จี้ฟรีทีวีถ่ายสดม็อบกู้ชาติ 5 มี.ค.เท่าเวทีนายกฯ
นายกนักข่าววิทยุ-ทีวีระบุฟรีทีวีต้องถ่ายทอดสดม็อบกู้ชาติ 5 มี.ค. ให้เท่ากับ"ทักษิณ" ปราศรัย"มีเดีย มอนิเตอร์" เผยฟรีทีวีเสนอข่าวเหตุการณ์การเมืองมากขึ้น แต่ยังขาดความเป็นธรรม ระบุสื่อต้องพร้อมรับการตรวจสอบ เตือนผู้สื่อข่าวทีวีระวังคำพูดและท่าที ขณะนายกนักข่าววิทยุ-ทีวีระบุ 3 มี.ค.ฟรีทีวีถ่ายสด "ทักษิณ" ขึ้นเวที ก็ควรถ่ายสดเวทีกู้ชาติ 5 มี.ค.ด้วย
สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ สื่อมวลชนนับเป็นหนึ่งปัจจัยที่อาจจะทั้งส่งเสริมและยั่วยุ เนื่องจากการนำเสนอข่าวอาจมองว่าไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดเหตุเหมือนผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ถูกม็อบขบวนการก่อชาติแสดงความไม่พอใจว่าเสนอข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งโชคดีที่เหตุการณ์ไม่รุนแรง แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่สื่อต้องระมัดระวังในการนำเสนอข่าวมากขึ้น
กรณีดังกล่าว เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 มีนาคม ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดีย มอนิเตอร์) แถลงผลการศึกษารอบที่ 4 เรื่อง "การรายงานข่าว เหตุการณ์การเมืองของสื่อโทรทัศน์ในวันที่ 4, 11 และ 26 ก.พ." เพื่อศึกษาภาพต่อเนื่องการนำเสนอข่าวของสื่อโทรทัศน์ต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน 4 ประเด็น คือ สัดส่วนการนำเสนอ ความเป็นกลาง ความสมดุล และความเป็นธรรม โดยพิจารณาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวว่า ผลการศึกษาและวิเคราะห์รายการข่าวที่ออกอากาศช่วงเวลา 16.00-22.00 น. ในวันที่ 4 วันที่ 11 และวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของสถานีโทรทัศน์ช่องฟรีทีวี คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไอทีวี โดยเลือกจากข่าวภาคค่ำ ข่าวต้นชั่วโมง ข่าวด่วน และรายการวิเคราะห์ข่าว หรือรายการถ่ายทอดสด รายการแม็กกาซีนข่าว และรายการวาไรตี้ข่าว โดยศึกษาจากเนื้อข่าวที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายไม่สนับสนุน รวมทั้งฝ่ายไม่สนับสนุนฝ่ายใด พบว่าทั้ง 3 วันช่องที่มีการเสนอรายงานข่าวเหตุการณ์การเมืองมากที่สุดคือ ไอทีวี ขณะที่ช่อง 3 และช่อง 5 รายงานข่าวเหตุการณ์ทางการเมืองน้อยที่สุด
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ ผศ.ดร.เอื้อจิต แสดงความพึงพอใจ คือ ความสมดุลและความเป็นกลาง เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องรายงานข่าวด้วยความสมดุลและเป็นกลาง คือนำเสนอเนื้อหาทั้งสองด้าน และบางช่องก็นำเสนอฝ่ายที่สามด้วย ไม่มีการสอดแทรกความคิดเห็นของผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าวเข้าไปในการรายงานข่าว ยกเว้นสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ที่นำเสนอเหตุการณ์การเมืองวันที่ 4 กุมภาพันธ์เพียง 2 นาที จึงไม่สามารถพิจารณาได้
นอกจากความเป็นกลางแล้ว ประเด็นเรื่องความเป็นธรรม โดยวิเคราะห์ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ทั้งภาพ เสียง และเนื้อหา พบว่าสถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องให้พื้นที่กับแหล่งข่าวกลุ่มไม่สนับสนุนนายกฯ มากขึ้นทั้ง 3 ส่วน หลังจากเมื่อวันที่ 4 และ 11 กุมภาพันธ์ ให้พื้นที่กลุ่มสนับสนุนนายกฯ มากกว่า ขณะที่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ กลับให้พื้นที่ข่าวแก่กลุ่มไม่สนับสนุนนายกฯ มากขึ้น
"เมื่อพิจารณาโดยละเอียดตามวันที่ศึกษา พบว่า การรายงานข่าวในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ทุกช่องขาดความเป็นธรรมในการนำเสนอภาพและเสียง ยกเว้นช่อง 7 ที่มีความเป็นธรรมสองด้าน ส่วนช่องไอทีวีมีความเป็นธรรมเฉพาะการนำเสนอภาพ ขณะที่ด้านเนื้อหามีเพียงช่อง 9 และช่อง 11 เท่านั้นที่มีความเป็นธรรม" ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว
ผอ.มีเดีย มอนิเตอร์ กล่าวด้วยว่า การรายงานข่าวในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พบว่าทุกช่องขาดความเป็นธรรมเรื่องการให้พื้นที่ด้านภาพและเสียง ยกเว้นช่อง 5 และช่อง 9 ที่มีความเป็นธรรมด้านภาพและเนื้อหา ส่วนด้านเสียงของแหล่งข่าวทุกช่องขาดความเป็นธรรม คือ ให้เสียงของฝ่ายสนับสนุนนายกฯ มากกว่าฝ่ายที่ไม่สนับสนุนนายกฯ ถึง 4 เท่า ต่างจากวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ภาพและเนื้อหาทุกช่องมีความเป็นธรรม ยกเว้นช่อง 7 ขณะที่การนำเสนอด้านเสียง มีเพียงช่อง 11 เท่านั้นที่มีความเป็นธรรม
