเรียกร้องสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศจุดหมาย เป็นเรื่องสำคัญมาก ในขณะเดียวกัน ปัญหานี้ ควรได้รับการแก้ไขในบริบทที่กว้างขึ้น เช่น กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ และการประชุมบาหลีในระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยการลักลอบขนคนเข้าเมือง การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราได้มอบหมายให้เลขาธิการอาเซียน ร่วมมือกับรัฐบาลพม่า เพื่อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง กับผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเหล่านี้ ในมหาสมุทรอินเดีย
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า อาเซียนพร้อมเปิดกว้างให้ประเทศนอกภูมิภาคเข้ามามีส่วนกับอาเซียน ในการนี้นายกฯได้ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการจัดการปัญหาผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย ว่าพร้อมจะนำปัญหาในการลักลอบเข้าเมืองอย่าผิดกฏหมายขึ้นพูดคุยกับประเทศที่เกี่ยวข้องในกรอบความร่วมมือที่จะหาทางแนวทางแก้ไขได้
นายกฯมาเลย์ชม"อภิสิทธิ์"เป็นนายกฯได้ 3 เดือนทำหน้าที่ประธานอาเซียนได้ดีเมื่อเวลา 14.30 น. ที่โรงแรมเชอราตัน รีสอร์ท แอน สปา หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขัน
ธ์ นายดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ว่า การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และขอชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ทำหน้าที่ประธานอาเซียนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งนี้เพียง 3 เดือน โดยส่วนตัวตนชื่นชอบนายกรัฐมนตรีของไทย
เมื่อถามถึงการแก้วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการต่อต้านการกีดกันทางการค้า เนื่องจากประสบการณ์จากปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมาของมาเลเซีย ทำให้ทราบว่าอาเซียนต้องอยู่ด้วยกันจึงจะผ่าฝันอุปสรรคไปได้ ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่อยู่ภายใต้กฏบัตรอาเซียนและได้พบกับผู้แทนจากภาคประชาสังคมและหวังว่าจะรูปแบบที่ดีต่อไปในอนาคต
ภริยานายกฯเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันคู่สมรสผู้นำอาเซียน
นางพิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ ภริยานายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันคู่สมรสผู้นำอาเซียน ณ ห้องอาหาร ปาล์ม ซีฟู้ด พาวิลเลี่ยน ภายในโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากเสร็จภารกิจนำคู่สมรสเยี่ยมชมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทั้งนี้รายการอาหารที่นำมาเลี้ยงรับรองเป็นอาหารไทย อาทิ กระทงทอง ทอดมันกุ้ง แกงเขียวหวานไก่ ห่อหมกทะเล ผัดผักสี่สหาย ปีกไก่ยัดไส้ ส่วนอาหารเป็นข้าวเหนียวมะม่วงและขนมไทย อย่างไรก็ตามภายหลังรับประทานอาหารนางพิมพ์เพ็ญ จะมอบตุ๊กตา “พลอยไหม” ให้เป็นที่ระลึกแก่คู่สมรสด้วย
กรีนพีซแสดงละครล้อเลียนผู้นำอาเซียน
เมื่อเวลา 08.30 น.ที่บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน กลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดยนายบุสตาร์ ไมทาร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย นำกลุ่มสมาชิกกลุ่มกรีนพีซมาแสดงละครล้อเลียน ด้วยการสวมใส่หน้ากากผู้นำอาเซียน และแต่งชุดเป็นลิงอุรังอุตัง มาแสดงความยินดีต่อผู้นำอาเซียน และมีข้อตกลงร่วมกันในการปกป้องป่าไม้ เพื่อยุติภาวะโลกร้อน หันมาสนใจปัญหาการทำลายป่า และยอมรับข้อเสนอให้ยุติการตัดไม้ทำลายป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ภายในปี 2563
