นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) ว่า
ประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้คือ การขยายความร่วมมือทางด้านการเงินเพื่อรองรับกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยมี 3 ส่วนที่เป็นประเด็นความร่วมมือ ที่สำคัญคือ
1. การร่วมมือเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพราะในปัจจุบันสภาพปัญหาทางการเงินไม่เหมือน 10 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมีระบบรองรับที่ดีพอ
2. การต่อยอดความร่วมมือในมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ให้เป็นความร่วมมือระดับพหุภาคี และมีการขยายวงเงินสำรองเพื่อรองรับความช่วยเหลือระหว่างกันซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและหลายฝ่ายก็คาดหวังกับประเด็นนี้ และ
3. การดูลู่ทางเพิ่มความร่วมมือในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาเศรษฐกิจโลกมีความไม่สมดุลเห็นได้ว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ได้สะสมเงินทุนสำรองไว้จำนวนมาก แต่เงินกลับไม่ได้นำมาใช้ในการพัฒนาและหนุนการลงทุนในภูมิภาคของตัวเอง ดังนั้น ควรมีความร่วมมือในเรื่องนี้กันมากขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องปัญหาการกีดกันทางการค้านั้นได้พูดมาตลอดแต่อาจจะไม่ใช่เวทีรัฐมนตรีคลังอาเซียน
แต่เป็นเรื่องที่ผู้นำและรัฐมนตรีด้านการค้าที่จะนำมาหารือมากกว่า อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังคือไม่ปล่อยให้ประเทศพยายามใช้ มาตรการกีดกันทางการค้า โดยหวังว่าเศรษฐกิจของตัวเองรอดด้วยวิธีนี้ เพราะถ้าเริ่มทำอย่างนี้ก็ไม่มีใครได้ ทุกคนเสียหมด เศรษฐกิจก็จะยิ่งทรุดหนัก ซึ่งเรื่องนี้ จะมีการนำไปพูดในที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 20 ประเทศ หรือจี 20
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติมใน 2 ประเด็นคือ
1. การเรียกเงินทุนกลับประเทศ อาจไม่ได้เรียกว่าการกีดกันทางการค้า แต่ถือว่าเป็นเรื่องรุนแรงสำหรับประเทศที่ถูกเรียกเงินทุนกลับ และ
2. เรื่องของค่าเงิน ซึ่งบางประเทศก็ไม่ได้มีเจตนาจะใช้เรื่องนี้ แต่ทุกประเทศได้ใช้มาตรการทางการเงินและการคลังเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่จังหวะเวลาอาจไม่พร้อมกัน เช่น ประเทศใช้เงินทุ่มลงไปก่อน บางประเทศใช้เรื่องอัตราดอกเบี้ย ส่งให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนก็เป็นจุดที่ต้องคอยเฝ้าเพื่อประสานกันให้มากขึ้น
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า
จุดยืนของกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 3 ในการประชุมครั้งนี้ คือการต่อต้านนโยบายการกีดกันทางการค้า แต่สำหรับประเทศที่มีมาตรการอยู่แล้วก็ให้อยู่ในจุดเดิมต่อไป โดยจะไม่มีการเพิ่มเติมนโยบายอื่นเข้ามาอีก
นายฌอง ปิแอร์ เอเวอร์บีส ผู้อำนวยการ สำนักผู้แทนประจำประเทศไทยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า
ระหว่างการประชุมกลุ่มรัฐมนตรีคลังอาเซียนบวก 3 สมัยพิเศษ ทางเอดีบีได้เสนอขอให้ประเทศสมาชิกของเอดีบี เพิ่มทุนให้กับเอดีบี เพื่อเป็นวงเงินในการปล่อยกู้ให้กับประเทศสมาชิกหลังจากที่ขณะนี้ประเทศสมาชิกได้ขอความช่วยเหลือด้านเงินกู้มาจำนวนมากจากเฉลี่ยปีละ 6,000-7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีหน้า ที่ประชุมก็เห็นชอบกับแผนการเพิ่มทุนนี้.n“อภิสิทธิ์”ย้ำชัดไทยไม่กีดกันทางการค้า