ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (5 ก.พ.)มีพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม
ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 238 ต่อ 40 เสียงรับหลักการร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่..)พ.ศ....ที่เสนอโดยส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวม 5 ฉบับ โดยส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงคะแนน ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ(ฉบับที่..)พ.ศ.... ทั้ง 5 ฉบับ คือ ให้มีคณะกรรมการขึ้นมากำหนดหลักเกณฑ์ ดูแลการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ครอบคลุม ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อคืนวันที่ 4 ก.พ. ที่มีการเริ่มพิจารณาไปแล้วเพียง 10 นาที
นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เสนอให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อเมื่อเวลา 22.20 น. เนื่องจากเป็นร่างพ.ร.บ.ที่มีความสำคัญ พร้อมระบุว่า มีส.ส.กดบัตรแทนกัน โดยได้ตรวจสอบไปยังส.ส.คนหนึ่งซึ่งยอมรับว่าไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมแต่อยู่ในพื้นที่ แต่นายชัย ขอเลื่อนการประชุมและสั่งปิดประชุมทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ช่วงเริ่มการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ นายประชา ได้หารือถึงปัญหาที่ค้างมาจากเมื่อ คืนวันที่ 4 ก.พ.
โดยระบุว่า นายตุ่น จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม แต่กลับมีการแสดงตน ซึ่งพ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้นายประชา ทำหนังสือถึงประธานสภา ให้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป จากนั้นประธานได้สั่งให้นับองค์ประชุมด้วยการเสียบบัตร ผลปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ในห้องประชุม 249 คน ถือว่าครบองค์ประชุม แต่ปรากฏว่า นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้ปิดอภิปรายร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ถูกส.ส.พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วงนานกว่า 30 นาที โดยนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ขอให้เปิดอภิปรายต่อ โดยระบุว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ เป็นกฎหมายการเงิน ควรให้นายกฯลงนามรับรองก่อนนำเข้าสู่สภา
ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายชินวรณ์ บุณญเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ตกค้างมาจากสภาชุดที่แล้ว โดยเสนอเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 51 มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาขณะนั้นทำหน้าที่รักษาการประธานสภา ซึ่งประธานฯมีอำนาจวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 143 ดังนั้นเมื่อมีการบรรจุวาระเข้าที่ประชุมสภาแล้ว ก็ถือว่าเลยขั้นตอนการวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่
ในที่สุดที่ประชุมได้มีการลงมติให้ปิดอภิปรายด้วยคะแนนเสียง 228 ต่อ 40 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 2
จากนั้นได้ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.นี้ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 238 งดออกเสรียง 6 ไม่ลงคะแนน 6 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 54 คน โดยที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งส.ส.และไม่ได้เสนอชื่อเอ็นจีโอในสัดส่วนพรรคเพื่อไทยร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ ทำให้คณะกรรมาธิการเหลือเพียง 42 คน