ทั้งนี้เพราะจากการที่ได้รณรงค์ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพื้นที่ป่าประมาณ ร้อยละ 16 ของพื้นที่ป่าเขตร้อนทั่วโลก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการทำลายป่าสูงถึง 31 , 000 ตารางกิโลเมตร อันนำไปสู่ปัญหาปรากฎการณ์เรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงขอเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนร่วมกันผลักดันนานาชาติ ให้สนใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานระหว่างที่กลุ่มกรีนพีซกำลังจัดกิจกรรมอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาขอร้องให้หยุด เนื่องจากผู้นำประเทศอาเซียนกำลังจะเดินทางมาที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน เพื่อร่วมประชุม ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย
ม็อบชมรมคนชั้นกลางค้านรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นประธาน
เมื่อเวลา 9.00 น. กลุ่มคนที่เรียกตัวเอง “กลุ่มชนรมคนชั้นกลาง” จ.ประจวบคีรีจันธ์ กว่า 10 คน ส่วนใหญ่เป็นไกด์ และทัวร์ท่องเที่ยว นำโดยนายปัณทัศน์ พงศ์ประภานัน เลขาธิการกลุ่มฯ ได้เดินทางมาชุมนุมในบริเวณหน้าศูนย์ศูนย์ข่าว โรงแรมเชอรตัน ฯ โดยได้มีชูป้ายภาษาอังกฤษและภาษาจีนมีข้อความว่า รัฐบาลทรราช อำนาจเผด็จการขอให้ออกไป รวมทั้งได้แจกแถลงการณ์ภาษาอังกฤษให้กับสื่อมวลชนไทยและเทศ มีเนื้อหาหลักว่า เรียกร้องให้ประเทศอาเซียนได้รับทราบว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มาจากอำนาจไม่ชอบธรรม และขอคัดค้านรัฐบาลประชาธิปัตย์ในการทำหน้าประธานอาเซียน
นายปัณทัศน์ กล่าวว่า ขอใช้สิทธิ์ของประชาชนปฏิเสธรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการทำหน้าที่ประธานอาเซียน โดยยืนยันว่า เราไม่ต้องการสกัดกั้นหรือห้ามการประชุม แต่ข้อตกลงใด ๆ ที่มีขึ้นจากการประชุม จะขอไม่รับรู้ และจะไม่ขอยอมรับทั้งสิ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การมาคัดค้านครั้งนี้มีเจตนารมณ์เดียวกับกลุ่มเสื้อแดงหรือไม่ นายปัณทัศน์กล่าว โดยปฏิสธไม่ใช่กลุ่มเดียวกับคนเสื้อแดง และกล่าวแบบมีอารมณ์กับสื่อมวลชนว่า เราอาจจะมีเจตนารมณ์เหมือนกัน คือเราไม่เอารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หากต้องการพิสูจน์อีกครั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก แล้วคืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่
เสนอตั้งบริษัทร่วมทุนอาเซียนเพิ่มอำนาจการแข่งขัน
นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน กล่าวเสนอต่อผู้นำอาเซียนให้ช่วยอำนวยความสะดวกต่อภาคเอกชนในกลุ่มอาเซียน ทั้งด้านการขนส่ง ศุลกากร การสร้างแบรนด์ให้สินค้าอาเซียน ให้น่าเชื่อถือเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับประเทศอื่น โดยเฉพาะในภาวะที่สินค้าจีนกำลังประสบปัญหาด้อยคุณภาพ
ขณะเดียวกันยังเสนอประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้มีกองทุนอาเซียนให้บริษัทในกลุ่มอาเซียนกู้ยืม และตั้งบริษัทร่วมทุนของอาเซียน โดยรัฐบาลอาเซียนถือหุ้นร้อยละ 60 ภาคเอกชนร้อยละ 40 เพื่อพัฒนาสินค้าเอสเอ็มอี และ สินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์ม กาแฟ น้ำตาล สับปะรด ให้เป็นตลาดเดียวซึ่งจะสามารถกำหนดราคาสินค้าได้ โดยเชื่อว่าแนวคิดบริษัทร่วมทุนอาเซียนจะทำให้ประชาชนในอาเซียน ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง