จาตุรนต์เชื่อรัฐบาลปชป.อ่อนแอ-คอรัปชั่น

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยสัมมนา"จะคืนความเป็นนิติรัฐสู่สังคมไทยได้อย่างไร" โดย"จาตุรนต์"ระบุรัฐบาลประชาธิปัตย์ย์อ่อนแอ-คอรัปชั่นมาก


ที่ห้องราชาวดี โรงแรมเรดิสัน ถ.พระรามเก้า วันที่ 9 ก.พ.52 เวลา 14.00 น. สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดสัมมนาเรื่อง"จะคืนความเป็นนิติรัฐสู่สังคมไทยได้อย่างไร" โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และรักษาการประธานสถาบัน ฯ , นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต สสร. , นายสมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และนายธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมเป็นวิทยากร 


โดยนายจาตุรนต์ กล่าวว่า นิติรัฐ คือ ระบบการปกครองที่รัฐยึดถือระบบกฎหมายในการปกครอง โดยอำนาจอยู่ที่กฎหมาย ไม่ใช่อยู่ที่คน

ซึ่งรัฐต้องยึดถือรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองโดยเสมอภาคตามกฎหมาย ขณะที่ศาลต้องมีความอิสระ และที่สำคัญกระบวนการออกกฎหมายต้องทำโดยถูกต้อง ไม่มีการบังคับใช้ย้อนหลังจนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม โดยที่ผ่านมาแม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 76 - 77 ปี แต่ก็ประเทศก็ยังไม่ถือว่า เป็นนิติรัฐตามความหมายดังกล่าว 


"เพราะในการปกครองมีรัฐประหารถึง 19 ครั้ง ซึ่งสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด คือหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ก็ยังทำให้เห็นว่าหลักนิติรัฐหายไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อไม่มีนิติรัฐแล้ว ก็ทำให้ ไม่มีการยึดหลักนิติธรรม แล้วเกิดปัญหามีอำนาจของรัฐาธิปัตย์หลังการยึดอำนาจ รวมทั้งเกิดกระบวนการตั้งคณะตรวจสอบกับผู้ที่ถูกโค่นล้มอำนาจ โดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะมีการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ใช่ศาล แต่เป็นลูกน้องของผู้ยึดอำนาจขึ้นมา รวมทั้ง เกิดการตัดสินลงโทษในแบบที่ทำลายสิทธิการให้การของผู้ถูกกล่าวหา เช่นกรณียุบพรรค ที่นำมาสู่ตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงมติของประชาชนทั้งประเทศ ทำลายหลักประชาธิปไตย เกิดกลไกล้มรัฐบาลเดิม แล้วบีบ และเกลี้ยกล่อมให้มีรัฐบาลใหม่ไปในทิศทางที่ต้องการ" นายจาตุรนต์ กล่าว 


ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ กล่าวถึงการคืนความเป็นนิติรัฐว่า ตนคิดว่าจำเป็นที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องนี้

เพราะเป็นเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วเข้าใจและปฏิบัติมาช้านานแล้ว จำเป็นที่ต้องมีกระบวนการเคลื่อนไหวผลักดันขององค์กรวิชาการ องค์กรประชาธิปไตยและในรัฐสภา โดยชี้ปัญหาข้อบกพร่องจากความไม่เป็นนิติรัฐ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา ขณะที่เรื่องของตุลาการภิวัฒน์ต้องมีการทบทวนแนวคิดเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะต้องยุติความเป็นตุลาการภิวัฒน์ที่ถูกบิดเบือนไปมากแล้ว และจัดทำโครงสร้างตุลาการเสียใหม่ตามหลักปราชิปไตย คือ ฝ่ายตุลาการที่ต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประชาชนที่จะถูกตรวจสอบได้เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ ขณะที่การดำเนินคดีต่างๆ ต้องมีการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เช่น กรณีการดำเนินคดีบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ


นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ภาวะเศรษฐฏิจที่มีปัญหา จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจและเรียนรู้ได้ว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาธิปไตยนั้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้

