ปชป.ซัด"กม.ปรองดอง"เป็นแผนเพื่อไทยล่อเหยื่อให้พรรคร่วมฮุบ หวังตอกลิ่มให้รัฐบาลแตก พันธมิตรประกาศพร้อมเคลื่อนไหวต้านทุกเวลา โฆษกกลาโหมซัดแค่ไว้บังหน้าหวังช่วยพวกตัวเอง นายกฯยันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องด่วน เอาไว้ทีหลัง ต้องเร่งแก้ปัญหาชาวบ้านก่อน เตือนบ้านเมืองจะกลับไปวุ่นวายอีก
"เทพไท"ชี้เพื่อไทยอ่อยพรรคร่วม
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง ร่าง.พ.รบ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอเข้าสู่สภา ว่าเป็นการอ่อยเหยื่อให้พรรคร่วมเข้าไปฮุบ เท่าที่เห็นในพรรคภูมิไทยก็มีเพียงนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนเดียวเท่านั้นที่เห็นด้วย คิดว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกภายในรัฐบาล เพราะการผลักดันเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยพลังของสังคมด้วย และสังคมก็มีบทเรียนจาการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 มาแล้วว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่าทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ควรสอบถามความเห็นประชาชนด้วยการทำประชามติดีหรือไม่ นายเทพไท กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯเสนอให้ใช้กระบวนการปฏิรูปการเมืองโดยคนกลาง ซึ่งจะดีกว่าการทำประชามติที่สิ้นเปลืองงบประมาณ
ปธ.ส.ส.ปชป.เชื่อไม่ตอกลิ่มรัฐบาล
นายชุมพล กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ในฐานะประธานส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ในการประชุมส.ส.พรรควันที่ 16 กุมภาพันธ์จะหยิบยกกรณีที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอร่างกฎหมายความปรองดองแห่งชาติ มาหารือในด้วยว่าท่าทีของพรรคควรเป็นอย่างไร จากการคุยกันภายในส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะสร้างความเสียหายต่อระบบศาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำพรรคร่วมหลายคนแสดงความเห็นด้วย นายชุมพล กล่าวว่า ท่าทีของแต่ละพรรคยังไม่ชัดเจนนัก แต่เชื่อว่าจะไม่ใช่การตอกลิ่มให้เกินรอยร้าวในรัฐบาล เมื่อถามว่า แล้วจะกล่อมแกนนำพรรคร่วมอย่างไร อย่างนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาก็เห็นด้วย นายชุมพล กล่าวว่า เห็นใจนายสุวัจน์ แต่ถ้าเสนอร่างกฎหมายในช่วงนี้จะทำให้ประชาชนสับสน พรรคร่วมน่าจะยึดข้อตกลงตอนเปลี่ยนขั้ว ที่ทุกฝ่ายตกลงว่าจะใช้กระบวนการปฏิรูปการเมืองตามที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ ไม่ได้คุยเรื่องการนิรโทษกรรมหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย
"ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ จะไปทำตามความต้องการของนักการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฟังสังคมด้วย ซึ่งการทำประชาพิจารณ์เป็นวิธีที่ดิที่สุด ที่จะดูว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไร" นายชุมพลกล่าว
พท.ให้ปชป.หนุนกม.ปรองดอง
ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ส.ส.สามารถเสนอร่างพ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้มติพรรค และในการประชุมส.ส.วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ที่ประชุมจะนำเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ
"วันนี้สังคมแตกแยกเหมือนนักเรียน 2 สถาบันทะเลาะกัน แต่นายกรัฐมนตรีได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาความแตกแยกในสังคมได้ จึงขอให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธปัตย์ทบทวนแล้วให้สนับสนุนกฎหมายดังกล่าว เพราะเท่าที่ทราบส.ส.ส่วนใหญ่ทั้งฝ่ายค้านและส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วย" นายพร้อมพงศ์กล่าว
รองปธ.สภาเชื่อกม.คลอดยาก
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาสื่อมวลชนในหัวข้อ "บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง" โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ร่วมเสวนา
นายสามารถกล่าวตอนหนึ่งว่า กรณีมีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นั้น ทางส.ส.พรรคเพื่อไทยยังไม่เห็น อาจเป็นไปได้ว่ามีคนคิดริเริ่มทำทำให้ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอ โดยที่ 16 กุมภาพันธ์นี้จะมีการประชุมพรรคเพื่อถกประเด็นนี้ด้วย
"ผมว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้ คงไม่สามารถพิจารณาได้ เพราะวิปรัฐบาลคงไม่หยิบขึ้นมา กฎหมายคงเกิดยาก แม้ฝ่ายค้านจะเสนอเข้าสภาตามสิทธิก็ตาม อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งด้วย เพราะขณะนี้ 5 แกนนำพันธมิตรฯเริ่มคิดทบทวนบทบาทอีกแล้ว หากเราไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองก่อนความขัดแย้งก็ยังซ้ำซากอยู่ ดังนั้นวันนี้สังคมไทยจึงต้องใช้เมตตาธรรมและให้อภัยกัน" นายสามารถกล่าวและว่า ขณะนี้ต้องมีคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับนับถือลงมาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ถอยกันบ้าง และใช้เมตตาธรรมไม่เช่นนั้นความสมานฉันท์ก็คงเกิดได้ยาก หากผสมเสื้อสองสีนี้ไม่ได้บ้านเมืองก็ลำบาก
"อภิวันท์"ให้หา กก.สมานฉันท์
พ.อ.อภิวันท์กล่าวว่า บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งเพราะการรับรู้ข่าวสารไม่เท่าเทียมกัน แล้วพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง เช่น กลุ่มพันธมิตร ดูเอเอสทีวี กลุ่มเสื้อแดง ดูดีสเตชั่น ทำให้สองกลุ่มเกิดความขัดแย้งโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน สังคมไทยเสพข่าวโดยไม่ดูข้อเท็จจริง มีการกล่าวหากันไร้เหตุผลโครงสร้างทางสังคม กฎกติกามารยาททำให้เกิดความขัดแย้ง การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม
นายอภิวันท์กล่าวว่า หลักการสร้างความสมานฉันท์นั้นต้องรู้ว่าข้อเท็จจริงจากปัญหา และแก้ปัญหาไปตามข้อเท็จจริง และใช้หลักความยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายต้องไม่สองมาตรฐาน และต้องมีความเมตตา รัฐธรรมนูญต้องมีความพอดี เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งสร้างความแตกแยกในบ้านเมือง เขียนกฎหมายอคติต่อนักการเมือง มุ่งสร้างให้รัฐบาลอ่อนแอ รัฐธรรมนูญปี 2540 ระบอบอำมาตยาธิปไตยไม่สามารถก้าวก่ายได้จึงต้องทำให้รัฐบาลอ่อนแอ
ไหากไม่เร่งแก้อาจเกิดสงครามประชาชนใน 76 จังหวัดได้ ดังนั้น ต้องรีบหากรรมการโดยเร็ว ส่วนกรรมการจะมาจากที่ใดต้องคิดกันเพื่อให้เกิดเมตตาธรรมให้ชาติบ้านเมืองเดินไปได้" พ.อ.อภิวันท์กล่าว
เด็กเนวินบอก"ชวรัตน์"ห่วงลูกชาย
แหล่งข่าวจากกลุ่มเพื่อนเนวินกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เนื่องใน พ.ร.บ.ไม่ได้นิรโทษกรรมเฉพาะกรรมการบริหารพรรค ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองทั้ง 111 คน และ 109 คน แต่ยังรวมไปถึงการนิรโทษกรรมทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาด้วย ดังนั้น กฎหมายดังกล่าวครอบคุมเกินไป อาจจะเกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้ เช่น กรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บุกยึดสนามบิน หากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายหรือดำเนินการไปแล้ว แต่ได้รับการนิรโทษกรรมให้พ้นโทษก็จะเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะต่อไปหากใครบุกยึดสนามบินก็สามารถทำได้โดยง่ายเพราะไม่มีความผิด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว เพราะตัวนายชวรัตน์เองก็มีลูกชาย(นายอนุทิน ชาญวีรกูล)ที่ติดอยู่ในบ้านเลขที่ 111 ด้วย และต้องการให้มีการปลดล็อคให้คนกลุ่มนี้ออกมาทำงาน อย่างไรก็ตามหากจะมีการนิรโทษกรรมจะต้องมีการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ และไม่ใช่ฉบับนี้แน่นอน
โฆษกกห.ชี้กม.ปรองดองไร้ผล
พ.อ.จิตตสักก์ เจริญสมบัติ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ น่าจะไม่ได้ผล เพราะช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กองทัพ หรือส่วนอื่นก็ตาม พยายามจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่ได้ผล ความแตกแยกของคนในชาติยังมีอยู่ แล้วอยู่ๆ จะมีการเสนอ พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาโดยนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ต้องคดีทางการเมือง แล้วนำเรื่องการสร้างความปรองดองของคนในชาติมาเป็นข้ออ้าง มันใช้ไม่ได้ผล
"การนิรโทษกรรมให้นักการเมืองที่มีความผิดและโดนตัดสินคดีไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ จะทำให้ทุกอย่างไม่จบ และะมีปัญหาตามมาเรื่อยๆ เพราะเป็นเงื่อนไขที่ต่างคนต่างรับไม่ได้ คิดว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น" พ.อ.จิตตสักก์กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย อ้างว่าเป็นการสร้างความปรองดองของคนในชาติ และทุกฝ่ายจะได้รับผลประโยชน์ พ.อ.จิตตสักก์กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นประโยชน์ของคนบางกลุ่มมากกว่าของประเทศชาติ อยากให้ยุติบทบาทที่ดำเนินการอยู่นอกสภา แล้วปล่อยให้เป็นไปตามครรลอง ถ้าทุกฝ่ายต้องการให้เกิดความปรองดองของคนในชาติจริง ไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.บ.ฉบับใดมาทั้งสิ้น แต่ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหว รวมถึงพรรคเพื่อไทยเอง ที่เป็นตัวตั้งตัวตี ก็ทำตัวให้เป็นแบบอย่าง ไม่ใช่สมาชิกของพรรคยังอยู่เบื้องหลังและเป็นแกนนำประชาชนออกมาชุมนุม
อดีตเลขาคมช.เชื่อทำยุ่งเหยิงขึ้น
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และเลขานุการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวว่า เป็นแผนของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการตอกลิ่มให้เกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะว่ามีบุคคลสำคัญในพรรคร่วมรัฐบาลติดคดียุบพรรคอยู่ และบุคคลเหล่านั้นก็จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ กับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยก็จะทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลทันที และทำให้ขาดเสถียรภาพ เป็นเกมของพรรคเพื่อไทย
"พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากสังคม และขณะนี้กำลังสะท้อนออกมาแล้ว หากดูการปฏิบัติของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา จะเห็นว่าสมาชิกในพรรคยังอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มเสื้อแดง สังคมไม่อาจจะยอมรับได้ และการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติแทรกแซงอำนาจยุติธรรม บ้านเมืองจะเกิดความยุ่งเหยิง และมีความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น" พล.อ.สมเจตน์กล่าว
พธม.พร้อมเคลื่อนไหวต้าน
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า หลักการสมานฉันท์และปรองดองไม่ใช่ทำผิดแล้วยกเลิกหรือลืมกันไป แต่ตรงกันข้าม ต้องทำให้ใครก็ตามที่พิสูจน์แล้วว่ามีความผิดจริงต้องได้รับโทษ จึงจะเรียกว่าเป็นสังคมสมานฉันท์อย่างแท้จริง แนวคิดเรื่องความปรองดองสมานฉันท์เป็นแนวคิดที่ดีและสร้างสรรค์ แต่วิธีการที่พรรคเพื่อไทยเสนอคือการนิรโทษกรรมให้กับคนผิดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นเพียงการแอบอ้างความสมานฉันท์บังหน้า เพราะฉากหลังคือต้องการฟอกผิดให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และคนในระบอบทักษิณเท่านั้น
