มติชน
บทนำมติชน
ไม่จำเพาะแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นที่ต้องได้รับคำตำหนิในการนำไฟในหรือปัญหาภายในประเทศออกไปโพนทะนาบอกกล่าวภายนอกประเทศ แต่ฝ่ายที่คัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณก็มีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน
ตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ารับตำแหน่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในกรณียาบ้าซึ่งไม่เคยมีการพิสูจน์ความจริงกันเลยว่าตัวเลขที่แท้จริงมีเท่าไร มาจนถึงกรณีตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างลึกลับเป็นศพไม่มีญาติจำนวน 200-300 ศพใน 3 จังหวัดภาคใต้ของเราก็ยังไม่มีการพิสูจน์ออกมาให้ถ่องแท้ว่าเสียชีวิตเนื่องจากอะไร แต่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณก็เลือกที่จะใช้วิธีการโพนทะนาเอาไฟในออกนอกอย่างด่วนสรุป หรือว่านี่คือวัฒนธรรมแบบไทยที่รักจะตะโกนด่าทอสาดใส่เข้าหากันประจานให้เพื่อนบ้านได้ยินกันไปทั่วมากกว่าที่จะเอาเหตุเอาผลเอาหลักฐานและความเป็นจริงมาแสดงให้จำนนกันด้วยความจริง วัฒนธรรมด่าประจานกันก่อนเช่นนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไทยไปแล้ว
มีตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ที่สามารถนำมาเป็นแบบเปรียบเทียบได้จากสหรัฐอเมริกาคือกรณีของนางเวเลอรี เพลม อดีตสายลับซีไอเอ และสามีของเธอคือนายโจเซฟ วิลสัน อดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่กล้าออกมาคัดค้านการทำสงครามอิรักของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช คนทั้งสองได้รับความเสียหายจากความไม่พอใจของคนในรัฐบาลสหรัฐซึ่งได้แก้แค้นด้วยการแอบเปิดเผยกับสื่อว่านายโจเซฟ วิลสัน ไปราชการต่างประเทศโดยอาศัยงานของภรรยาที่เป็นซีไอเอบังหน้า แต่การเปิดเผยเพื่อหวังจะทำลายสามีเช่นนี้กลับกลายเป็นว่าคนในรัฐบาลสหรัฐละเมิดกฎหมายเปิดเผยสายลับของชาติโดยไม่รู้ตัว นั่นคือเป็นการเปิดเผยว่านางเวเลอรี เพลม เป็นสายลับซีไอเอ ผลก็คือทำให้นางเพลมและครอบครัวซึ่งมีทั้งสามีและบุตรตกอยู่ในอันตรายได้ แต่นางเวเลอรี เพลม และสามีไม่ได้ออกมาโพนทะนาด่าทอหรือเอาไฟในออกไปร้องเรียนกับสหประชาชาติแต่อย่างใด
คนทั้งสองรอคอยให้ผลการสอบสวนปรากฏออกมาว่าใครเป็นใครและใครอยู่เบื้องหลังในการกระทำความผิดเปิดเผยตัวสายลับของประเทศชาติ เหตุการณ์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 และมาบัดนี้กลางปี พ.ศ.2549 เมื่อปรากฏผลชัดเจนขึ้นนางเพลมและนายวิลสันผู้สามีร่วมกันฟ้องร้องผู้ที่รับผิดชอบออกมาอย่างเป็นทางการซึ่งล้วนเป็นคนระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐอันประกอบด้วยรองประธานาธิบดีริชาร์ด เชนีย์ นายคาร์ล โรฟ ซึ่งเพิ่งจะลาออกจากการเป็นผู้ช่วยระดับสูงของประธานาธิบดีจอร์จ บุช และนายลูอิส ลิบบี้ ซึ่งเพิ่งจะลาออกจากการเป็นผู้ช่วยของรองประธานาธิบดีเชนีย์เมื่อการสอบสวนได้ความว่าเป็นผู้เกี่ยวพันกับการละเมิดความลับของสายลับประเทศชาติ
นี่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเมืองไทยเราถ้าจะเลิกวัฒนธรรมด่าประจานกันทางการเมืองและชอบโพนทะนาให้โลกภายนอกรู้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปฟ้องโพนทะนาให้สหประชาชาติหรือโลกภายนอกเขารู้ เพราะโลกภายนอกนั้นเขามีตัวแทนของเขาจับตาดูภายในประเทศเราอยู่แล้วและไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องสาวไส้ให้กากิน สิ่งที่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นคือการพิสูจน์หาความจริงไม่ใช่การร้องแรกแหกกระเชอโดยที่ยังไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร ดังเช่นวิสามัญกรณียาบ้าจนถึงบัดนี้ก็ไม่รู้แน่ว่าจำนวนที่แท้จริงเป็นเท่าไรหรือกรณี 200-300 ศพที่ 3 จังหวัดภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการพิสูจน์ความจริงจะโดยการตั้งคณะกรรมการอิสระหรืออย่างใดอย่างหนึ่งให้รู้ผลและดำเนินการฟ้องร้องผู้ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ว่าใครทั้งนั้นตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาถึงคนธรรมดาอยู่ในฐานะที่จะถูกฟ้องร้องได้ทั้งนั้นถ้าหากกระทำผิดกฎหมาย เราต้องสร้างระบบเช่นนี้ออกมาให้ได้ภายในประเทศซึ่งการเอะอะเอ็ดตะโรด้วยวัฒนธรรมประจานนั้นไม่ได้สร้างสรรค์เลย