จากการให้สัมภาษณ์เมื่อตอนขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ รวมถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลของนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ความสำคัญกับภารกิจนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก
รองลงมาคือการเร่งสร้างความปรองดองสมานฉันท์บนพื้นฐานความถูกต้อง ยุติธรรมและความยอมรับของทุกภาคส่วน
ในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจนั้น
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์แสดงถึงความพยายามที่จะแก้ปัญหา ด้วยการผลักดันร่างกฎหมายงบประมาณกลางปีกว่าแสนล้านเพื่อรองรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ผลจะออกมาอย่างไรยังชี้ชัดตอนนี้ไม่ได้
ต้องรออีกราว 1-2 เดือน เพื่อให้กลไกกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านั้นเริ่มทำงานเต็มที่เสียก่อน
ถึงจะรู้ว่าเวิร์กหรือไม่เวิร์ก
ระหว่างนี้หันมาดูนโยบายด้านการสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันบ้างว่าเป็นอย่างไร
นายอภิสิทธิ์นั้น เคยกล่าวไว้เช่นกันในทำนองรู้ดีอยู่แก่ใจ ว่าเมื่อตัวเองขึ้นมาเป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล
จะต้องเจอกับแรงต้านจากฝ่ายตรงข้ามที่ยังจงรักภักดีกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลชุดเก่าก่อน
แต่นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะบริหารประเทศแบบไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย
จะทำงานเพื่อชาติและคนไทยทุกคนโดยไม่แบ่งสีเสื้อ
นับจากนั้นมาสังคมก็จับตามอง ว่านายอภิสิทธิ์จะทำตามที่พูดไว้ได้หรือไม่
ปรากฏผ่านไป 1 เดือนเศษ
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ถือว่าสอบตกด้านการบริหารความสมานฉันท์อย่างสิ้นเชิง
เพราะไม่เพียงแต่ความขัดแย้งของสังคมยังอยู่ในระดับเดิม
บางครั้งรัฐบาลเองยังเป็นฝ่ายซ้ำเติมความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ
ลำพังตัวนายกฯนั้นไม่เท่าไหร่
แต่พอไล่ลงมาตั้งแต่รองนายกฯ โฆษกพรรค โฆษกหัวหน้าพรรค ส.ส. ลิ่วล้อ ลูกหาบ ปลายแถว ฯลฯ แทบจะกลายเป็นหนังคนละม้วน
อย่างการโยกย้ายข้าราชการตำรวจก็เป็นเรื่องหนึ่ง
ที่ส่อให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีอะไรดีไปกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ หรือพูดอีกอย่างคือเลวร้ายพอกัน
โดยเฉพาะการแต่งตั้งเครือญาติ คนใกล้ชิดเข้ามาคุมตำแหน่งสำคัญ
เป้าหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม
จุดนี้เองที่บ่งชี้ถึงความล้มเหลวในนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์
เป็นการสร้างแรงแข็งขืนต่อต้าน เร่งอุณหภูมิแตกหักทางการเมืองให้มาถึงเร็วขึ้น
ด้วยน้ำมือของคนในรัฐบาลเอง