"กรณ์" นัดประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายฯ ขอขยายวงเงินบริหารหนี้จากเดิม 1.2 ล้านล้าน
หวังเพิ่มเติมการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 9.7 หมื่นล. หลังทำงบฯกลางปีเพิ่มเติม และกู้เพื่อฟื้นฟู ศก. เผยรัฐวิสาหกิจเล็งกู้เพิ่มอื้อทั้งการบินไทย กฟผ. ผจก.ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติชี้ปลดล็อคเครดิตบูโร อาจเป็นผลเสียต่อลูกหนี้มากกว่า แนะใช้วิธีค้ำประกันสินเชื่อแทน
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายและบริหารหนี้สาธารณะ นัดประชุมคณะกรรมการเพื่อประชุมปรับปรุงแผนการก่อหนี้ภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2552 ใหม่ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะเป็นการขยายวงเงินบริหารหนี้จากเดิม 1.2 ล้านล้านบาท แต่จะเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใดต้องรอสรุปในการประชุมดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งแผนในเบื้องต้นจะต้องเพิ่มเติมการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท ภายหลังรัฐบาลจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม 1.167 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีรายการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้เจรจาแล้วประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ที่ต้องนำมาเพิ่มเติมไว้ในแผนด้วย รวมถึงการปรับแผนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจต่างๆ
แหล่งข่าวกล่าวว่า คาดว่าหลังการประชุมได้ข้อสรุปแล้วจะสามารถเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบได้ในสัปดาห์ถัดไป โดยการปรับปรุงแผนก่อหนี้จะต้องเร่งดำเนินการคู่ขนานไปกับกระบวนการจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมที่อยู่ในกระบวนการของสภาฯอยู่ในขณะนี้
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่จะต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติม อาทิ
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ขาดทุนจากผลกระทบกรณีการปิดสนามบิน กู้เพิ่มกว่า 2 หมื่นล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ขาดสภาพคล่องจากการดำเนินงาน 6 มาตรการ 6 เดือน กู้เพิ่มราว 2 หมื่นล้านบาท กรณีการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นวงเงินเพิ่มเติมในโครงการรับประกันราคาสินค้าเกษตร กรณีการสนับสนุนวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นต้น ส่วนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีแผนขอกู้เงินเพื่อดำเนินการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า ทอท.ควรจะเร่งเคลียร์หนี้เดิมที่ยังมีอยู่ก่อน เนื่องจากปัจจุบันถูกผู้รับเหมาร้องเรียนมาก
กรณ์เล็งขอขยายวงเงินบริหารหนี้ หวังกู้เพิ่มชดเชยขาดดุลงบฯ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้เพดานการออกตั๋วเงินคลังยังมีอยู่สูงถึง 2.5 แสนล้านบาท ถือว่าเพียงพอที่จะใช้รักษาระดับเงินคงคลังได้ในกรณีที่จำเป็น
เชื่อว่าคงไม่มีความจำเป็นถึงขนาดต้องกู้จนเต็มเพดานแต่อย่างใด นอกจากนี้ หากมีการออกตั๋วเงินคลังมากๆ ก็สามารถแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรระยะยาวได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องขยายเพดานการออกตั๋วเงินคลังแต่อย่างใด ขณะที่นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.ยืนยันว่าการบริหารเงินคงคลังของภาครัฐจะไม่ทำให้การเบิกจ่ายเกิดการสะดุดอย่างแน่นอน เพราะเตรียมพร้อมไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการออกตั๋วเงินคลัง ที่ขณะนี้สภาพตลาดเหมาะสม เนื่องจากมีความต้องการมาก อัตราดอกเบี้ยตั๋วเงินคลังระยะ 1 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 1.6%
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า
ในเดือนมีนาคมนี้ สคร.เตรียมเสนอข้อสรุปเบื้องต้นถึงรูปแบบการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะที่จะเกิดจากการกู้ยืม สำหรับรูปแบบของกองทุนดังกล่าวจะเป็นหน่วยลงทุนที่เปิดขายให้แก่สถาบันและนักลงทุนรายย่อยเพื่อนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ สคร.และบริษัทที่ปรึกษาจะจัดสัมมนาระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในเดือนมีนาคม
"ตอนนี้อยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาให้ศึกษารูปแบบกองทุนและขนาดของกองทุน รวมถึงผลตอบแทน ซึ่งจะมีรูปแบบเหมือนในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ที่มีกองทุนเพื่อระดมทุนจากประชาชนมาใช้ก่อสร้างโทลล์เวย์ นอกจากนี้ จะมีการจ้างผู้บริหารมืออาชีพมาดูแลกองทุนดังกล่าว โดยภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ถือว่าเหมาะสมที่จะนำเงินออมของประชาชนมาใช้ อีกทั้งดอกเบี้ยในตลาดขณะนี้ก็อยู่ในระดับต่ำ ทั้งยังจะช่วยเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือ (เรทติ้ง) ของประเทศ การที่เงินกู้ของกองทุนไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะแต่ถือเป็นหลักทรัพย์แทน" นายอารีพงศ์กล่าว
นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร เปิดเผยว่า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ จะเข้าชี้แจงต่อ ครม.เศรษฐกิจ
เพื่อดูว่าปัญหาที่ลูกหนี้ไม่ได้รับสินเชื่อนั้นเกิดจากอะไร และบริษัทจะมีแนวทางช่วยเหลือได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาของการถูกบันทึกรายชื่อในเครดิตบูโรแล้วทำให้ไม่ได้รับเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินนั้น อาจจะเป็นปัญหาน้อยมาก เพราะขณะนี้ปัญหาหลักเกิดจากการการขาดความเชื่อมั่นของสถาบันการเงิน เพราะไม่แน่ใจว่าในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจะทำให้ลูกหนี้สามารถนำเงินกู้ไปก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำมาชำระหนี้ได้มากน้อยเพียง
"คงต้องร่วมกันดูว่าปัญหาคืออะไร จะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป เพราะหากจะเก็บข้อมูลลูกหนี้ที่ติดในรายชื่อให้สั้นลงจาก 3 ปีเหลือ 2 ปี เพื่อให้ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้สามารถกู้ยืมได้ จะเป็นผลเสียมากกว่า เพราะหากสถาบันการเงินไม่เชื่อมั่นในข้อมูลก็จะยิ่งเป็นโทษหนัก การพิจารณาปล่อยกู้ไม่ใช่ดูจากข้อมเครดิตบูโรอย่างเดียว แต่หมายถึงอาชีพหรือฐานะความมั่นคงของผู้กู้ด้วย" นายนิวัฒน์กล่าว
นายนิวัฒน์กล่าวว่า การแก้ปัญหาให้ตรงจุดในภาวะการขาดความเชื่อมั่นดังกล่าวน่าจะอยู่ที่การค้ำประกันสินเชื่อจากทางการ
ในรูปแบบของการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมาดำเนินการแทน ทั้งบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (บสย.) หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (ธพว.) หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์น่าจะดีกว่าที่จะมาพิจารณาเพียงว่าลูกค้าผิดนัดชำระหนี้แล้วต้องแก้ไข เพื่อให้ได้รับเงินกู้