"จากภาพรวมการศึกษา พบว่า ทุกช่องมีการนำเสนอข่าวเหตุการณ์การเมืองอย่างสมดุลและเป็นกลาง ขณะที่ประเด็นความเป็นธรรม ซึ่งวิเคราะห์ทั้งด้านปริมาณ คือ การให้พื้นที่ข่าวแก่แหล่งข่าวฝ่ายต่างๆ และด้านคุณภาพคือความลึกของข่าว พบว่าไม่มีความสม่ำเสมอเรื่องการให้น้ำหนักแก่แหล่งข่าวฝ่ายต่างๆ ให้น้ำหนักด้านภาพ เสียงและเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปมาและแตกต่างกันในแต่ละช่องตามสถานการณ์การเมืองแต่ละวัน ซึ่งหากบทบาทของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเคลื่อนไหวสำคัญทางการเมือง ก็จะได้รับพื้นที่ข่าวมากกว่า เป็นผลให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรายงานข่าว" ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล กรรมการวิชาการโครงการ กล่าวว่า กองบรรณาธิการควรนำบทเรียนจาก 3 เหตุการณ์มาศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการชุมนุมวันที่ 5 มีนาคม โดยข้อมูลที่สื่อมวลชนนำเสนอควรจะมีความรอบด้าน มีการให้ภูมิหลัง เช่น กลุ่มที่เรียกร้อง เรียกร้องอะไรบ้าง มีการขยายไปสู่ประเด็นอื่นๆ อย่างไร และนำเสนอในมุมมองเชิงวิเคราะห์มากขึ้น เช่น จากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ เช่น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ทีวีบางช่องได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาวิเคราะห์สถานการณ์ รวมทั้งควรมีการนำเสนอแหล่งข่าวหลากหลาย ขณะที่การใช้ภาษา ท่าที และน้ำเสียงของนักข่าว ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดการยั่วยุทางอารมณ์ รวมไปถึงตัวเลขของผู้ชุมนุมที่ควรนำเสนออ้างอิงจากข้อมูล
"สิ่งที่สำคัญคือ อยากเห็นสื่อให้น้ำหนักและเน้นย้ำการเรียกร้องสันติวิธีและแนวทางการปฏิรูปการเมือง ให้ใช้หลักของการรายงานข่าวเพื่อสาธารณะหรือประชาสังคมให้มาก โดยเฉพาะเหตุการณ์การเมืองขณะนี้ ยึดถือประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง" ดร.วิลาสินี กล่าว และว่า
นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว องค์กรสื่อต้องดูแลนักข่าวให้มาก ให้นักข่าวได้พักผ่อน ไม่เครียด มีความพร้อมทั้งข้อมูล สุขภาพกายและใจ และขอให้สื่อมวลชนสร้างความยอมรับในวัฒนธรรมการตรวจสอบตนเองให้ควบคู่ไปกับการเสนอข่าวของสื่อมวลชนด้วย
ด้านนายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า จะนำผลการศึกษานี้ส่งให้บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ทุกช่องทราบ เนื่องจากการนำเสนอข่าวและการให้พื้นที่ข่าวแต่ละช่องขึ้นอยู่กับบรรณาธิการข่าว
"ผมหวังว่าการนำเสนอข่าวจะมีความเป็นธรรมและสมดุลรอบด้าน เนื่องจากขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่ช่วงวิกฤติ และอาจนำไปสู่สิ่งที่ไม่คาดคิด ดังนั้น การเสนอข่าวของสื่อมวลชน โดยเฉพาะข่าวโทรทัศน์จึงมีผลต่อความคิดและการตัดสินใจของประชาชน จะเห็นได้จาการนำเสนอข่าวการปราศรัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เมื่อค่ำวันที่ 3 มีนาคม สถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องให้ความสำคัญและถ่ายทอดสดมาก จึงหวังว่าในการชุมนุมของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยวันพรุ่งนี้ (5 มี.ค.) สื่อทุกช่องจะให้ความสมดุล และนำเสนอข่าวอย่างเท่าเทียม เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือแตกแยกขึ้น" นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวอีกว่า เรามีนักข่าวมืออาชีพในหลายเหตุการณ์ เช่น สึนามิ ที่มีการรายงานข่าวอย่างละเอียด ขณะที่เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เรากลับขาดความกล้าหาญไป
ส่วนนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ระบุว่า การนำเสนอข่าวมีข้อจำกัดทางเทคนิคและความเร่งรีบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการรายงานข่าว ไม่ว่าจะเป็นความเป็นธรรม ความเป็นกลาง หรือความสมดุล แต่สถาบันยังติดตามพัฒนาเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชนอยู่