มาร์คโยนครม.ชี้ขาดกม.นิรโทษ หลังพรรคร่วมเริ่มหันหนุน พท.เสนอกม.ต่อสภา เสี้ยมอีกปชป.ไม่ไว้ใจใคร


"มาร์ค" ส่งร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติเข้าถกในครม. เปรยไม่ค่อยเห็นด้วย อ้างปัญหาศก.-ว่างงานรอให้แก้อยู่ "ชวรัตน์" สนับสนุนแต่ขอมติพรรคก่อน เพื่อแผ่นดินเล็งนัดคีย์แมนพรรคร่วมถก บอกถึงเวลาแก้ความขัดแย้งคนในชาติ อดีตส.ส.รเตือนขัดรธน.ถ้าฝ่ายค้านดึงดัน พธม.กลับมาแน่

"นายกฯ"โยนถกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ครม.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมนำเรื่องพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีประเด็นร้อนกรณีการนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องคดีการเมืองด้วยนั้น ไปพูดคุยในคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้สัมภาษณ์ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเวลา 12.10 น. วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ต่อกรณีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ว่า ยังไม่ได้หารือกัน แต่ในช่วงที่มีการจัดตั้งรัฐบาลก็มีการคุยกันไว้ว่าขอให้อยู่ในกรอบปฏิรูปการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ถ้ามีการนิรโทษกรรมคนในพรรคภูมิใจไทยก็จะได้ประโยชน์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สถานการณ์ไม่มีอะไรเปลี่ยน เป็นปัญหาที่พูดกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุบพรรครอบแรกและรอบสอง แต่รัฐบาลไม่อยากเริ่มต้นอะไรที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ต้องใช้เวลาและกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับ ส่วนข้อยุติหรือข้อสรุปจะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการและการยอมรับของทุกฝ่ายที่คิดว่าจะเป็นการแก้ไขตรงจุด  

"เรื่องนี้ต้องขอเวลา หากติดใจก็คุยกันได้ ส่วนแนวคิดจะคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น เรื่องนี้ผมเปิดกว้างอยู่แล้ว ถ้าพรรคการเมืองต่างๆ มีข้อเสนออะไรก็จะให้เหตุผลว่าต้องอิงอยู่กับนโยบายของรัฐบาล นั่นคือ เรื่องปฏิรูปการเมือง"

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ หรือไม่นั้นไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างกฎหมายนี้เมื่อใด เรื่องนี้อาจจะคุยกับ ครม.ก็ได้ เพราะตามปกติการประชุม ครม.ก็จะมีการพูดคุยถึงวาระการประชุมสภาอยู่แล้ว

มาร์คอ้างดักทางไม่อยากสร้างปมวุ่นวาย

เมื่อถามว่าหากเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปการเมืองก็จะไม่ปฏิเสธใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องบอกว่ารูปแบบปฏิรูปการเมืองรัฐบาลจะไม่กำหนดรูปแบบเองว่าอะไรต้องทำหรืออะไรไม่ควรทำ จะต้องให้คนกลางเข้ามา ถ้าเป็นได้อย่างนี้คิดว่าความขัดแย้งในสังคมจะลดลง เนื่องจากความขัดแย้งเกิดขึ้นจากประเด็นที่มีการพูดกันทำนองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจหรือนักการเมือง ซึ่งปีที่ผ่านมาประเด็นนี้ก็เป็นปมขัดแย้งมาโดยตลอด ในภาวะที่เราต้องการแก้ปัญหาเรื่องสำคัญของคนส่วนใหญ่ คือ เรื่องเศรษฐกิจและการว่างงาน ไม่ต้องการให้สังคมย้อนกลับไปจุดนั้น ทั้งนี้ได้พยายามกับพรรคเพื่อไทยในเรื่องการปฏิรูปการเมืองอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากยืนยันสิทธิในการเสนอกฎหมายก็ถือเป็นสิทธิ

"ปัญหาที่ผ่านมาที่เราอยากจะให้ช่วยกันคิดเรื่องปมความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายในปีที่แล้วก็มาจากเรื่องทำนองนี้ วันนี้มีงานใหญ่ที่เราต้องทำ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการว่างงาน ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ถ้าเราทำอะไรแล้วเกิดความวุ่นวายขึ้นแล้วงานตรงนี้เดินไม่ได้ ที่สุดก็อยู่กันไม่ได้หรอกครับ"

เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ที่ ส.ส.พรรคร่วมจะไปสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความจริง ส.ส.แต่ละพรรคการเมืองมีสิทธิอยู่แล้ว เพราะว่าปัจจุบันการเสนอกฎหมาย ส.ส.ก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องให้หัวหน้าพรรคเซ็นรับรองเหมือนเดิม แต่เรื่องนี้ต้องมาคุยกันในเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน คิดว่าสามารถบริหารจัดการได้ ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่หาทางเดินกันไม่ค่อยได้ว่าจะเดินอย่างไร แต่ยังเชื่อว่าแนวทางที่ดีที่สุด คือ เร่งทำกรอบปฏิรูปการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับ

โฆษกปชป.ชี้เพื่อไทยมุ่งล้มคดีสลายม็อบ7ตุลา

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.สัดส่วน และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติ พรรคมีจุดยืนว่าต้องตอบสังคมได้ว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร กรณีนี้จึงมองว่า เป็นการใช้เงื่อนไขเรื่องการคืนสิทธิทางการเมือง มาเป็นข้ออ้างในการผลักดันเรื่องที่ใหญ่กว่า เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีประเด็นเรื่องความผิดที่เป็นผลมาจากการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และความผิดอันเนื่องมาจากการสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม ซึ่งจะถือเป็นการยกความผิดทางอาญาของคดีที่เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลและก่อนชั้นศาล

"เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่ยังรวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อำนาจเกินขอบเขตของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม พรรคจึงห่วงใยต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการยกความผิดมากกว่าความกังวลในการคืนสิทธิทางการเมือง การจะออกหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อบางคนหรือบางกลุ่ม ทำไม่ได้"

"ประจักษ์-บุญจง"ไม่เห็นด้วยกับ"ชวรัตน์"

ที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง สนามกีฬาเวสน์ 2 นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ที่หนุนร่าง กม.ปรองดองแห่งชาติว่า เชื่อว่านายชวรัตน์ต้องการให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถมาช่วยงานทางการเมือง แต่โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้แก้ปัญหาปากท้องประชาชนก่อน แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมคงไม่มีใครปฏิเสธที่จะให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม อีกทั้งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่กดดันพรรคประชาธิปัตย์จนนำไปสู่ความขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล

ขณะที่ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงร่าง กม.ปรองดองแห่งชาติว่า ไม่ทราบใครเป็นต้นคิด ส่วนตัวยังไม่เห็นเนื้อหาที่จะเสนอ ทั้งนี้การเสนอกฎหมายสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการว่าจะมีการผลักดันเสนอกฎหมายเข้าไปในสภาได้หรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่ากรณีดังกล่าวยังไม่จำเป็นเร่งด่วนเท่ากับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมยังไม่ได้คุยกับแกนนำ 111 จึงไม่รู้เป็นแนวคิดของใคร ถ้าจะมีการเสนอจริงๆ ก็เป็นเรื่องของอนาคต และเชื่อว่าก่อนจะมีการนำเสนอต้องผ่านความคิดเห็นของแกนนำพรรค

"ชวรัตน์"เผยเตรียมหารือพรรคเคาะ

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคคงจะหารือกันเป็นการภายในพรรคอีกครั้งหนึ่งว่าจุดยืนเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นเป็นอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้มีประโยชน์ เพราะขณะนี้บุคลากรทางการเมืองเหลือน้อย การนิรโทษกรรมจะเป็นประโยชน์มาก หากเห็นว่าเป็นผลประโยชน์กับคนส่วนใหญ่พรรคก็พร้อมที่จะสนับสนุน และทุกฝ่ายควรจะเข้ามาช่วยกันเพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยมาขอความร่วมมือกับพรรคภูมิใจไทยให้สนับสนุนเรื่องนี้ นายชวรัตน์กล่าวว่า ก็ต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าเป็นประโยชน์กับประเทศชาติหรือไม่ หากพรรคเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็พร้อมดำเนินการเต็มที่

อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทยให้ทุกพรรคหนุน

ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ให้สัมภาษณ์ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ถึงการผลักดันร่าง กม.ปรองดองแห่งชาติ ว่า หลักการของการออกกฎหมายประเภทนี้เพื่อยุติความขัดแย้งในสังคม เพราะสถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้ ไม่ว่านโยบายของรัฐบาลจะดีแค่ไหน แต่ถ้าประชาชนยังแตกแยกอยู่ก็จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งทุกพรรคการเมืองควรหันมาสนับสนุน กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่ากฎหมายนี้ยังไม่สำคัญ ก็อยากให้ดูหลักการและรายละเอียดของกฎหมายก่อน โดยจะต้องเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งถ้าสามารถสร้างความปรองดองในประเทศได้ก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธ

"สำหรับกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาระบุว่า หากมีการผลักดันกฎหมายฉบับนี้อาจจะออกมาเคลื่อนไหว ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องทำให้ทุกอย่างโปร่งใส และทำเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ เพราะหากทำเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็คงหาคนยอมรับได้ยาก"

ชงประธานวุฒิ-ประธานสภาเป็นคนกลาง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้จำเป็นจะต้องมีคนกลางหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ประธานวุฒิสภาควรจะไปประสานงานกับประธานสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นก็หารือกับ ส.ส.และ ส.ว.เพื่อเป็นคนกลางในการดำเนินการ ซึ่งแม้ขณะนี้จะบางคนคัดค้านอยู่แต่ถ้าประเทศไทยยังแตกแยกรุนแรงอย่างนี้ ก็คงจะทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นจึงควรล้างสิ่งที่ผ่านมาให้หมด

"ฝ่ายนิติบัญญัติต้องหันหน้าเข้าหากัน ประธานของทั้งสองสภา เป็นแกนหลักโต้โผก็ได้ เชิญ ส.ส. ส.ว. มาหารือ ถ้าเห็นพ้องกันก็ให้ประชาชนรับรู้และให้แสดงความเห็นด้วย อย่าหมกเม็ด เพราะกฎหมายผ่านแต่คนไม่รับ ก็ไม่มีประโยชน์ ยิ่งรัฐบาลบอกว่าจะปฏิรูปการเมือง ถามว่า จะทำท่ามกลางความความคิดเห็นขัดแย้งรุนแรงในสังคม มันจะทำได้หรือ ทำไมไม่ให้เกิดความปรองดองก่อน คีย์ของกฎหมายนี้น่าจะอยู่ที่การทำให้มีบรรทัดฐานของหลักนิติรัฐและนิติธรรม"

เมื่อถามว่า หากมีการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะได้ประโยชน์ด้วย นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครเห็นรายละเอียด ต้องทำให้โปร่งใสและใครได้ประโยชน์ ส่วนครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ควรใจกว้างใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมายังไม่ได้มีความชัดเจนในส่วนของพรรค

พรรคเพื่อแผ่นดินเห็นด้วยปรองดอง

ด้านนายเอกภาพ พลซื่อ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาบ้านเมืองบอบช้ำมาพอแล้ว และควรหาหนทางที่จะทำให้ประเทศเกิดความสมานฉันท์ปรองดองขึ้นในทุกวิถีทาง อะไรที่ทำได้ก็ควรจะร่วมมือกันทำ พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคก็เห็นความสำคัญของกฎหมายสร้างความปรองดองแห่งชาติ และคงถึงเวลาที่จะต้องมาร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เพื่อพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง

เพื่อไทยเสี้ยมอีกประชาธิปัตย์ไม่ไว้ใจพรรคร่วม

นายสุรชัย เป้าจรรยา ส.ส.สัดส่วน และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...ว่า ในอีก 1-2 วันนี้แกนนำพรรคเพื่อไทย จะหารือกันเพื่อกำหนดทิศทางผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง แต่เชื่อมั่นว่าพรรคเล็กทุกพรรคจะให้การสนับสนุน โดยเฉพาะในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ได้ประสานงานกันอย่างลับๆ ก่อนหน้านี้นานแล้ว และทุกพรรคก็เห็นด้วยทั้งหมด ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความแตกแยกอย่างหนักจากทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง โดยเฉพาะ ส.ส.ในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ มากกว่าจะเป็นประโยชน์กับ พ.ต.ท.ทักษิณเพียงคนเดียว

"ไม่ทราบว่าเพราะอะไรพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ให้การสนับสนุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างนี้ หรือเป็นเพราะไม่ไว้ใจพรรคร่วมรัฐบาล จึงมองสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลให้การสนับสนุนในแง่ร้ายและมีอคติ ซึ่งคงเป็นเพราะเกรงว่าหากมีการนิรโทษกรรมให้กับทุกคนด้วย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ จะย้ายข้างเปลี่ยนขั้วมาอยู่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง" นายสุรชัยกล่าว

"ชัยสิทธิ์"สนับสนุนเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้า

วันเดียวกัน พล.อ.ชัยสิทธิ์  ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวในรายการลับ ลวง พราง ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ถึงการเสนอร่าง กม.ปรองดองแห่งชาติ ว่าถ้าเป็นไปได้ก็ดี คือนิรโทษกรรมทุกฝ่ายและหันหน้าเข้ามาหากัน เพื่อนำประเทศไทยไปข้างหน้าให้ได้ ที่บอกว่าเป็นการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ผมว่าเลิกพูดได้แล้ว จะไปกลัวอะไรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะขณะนี้สาหัสแล้ว ถึงเวลาที่ควรจะคิดถึงความดีและอภัยโทษให้กันก็จบ เป็นทางออกที่ดีที่ผมเห็นด้วย นิรโทษกรรมทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น

