ก.คลัง 27 ก.พ. - นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง
ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งยังไม่มีการปรับเป้าหมายใหม่แต่อย่างใด โดยยังคงคาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการเดิม 100,000 ล้านบาท จากที่คาดไว้ว่าจะมีรายได้ 1.585 ล้านล้านบาท เนื่องจากแม้รายได้ในรอบ 4 เดือน จะลดลงค่อนข้างมาก แต่หากไปดูรายละเอียดของแต่ละกรมแล้วพบว่าปัญหาหลักเกิดจากภาษีน้ำมัน โดยเฉพาะกรณีการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรัฐบาลที่แล้ว แต่ขณะนี้ได้มีการจัดเก็บเพิ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ภาษีสรรพสามิตหลังจากนี้คงจะมีการจัดเก็บที่ดีขึ้น
ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2552 ภาษีมูลค่าเพิ่มที่แม้ลดลงกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 17 และลดลงร้อยละ 2-3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2551
โดยพบว่าภาษีที่ลดลงนั้นเป็นในส่วนของสินค้านำเข้าที่ลดลง โดยมาจากน้ำมันมากที่สุด เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลงสูงมาก อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนับจากนี้เป็นเรื่องท้าทายมากและคงต้องมีการพิจารณาให้ถี่ถ้วน ส่วนภาษีศุลกากร แม้จะลดลงบ้างแต่ก็ไม่มาก นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาดูว่าในส่วนของทรัพย์สินภาครัฐ ไม่ว่าที่ดิน หุ้นต่าง ๆ จะทำอย่างไรให้ภาครัฐได้ประโยชน์สูงสุด
นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า จากที่เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการอ่อนค่าในรอบ 2 ปี จะเป็นผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทยที่จะสามารถแข่งขันได้มากขึ้น
แต่ที่ห่วง คือ มูลค่านำเข้าลดลงมากกว่าการลดลงของมูลค่าส่งออก อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลกเริ่มนิ่งจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลก คาดว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4 คงจะมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นและคงจะส่งผลทำให้การส่งออกเริ่มดีขึ้นด้วย ส่วนภาษีรถยนต์จะมีการปรับลดเพื่อช่วยรายอุตสาหกรรมหรือไม่นั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทางภาครัฐพร้อมจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาทุกอุตสาหกรรม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมและความยั่งยืน แต่จะเป็นอุตสาหกรรมใดบ้างยังไม่ขอเปิดเผย โดยในส่วนนี้จะอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 และ 3 ที่กำลังจะทยอยออกมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ภายใน 1 เดือนนี้กรอบการใช้เงินที่จะเกิดจากการกู้เงินต่างประเทศ 70,000 ล้านบาท
ที่จะกู้จากธนาคารโลก ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ก็คงจะดำเนินการเสร็จสิ้น โดยให้หน่วยงานที่จะใช้เงินส่วนนี้ดูให้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นการลงทุนที่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และจะต้องมีส่วนของการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับเงินสกุลที่กู้มา โดยส่วนตัวยอมรับว่าเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจที่ลดลงต่ำกว่าคาดการณ์เดิม โดยเป็นห่วงเรื่องการเลิกจ้างงานมากที่สุด เพราะจะกระทบต่อประชาชน สังคม และโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเตรียมไว้ทั้งการขาดดุลงบประมาณปี 2553 จำนวน 390,000 ล้านบาท และการใช้งบกลางปี 2552 กระตุ้นเศรษฐกิจ 117,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าในส่วนนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาผลกระทบได้ระดับหนึ่ง โดยในส่วนงบกลางปีนั้น จากการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ ( 26 ก.พ.) ได้เน้นดูแลการรักษาระดับการจ้างงานให้มากที่สุด โดยจะใช้งบประมาณเข้าไปช่วยเน้นในเรื่องการจ้างงานโดยตรงกับภาครัฐ การฝึกอบรม และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผู้ประกอบการ
“สิ่งที่ห่วงที่สุดไม่ใช่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อัตราดอกเบี้ย แต่เป็นห่วงมากที่สุดคือ การจ้างงานที่จะกระทบต่อสังคม ซึ่งขณะนี้ได้ระดมแผนทุกอย่างเพื่อที่จะรองรับปัญหาการว่างงาน” นายกรณ์ กล่าว. - สำนักข่าวไทย