ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี2552ตลอดทั้งวันนี้ (11 ก.พ.)
ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง บรรยากาศเป็นไปอย่างจืดชืด ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ยังเหมือนกับการอภิปรายในวาระที่ 1 ในช่วงเย็นที่ผ่านมา นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า เงินคงคลังได้ปรับลดมาก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศถึง 3 เดือน และหากไม่จำเป็นรัฐบาลก็ไม่คิดที่จะกู้ยืมเงินมาสมบทบ แต่เป็นเพราะในขณะนี้ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวล้วนหยุดชะงักหมด จึงทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ในการจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติม
ส่วนที่สมาชิก อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ยืนยันในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว
รมว.คลังในขณะนั้นก็ได้ประกาศว่าต้องจัดทำงบปีระมาณเพิ่มเติม ซึ่งตนในฐานะ รมว.คลังเงา ได้แสดงความเห็นที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นความเห็นสอดคล้องกันของทุกฝ่าย จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมาคัดค้าน เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ หันไปทางไหนก็มีแต่ปัญหา น้ำลดตอผุดทุกที่ ทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจ
สำหรับการตำหนิเรื่องการกู้ยืมเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อมาดำเนินโครงการสร้างระบบขนส่งมวลชนนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า การกู้ยืมเงิน
เพื่อมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้า เป็นมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2549 แล้ว จากนั้น ในวันที่ 11 ธ.ค.2549 รัฐบาลในขณะนั้นก็ได้ทำหนังสือไปทาบทามขอกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อตนเข้ามาบริหารงาน มาตรการอะไรที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมที่จะสานต่อ รวมถึงการกู้เงินเพื่อสร้างระบบมวลชนนี้ด้วย
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ตั้งประมาณการไว้ว่าจะจัดเก็บรายได้ลดลง จากที่คาดการณ์ไว้ ประมาณ 10%
ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน คาดการณ์ไว้ด้วยซ้ำ ทั้งนี้จะใช้ตัวเลขคาดการณ์ที่เป็นจริงในการประมาณการตัวเลข เพื่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี2553 ต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะเป็นปัญหาแต่ก็ไม่ใช่ปัญหาทางกฎหมาย รัฐบาลเชื่อมั่นว่าการกระตุ้นการใช้จ่าย จะช่วยให้มีผู้บริโภคมากขึ้น และเป็นการช่วยคนจนมากกว่ามาตรการช่วยคนรวย เหมือนอย่างที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ใช้มาตรการลดภาษี ที่ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือผู้มีอันจะกิน
“เราเชื่อว่าการลดภาษีให้คนรวยไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ส่วนการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศรัฐบาลได้ทำตามภายใต้กรอบเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทุกอย่าง ซึ่งจะไม่ให้มีหนี้สาธารณะเกิน 50% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี )” นายกรณ์ กล่าว
ด้านนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ ฯ กล่าวถึงข้อกังขาว่าเหตุใดเงินคงคลังของประเทศจึงลดลงอย่างมากว่า
ควรจะต้องกลับไปถามรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ว่าได้ทำอะไรมา เนื่องจากเพียงแค่ 3 เดือน คือ ต.ค.-ธ.ค.2551 ปรากฎว่ามีตัวเลขเงินคงคลังหายไปถึง 170,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขเงินคงคลัง ตัวเลข ณ วันที่ 31 ม.ค.2552 อยู่ที่ 36,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารงาน 1 เดือน เงินคงคลัง หายไปแค่ 12,000 ล้านบาทเท่านั้น ปัญหาทุกอย่างจึงเกิดก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาทำหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาในการอภิปราย และชี้แจง มาตรา 3 ยอดรวม ใช้เวลา ถึง 7 ชั่วโมง ซึ่งท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติ เห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งไม่มีการปรับลดใด ๆ ด้วยคะแนนเสียง 237 ต่อ 113 งดลงคะแนน 4 ไม่ลงคะแนน 9