"การนิรโทษกรรมควรมาจากความเห็นของสังคมไม่ใช่มาจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นอกจากขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 คือหลักความเสมอภาคกันในกฎหมายแล้ว ยังเท่ากับเป็นการออกกฎหมายเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ จะนิรโทษกรรมความผิดของบุคคลที่เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญคงทำไม่ได้ เท่าที่สอบถามความเห็นของแกนนำพันธมิตรไม่มีใครเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมและพร้อมเคลื่อนไหวต่อต้านตลอดเวลา" นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใสกล่าวว่า ส่วนเรื่องกระบวนการปฏิรูปการเมืองนั้น โดยหลักการแล้วตนเห็นด้วย แต่ต้องดูกระบวนการ ดูรายละเอียดและสาระสำคัญอีกทีหนึ่ง
นักวิชาการชี้ทั่วโลกไม่ทำ
นายสมบัติ ธำรงธัญวงค์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องมีประเด็นชัดเจน ว่าเรื่องไหน อย่างไร เพราะแต่ละเรื่องจะไม่เหมือนกัน เช่น จะไปนิรโทษในคดีอาญา ที่มีการตัดสินไปแล้วให้พ้นโทษ จะทำได้หรือไม่ โดยปกติที่ทำกันมาในโลกนี้ มักจะนิรโทษบุคคลที่เห็นแตกต่างทางการเมือง เพราะเห็นว่าความเห็นต่างการเมือง ไม่ใช่เรื่องผิด เช่น ของไทยในอดีต ก็มีการนิรโทษกรรมให้กับคนที่เข้าป่า คนที่เห็นตรงข้ามกับรัฐ ในโลกใบนี้เท่าที่เห็น ยังไม่เคยมีการนิรโทษกรรม ให้กับคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีการตัดสินแล้ว
"ต้องเข้าใจว่านิรโทษกรรมกับอภัยโทษ มันไม่เหมือนกัน การอภัยโทษแม้จะไม่ถูกจองจำ แต่ยังมีมลทินติดตัวอยู่ แต่การนิรโทษกรรมถือว่าไม่มีมลทิน ไม่มีความผิดเกิดขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไร ถ้านิโทษกรรมให้กับคดีคอร์รัปชั่นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมีกฎหมายเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ต่อไปคนมาเป็นนักการเมือง ก็จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม มันจะเป็นการส่งเสริมให้คนในสังคมเหิมเกริม ไม่เกรงกลัวต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น" นายสมบัติกล่าว
"มาร์ค" บอกกม.นิรโทษไว้ทีหลัง
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอสภาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ว่า ตนมีความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน แต่ไม่ขอพูด และอยากขอทวนความจำว่าปีที่แล้วที่มันวุ่นวายกันมาก และทุกคนก็บ่นว่าไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอีก มาจากการเสนออะไรที่สังคมเกิดความระแวงคลางแคลงใจว่าเป็นการทำเพื่อใครหรือไม่ ตนจึงบอกว่า ให้นำมาอยู่ในกระบวนการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ ตนก็ได้ปรึกษากับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ว่าจะใช้แนวทางนี้ได้หรือไม่ ใครไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายหรือเรื่องอะไรต่างๆ เอาเข้ามาสู่กระบวนการนี้ ซึ่งถ้าฝ่ายค้านตอบรับมา เชื่อว่าเดินหน้าได้
"ขณะนี้เศรษฐกิจหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ถ้าบ้านเมืองขัดแย้งขึ้นมาอีก อะไรก็เดินต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเอางานใหญ่คือการช่วยเหลือประชาชนมาก่อน ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองต้องไว้ทีหลัง ผมไม่ปิดกั้น ไม่ปฏิเสธ แต่ขอให้เข้ามาอยู่ในกระบวนการที่มองเห็นว่า อันนี้ไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองทำเพื่อนักการเมือง" นายอภิสิทธิ์กล่าว