"ทุกคนไม่มีใครเสียจะมีแต่ได้กับได้ แต่ก็กลัวว่า เมื่ออภัยโทษแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาชนะอีกซึ่งช่วยไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่ประชาชน มิเช่นนั้นคุณก็เอาเผด็จการไปเลย"

พล.อ.ชัยสิทธิ์เชื่อนิรโทษแม้วเลิกเล่นการเมือง

เมื่อถามว่า มีเสียงเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ติดคุกสักปีสองปีค่อยได้รับอภัยโทษ พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ คนอื่นคงไปตัดสินใจแทนไม่ได้ แต่พ.ต.ท.ทักษิณมองว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจึงไม่ยอมเข้ามาต่อสู้ เรื่องนี้ศาลได้ตัดสินไปแล้วพูดไปก็ไม่ดี แต่ถ้าคนผิดจริงก็ต้องยอมรับ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้ายอมเสียตรงนี้เพื่อก้าวไปข้างหน้าก็เป็นเหตุผลที่เหมาะสม แต่คนระดับที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาเขาจะยอมหรือ

เมื่อถามว่า หากนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณจะวางมือการเมืองหรือไม่ พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าวว่า บอก พ.ต.ท.ทักษิณสิ คิดว่าเขาเลิกได้ เพราะลูกและภรรยาก็เห็นอยู่แล้วว่า การเมืองเป็นอย่างไร เชื่อว่าคงคิดได้เอง หากมีข้อเสนอไปว่า ถ้านิรโทษกรรมต้องเลิกเล่นการเมืองก็จบ พ.ต.ท.ทักษิณคงอยากมีชีวิตบั้นปลายที่สงบสุขคิดว่าเขาน่าจะทำ

ซัดตั้งข้อหาทุเรศ-ไล่ยุงเผาทั้งบ้าน

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนต่อตระกูลชินวัตรอย่างไรบ้าง พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะชินวัตรคนอื่นๆ ก็ยังคงประกอบธุรกิจของตนเองไป สำหรับครอบครัวของตนนั้นเป็นครอบครัวทหาร ไม่เหมือนครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณที่มาจากการค้าขายน่าจะทำได้  ในฐานะที่เป็นคนไทย ครอบครัวชินวัตรก็เป็นคนหนึ่งที่รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เหมือนคนไทยทุกคน

"ผมพูดได้เลยว่า การไปใส่ร้าย ตั้งข้อกล่าวหาเขานั้นทุเรศที่สุด ไม่มีเหตุผลและเป็นไปไม่ได้ เหมือนต้องการจะไล่ยุงตัวเดียว ต้องเผาบ้านเลยเหรอ" พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าว

อดีตส.ส.ร.50ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ-ป่วนแน่

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรนูญ (ส.ส.ร.) 2550 กล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ว่า เป็นเรื่องลำบาก เพราะกฎหมายดังกล่าวก็คือ การนิรโทษกรรม ซึ่งหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะคนที่ได้ประโยชน์เต็มๆคือ นักการเมืองที่โดนคดีการเมือง และยังคลอบคลุมไปถึงผู้ที่กระทำความผิดไล่มาตั้งแต่ รัฐประหาร 19 กันยายน 49 คนเสื้อเหลือง เสื้อแดง นักการเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตร

"หากนักการเมืองฝ่ายค้านยังฝืนทำต่อไปจะทำให้เกิดความขัดแย้งและรุนแรง นำไปสู่ความไม่สงบของบ้านเมือง เหมือนกรณีเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เกิดการชุมนุมต่อต้าน หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านก็เท่ากับว่า เป็นการออกกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นเรื่องที่น่าแปลกออกกฎหมายลูกขัดกับกฎหมายแม่ หากฝ่ายค้านดึงดันที่จะผลักดันให้ผ่าน บ้านเมืองคงวุ่นวายแน่ โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรจะต่อต้าน"

นายเสรีกล่าวว่า  หากมองในแง่การเมือง การเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวของฝ่ายค้าน อาจไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อต้องการให้มีการนิโทษกรรมเท่านั้น แต่มีนัยะแอบแฝงที่ต้องการให้พรรรคร่วมรัฐบาลแตกกันก็เป็นได้
 

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์