แม้ตอนนี้ ข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่างชัด ว่ากรณีนมโรงเรียนที่ชุมพรตามที่มีการร้องเรียน
เป็นหางนม หรือนมโคสดแท้กันแน่?
แต่ความรู้สึกของผู้คนในสังคม อยากจะเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะมีมูลความจริง
เพราะมันเป็นยุคที่อะไรเป็นเงินเป็นทอง ก็เข้าไปมีผลประโยชน์
คล้ายกรณีคำสั่งห้ามพืชผักสวนครัวพื้นบ้าน 13 ชนิด
ก็น่าสงสัยจะมีผลประโยชน์อะไรสักอย่าง ซ่อนอยู่เบื้องหลัง
กรณีนมโรงเรียน ยังชวนให้นึกถึงปลากระป๋องเน่า ที่ข่าวเพิ่งซาไป
เป็นการหากินกับของกิน ที่จัดหาโดยรัฐ
ที่แปลกก็คือ เรื่องไปแดงที่ภาคใต้คล้ายๆกัน
อย่างไรก็ดี กรณีของนม รัฐบาลไม่ออกอาการอึดอัดเหมือนตอนปลากระป๋อง
เพราะการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น แน่ชัดว่าการขีดวงจัดซื้อเฉพาะ 68 บริษัท
เป็นการดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว
และการฮั้วหรือทุจริต (หากจะมี) ก็เป็นในระดับผู้ปฏิบัติ
การพิสูจน์ทราบเรื่องนี้ ดูแล้วไม่ใช่เรื่องยาก
หากมีการเก็บตัวอย่างนมที่ถูกร้องเรียนได้ทันท่วงที ส่งให้แล็บตรวจสอบหาส่วนประกอบ
นมสดก็ต้องเป็นนมสดวันยังค่ำ
หางนมก็ต้องเป็นหางนมวันยังค่ำเช่นกัน
ไม่ต้องมาพูดแต่เรื่องพยานแวดล้อม หรือความรู้สึกของนักเรียนคนกิน ซึ่งตอบโต้กันได้ไม่รู้จบ
จากนี้จึงต้องรอดูผลพิสูจน์แยกธาตุนมกันต่อไป
หากเป็นหางนมจริง ก็อาจต้องทบทวนวิธีการจัดซื้อนมโรงเรียนกันใหม่
หรือเพิ่มความเข้มข้นให้ระบบการตรวจสอบ
สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้จัดหานมโรงเรียนทั้งหลาย
ก็คือ ไม่ใช่ทุกบริษัท หรือทุกอบต. จะตั้งหน้าตั้งตาโกงนมโรงเรียน
การร้องเรียนยังขีดวงอยู่ที่พื้นที่อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร
นัวเนียอยู่กับอบต.ที่นั่น โรงงานนมที่นั่น เท่านั้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลอาจถือโอกาสนี้ ระดมตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนทั่วประเทศไปพร้อมกันเลย
ใครกระทำผิด ก็ดำเนินคดีให้เป็นตัวอย่าง
กรุณานึกถึงความรู้สึกของนักเรียนที่ดื่มนมปลอมปน
คงขมขื่นไม่แพ้ผู้ประสบอุทกภัย
ที่เปิดปลากระป๋องมา แล้วเจอปลาเน่า
ทั้งที่เป็น"ของกิน" ที่จัดหามาโดยรัฐแท้ๆ