โดยเมื่อประชาชนอยากเปลี่ยนเป็นพรรคอื่นก็ไม่ได้ เพราะพรรคถูกยุบหมด โดยกลไกของรัฐธรรมนูญ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาพูดถึงเรื่องไม่เป็นประชาธิปไตย โดยส่วนตัวเชื่อว่า รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติได้ เพราะปัญหารุนแรง ขณะที่รัฐบาลผสมมีที่มาไม่ชอบธรรม มีการต่อรองผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา และปัญหาความไม่เป็นนิติรัฐ ขาดหลักนิติธรรม ก็ยังเป็นปัญหาซ้อนอยู่ ดังนั้นทางออกคือต้องทำความเข้าใจในหลักนิติรัฐ และมีการรณรงค์ในระยะยาวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหน้าที่ในการให้ความรู้ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายวิชาการ ส่วนหน้าที่ในการรณรงค์ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรทางการเมือง แต่จะหวังให้แก้ไขในเร็วๆ นี้คงยาก จะต้องมีการผลักดันให้สร้างความรู้ และมีการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย


ส่วนการปฏิวัติจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า พูดวันนี้คนคงบอกว่าเป็นเรื่องตลกเพราะกองทัพเป็นคนตั้งรัฐบาลนี้ขึ้นมาเองกับมือ ก็คงไม่เกิดรัฐประหารง่ายๆ

แต่รัฐบาลแบบนี้จะให้เป็นที่พอใจของผู้นำกองทัพเรื่อยไปในรุ่นต่อไปก็คงไม่ได้ ดังนั้นในอนาคตประเทศไทยก็ยังคมมีความเสี่ยงในการยึดอำนาจอยู่ดี แต่ตอนนี้ยังไม่จำเป็น เพราะเหตุการณ์ 19 ก.ย.49 ได้ส่งผลสมบรูณ์จนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว แต่อนาคตรัฐบาลชุดนี้อ่อนแอ มีการทุจริตคอรัปชั่นมากๆ อาจจะเกิดการยึดอำนาจก็ได้แล้วจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญอีก แต่มีปัญหาว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญใหม่แล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องนิติรัฐ นิติธรรมวันนี้จึงต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนอย่างต่อเนื่องอีกมากเพื่อให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยโดยสันติวิธี 


ขณะที่นายคณิน อดีต สสร. กล่าวว่า หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ทำให้หลักนิติรัฐบกพร่องไป

เมื่อมีการเขียนกฎหมายขึ้นใหม่แบบ one man law แล้วมีการบังคับใช้กับทุกคน แล้วเกิดกระบวนการยุติธรรรมใหม่ ที่เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมการเมือง ที่มีการตั้งองค์กร คณะบุคคลตรวจสอบจนนำซึ่งตุลาการภิวัฒน์ และความขัดแย้งของบุคคลที่มีอำนาจ ซึ่งหลังจากเกิดการบังคับใช้ที่ไม่เป็นนิติรัฐ ทำให้เห็นความผิดเพี้ยน 3 ประการ คือ 1.เกิดยุติธรรมทางเดียว ที่มีการดำเนินคดดรีทางเมืองกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่ถูกยึดอำนาจ 2. เกิดการขัดแย้งของผู้มีอำนาจโดยมีการใช้อำนาจตุลาการอย่างมากเข้ามายุติปัญหาทางการเมือง 3.ผู้ที่มีอำนาจวินิฉัยและตัดสินคดี ดูเสมือนว่ามีการใช้อำนาจอย่างมาก เช่น การตัดสินคดียุบพรรค ถือได้ว่าทำให้เกิดการล้มรัฐบาล ซึ่งในต่างประเทศกระบวนการถอดถอนรัฐบาล จะทำได้ด้วยอำนาจของ ส.ว. และ ส.ส. โดยไม่มีประเทศให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้มรัฐบาล และการใช้อำนาจดังกล่าวยังขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ว่า ควรจะต้องสันนิษฐานก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหา ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ที่ผ่านมาก่อนการตัดสินกลับมองว่าผู้ถูกกล่าว คือผู้ที่กระทำผิด 


"ดังนั้นความเป็นนิติรัฐ จะคืนมาได้ ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรธน. ปี 50 ทำลายนิติรัฐ โดยเฉพาะมาตรา 68 วรรคสี่ มาตรา 237 วรรคสองในคดียุบพรรคและการตัดสิทธิ์การเมือง ที่เปิดช่องให้ตุลาหารเข้มาก้าวล่วงจัดการทางการเมือง ขณะเดียวกันต้องทบทวนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะล้มรัฐบาล และต้องมีการแก้ไขกระบวนการออกกฎหมาย ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเสนอให้ตัวเองมีอำนาจในการพิจารณากฎหมายหลังมีการเสนอต่อสภา อันเป็นการสร้างอำนาจตุลาการให้ครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติทั้งกระบวนการ นอกจากนี้ต้องให้ทบทวนมาตรา 309 ที่เป็นการนิรโทษกรรมผู้ยึดอำนาจด้วย" นายคณินกล่าว