มั่นใจพรรคร่วมไม่แตกแถว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนที่ระบุว่า อาจหยิบร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าคุยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้นั้น จะคุยก็ต่อเมื่อพรรคร่วมติดใจ แต่ถ้าไม่ติดใจก็คงไม่คุย ส่วนที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอเข้าสู่สภาวันที่ 18 กุมภาพันธ์เชื่อว่าไม่น่าจะมีเหตุรุนแรง เพราะแม้ ส.ส.เสนอกฎหมายได้ แต่เสียงข้างมากอยู่กับรัฐบาล และตนก็เคยให้นโยบายไปแล้วว่ากฎหมายตามรัฐธรรมนูญน่าจะมาก่อน หรือกฎหมายไหนที่ ส.ส.เห็นแล้วเป็นประโยชน์ อย่างกฎหมายอายุความคดีที่เกิดจากการทุจริตที่จะไม่ให้มีอายุความ ถ้าอย่างนี้ก็เอาเลย ประชาชนจะได้มีกำลังใจ ว่าเราทำเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ต่อมา นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่า ถ้ามีการมองว่า ผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้นำเสนอ จะเกิดความขัดแย้งขึ้นมา นั่นคือบทเรียนเมื่อปีที่แล้ว วันนี้เราไม่อยู่ในฐานะที่จะให้เหตุการณ์แบบปีที่แล้วเกิดขึ้นอีก เราต้องช่วยกันที่จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินไปได้ และเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ
เมื่อถามว่า ยังมั่นใจในสายสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมตั้งรัฐบาลมาด้วยกันใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มั่นใจ เพราะตอนที่ไปทาบทามจัดตั้งรัฐบาล ก็ทำความเข้าใจตรงกัน ว่าภาระกิจที่สำคัญของรัฐบาลก็คือ ทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ แล้วต้องไม่ให้บ้านเมืองกลับไปอยู่ในสภาวะความขัดแย้งและความไร้ระเบียบ เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ หากมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภาแล้ว จะสามารถดูแลเสียงโหวตได้ นายอภิสิทธิกล่าวว่า คิดว่ายังอีกไกล
ยันไม่ใช่กฎหมายเร่งด่วน
เมื่อถามว่า คิดว่าพรรคร่วมจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับรัฐบาลในอนาคตหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ คิดว่าแต่ละพรรค ส.ส.แต่ละพรรคมีสิทธิในการเสนอกฎหมาย ส่วนการตัดสินใจเป็นของสภา แต่ในระบบรัฐสภา รัฐบาลมีเสียงข้างมาก และมีระบบของคณะกรรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)อยู่ ก็จะต้องดูแลว่าการทำงานในสภา มันสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาหรือไม่ ซึ่งก็คือเรื่องปฏิรูปการเมือง และไม่สร้างความขัดแย้งใดๆ
เมื่อถามว่า แสดงว่ามั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะไม่ทันเข้าพิจารณาในสมัยประชุมสภานี้ นายกฯกล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นกฎหมายเร่งด่วน ที่จะต้องพิจารณาในสมัยประชุมนี้ เมื่อถามอีกว่า สุดท้ายแล้ว จะนำมาสู่ความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ไปกังวลในเรื่องเหล่านี้
"ภาระหน้าที่ที่ผมต้องกังวลมากกว่าคือปัญหาของประชาชน ที่ห่วงมากที่สุดคือปัญหาว่างงาน และการประคับประคองเศรษฐกิจ ผมจะกังวลเรื่องเหล่านี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ คิดว่าไม่ควรต้องมากังวล รัฐบาลต้องสนใจปัญหาของคนทั้งประเทศหรือคนส่วนใหญ่ก่อน ตอนนี้อย่าไปคาดคะเนว่าจะเป็นอย่างไร ผมยังมั่นใจว่าในการทำงานร่วมกัน ยังอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ดี แล้วทุกคนน่าจะได้รับรู้ว่าเรื่องใดมีความสำคัญก่อนหลังอย่างไร" นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่านายกฯมั่นใจว่าทุกฝ่ายยังจำบทเรียนในอดีตได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ผมมั่นใจครับ ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครในรัฐบาล อยากจะเห็นบ้านเมืองย้อนกลับไปเป็นเหมือนปีที่แล้ว"
ปชป.ซัดกม.ปรองดองเป็นแผนฝ่ายค้าน ทำพรรคร่วมรบ.แตก โฆษกกห. อัดซ่อนเบื้องหลังหวังช่วยพรรคพวก
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ปชป.ซัดกม.ปรองดองเป็นแผนฝ่ายค้าน ทำพรรคร่วมรบ.แตก โฆษกกห. อัดซ่อนเบื้องหลังหวังช่วยพรรคพวก