ท่าทางขึงขังของ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่แสดงความมั่นอกมั่นใจหลักฐานเด็ดในมือ เพื่อขอมติ "พรรคเพื่อไทย" ในการยื่นญัตติอภิปรายไว้วางใจ "นายกรัฐมนตรี" ทำให้บรรยากาศการต่อสู้ทางการเมืองของเพื่อไทย กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการโฟนอินของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี" ที่กลับมาปลุกระดม ส.ส.เพื่อไทย ให้กลายเป็นหนึ่งเพื่อรองรับการจัดทัพในการต่อสู้อย่างเป็นระบบที่จะต้องประสานงานกันทั้ง "การเมืองในสภาผู้แทนราษฎร" และ "การเมืองข้างถนน"
ที่ผ่านมา "เพื่อไทย" ไปมุ่งกับการล้มล้าง "รัฐบาลอภิสิทธิ์" ด้วย "กองทัพเสื้อแดง" ที่หวังจะใช้วิธีการเดียวกับ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" มาแก้เผ็ด "ประชาธิปัตย์"
แต่จนแล้วจนรอด "กระบวนการเสื้อแดง" ไม่แข็งแกร่งพอที่จะสั่นคลอน "รัฐบาลอภิสิทธิ์" ได้ จึงจำเป็นจะต้องผนึกกำลังจากหลายฝ่ายเข้ามาร่วมในการต่อสู้
อันเป็นที่มาของแผน "สงครามเก้าทัพ" ที่ "เพื่อไทย" จะใช้การต่อสู้ด้านต่างๆ เข้าเผด็จศึก "รัฐบาลอภิสิทธิ์" ในระยะเวลาอันใกล้
โดยแกนนำเพื่อไทยบางส่วนพยายามใช้กระบวนการต่อสู้ทาง "สภาผู้แทนราษฎร" และเวทีของการ "อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี" เป็นตัวชำแหละแผลของ "ประชาธิปัตย์" เป็นอันดับแรก
หลังจากนั้นจะให้แนวร่วมต่างๆ เข้ามาเขย่าต่อโดยเฉพาะ "กองทัพเสื้อแดง" ที่พร้อมจะเคลื่อนพลบุก "กทม." ทันทีที่มีการเป่านกหวีด
แต่ข้อมูลที่ "เพื่อไทย" มุ่งขยาย "ปากแผล" ให้กว้างขึ้นนั้น โฟกัสไปได้เพียงกรณีการโอนเงินกว่า 250 ล้านบาท จากบริษัท ทีพีไอ โพลิน จำกัด (มหาชน) ไปยัง บริษัทแมสไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ช่วงปี 2547-2548 โดยอ้างว่าเพื่อทำการประชาสัมพันธ์จากนั้นก็มีการโอนเงินดังกล่าวไปยังคนใกล้ชิด แกนนำและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง
ซึ่งเรื่องนี้ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เคยหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ช่วงที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี รวมไปถึง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้เองก็ได้หยิบขึ้นไปขย่มบนเวที "คนเสื้อแดง" อยู่หลายครั้ง
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเสียงสะท้อนกลับมานั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร และเชื่อได้เลยว่า ข้อมูลที่จะถูกเปิดเผยออกมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ "เพื่อไทย" จะหนีไม่พ้นเรื่องเก่าที่จะถูกเอามา "ยำใหม่" ด้วยการใส่หลักฐานเพิ่มเติม ที่มองได้ว่าเป็นการกระทำสืบเนื่องจากของเดิมเข้าไป แล้วเสริมด้วยลีลาของ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ที่เคยล้ม "รัฐบาลชวน 2" ด้วยการอภิปรายเรื่อง "ส.ป.ก.4-01" มาแล้วเป็น "ตัวนำ" ในการขับเคลื่อน
ซึ่งการประกาศ "ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี" นั้นถือว่า "เพื่อไทย" กำลังพยายามสร้างรอยร้ายภายในพรรคร่วมรัฐบาล
เพราะช่วงที่มีการยื่นญัตติคาไว้ นั้นถือเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ได้กดดัน "พรรคประชาธิปัตย์" เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ในภาวะที่ "นายกรัฐมนตรี" ไร้อำนาจ "ยุบสภา" และ "รอยร้าว" ภายใน "พรรคร่วมรัฐบาล" ทุกตารางนิ้วนั้นเท่ากับโอกาส ในการกลับเข้าสู่เส้นทางแห่งชัยชนะของ "เพื่อไทย" ด้วย
แต่ "แกนนำพรรคเพื่อไทย" บางสายก็ห่วงว่าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในเวลานี้นั้น อาจจะเป็นหอกหันกลับมาทิ่มแทง "เพื่อไทย" หากไม่สามารถล้มรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ ยิ่งทำให้สถานภาพของ "เพื่อไทย" ที่ง่อนแง่นวันนี้... อาการหนักขึ้นไปอีก
ซ้ำร้ายบางส่วนยังห่วงว่จะเป็นช่องทางที่ "บางคน" ถือเป็น "โอกาส" ใน "วิกฤต" มาปั่นราคาตัวเอง ด้วยการเสนอชื่อเป็น "แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี"
แสดงให้เห็นความไม่พร้อมที่จะก้าวสู่สนามการต่อสู้ครั้งใหญ่ ที่ไม่เพียงแต่ไม่พร้อมเรื่อง "ขุนพล" แต่เป็นความไม่พร้อมเรื่อง "ยุทธศาสตร์การต่อสู้" ซึ่งเป็นแผลเก่าดั้งเดิมของ "เพื่อไทย" ที่อาจจะทำให้ต้องสะกดคำว่า "พ่ายแพ้" อีกครั้ง
เมื่อขุนพลไม่พร้อมออกรบ เปิดแผลปชป.สะเทือนพท.
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง เมื่อขุนพลไม่พร้อมออกรบ เปิดแผลปชป.สะเทือนพท.