ด้านนายสมชาย กล่าวว่า ความสงบและนิติรัฐไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ตราบใดที่รัฐบาลนี้ไม่สามารถนำคนที่ยึดสนามบินมาลงโทษตามกฎหมายได้ ก็ไม่มีสิทธิ์ห้ามคนอื่นชุมนุมบนท้องถนน

ซึ่งตนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐบาลคือประชาธิปไตยที่ไม่มีความเสมอภาค และอำนาจอมาตยาธิปไตยยังนำหน้าอยู่ คุมทั้งรัฐสภา องค์กรอิสระ ขณะที่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายสมัคร สนุทรเวช ก็ไม่ได้ล้มลงเพราะประชาชนหรือฝ่ายค้าน แต่ล้มเพราะอำนาจอมาตยาธิปไตย รวมทั้งการตัดสินคดีและรัฐบาลที่เกิดขึ้นก็อยู่บนพื้นฐานของการเมืองแบบอภิสิทธิ์ชน คือการจัดตั้ง การดำรงอยู่ของรัฐบาล เป็นผลมาจากพลังอภิสิทธิ์ชน และรัฐบาลพรรรคประชาธิปัตย์ก็เกิดขึ้นมาโดยไม่มีฐานเสียงซึ่งตนเชื่อว่านโยบายของรัฐบาลนี้จะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นมา เพราะจะไปกระทบผลประโยชน์ของอมาตยาธิปไตยที่โอบอุ้มรัฐบาลอยู่

ขณะที่นโยบายทางเศรษฐกิจก็เต็มไปด้วยความสับสน อาทิ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ประกาศบนเวทีดาวอสว่าไทยมีเศรษฐกิจพอเพียง แต่กลับมีนโยบายแจกเงิน 2,000 ให้กับประชาชน ซึ่งสวนทางกัน นั่นเพราะนายอภิสิทธิ์เองมีความสับสน และได้รับแรงกดดันจากหลายฝ่ายไม่ว่าใครพูด ก็ต้องรับลูกหมด จนเหมือนไร้ทิศทาง บทบาทที่เหมาะสมควรเป็นโฆษฏรัฐบาลมากกว่านายกรัฐมนตรี เพราเป็นคนที่พูดแล้วไม่ก่อให้เกิดศัตรู ขณะที่การเป็นผู้นำต้องมีนโยบายที่มีทิศทางและต้องกล้าที่จะดำเนินตามนโยบาย 


"อย่างไรก็ตามการคืนนิติรัฐให้สังคมไทยนั้นต้องเริ่มโดยการปกครองของรัฐโดยใช้กฎหมายที่เป็นธรรม กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม รวมทั้งต้องให้มีการเข้าถึงกระจายทรัพยากรอย่างเสมอภาค โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยให้ทำหน้าที่ตามบทบาท"นายสมชาย กล่าว


ขณะที่ นายธีระ กล่าวว่า ทุกวันนี้การออกกฎหมาย ร่างกฎหมาย เนื่องหากฎหมาย รวมทั้งการบังคับใช้กำหมายล้วนขาดนิติรัฐทั้งสิ้น บรรทัดฐานกฎหมายไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่นการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฯ ซึ่งต้องยอมรับว่าการพิพากษาตัดสินของศาลไม่มียุคไหนถูกตั้งคำถามถึงความยุติธรรมมากเท่ายุคนี้
"การคืนนิติรัฐนั้นต้องเริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญในหลายมาตราที่ลิดรอนความเป็นนิติรัฐ โดยยกเลิกมาตรา 309 และแก้ไขมาตรา237 รวมทั้งต้องกดดันให้ยกเลิกประกาศคปค. ที่ 27 ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายต้องให้ทุกองค์กรทั้งราชการ และองค์กรอิสระกดดันให้เป็นไปอย่างเสมอหน้ากัน จะต้องไม่มีเหตุผลมาอธิบายว่าเพราะอะไรจึงจะใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอภาค โดยการไม่มีนิติรัฐนั้นไม่ได้กระทบเฉพาะกับผู้ที่ถูกกฎหมายบังคับอยู่เท่านั้น หรือระบบการเมืองเท่านั้น ดังนั้นขอให้ทุกคนร่วมมือกันที่จะเริ่มสร้างกระบวนการต่างๆเพื่อสร้างนิติรัฐในสังคมไทย"นายธีระ กล่าว


ขอบคุณเนื้อหาข่าวคุณภาพจาก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์