"หมอเลี้ยบ"แนะทางแก้ดึงเงินจากกระเป๋าไม่ใช่ยัดให้ปชช. "กรณ์"ยันคงคลังกว่า 5 หมื่นล้านไม่กระทบเงินเดือนขรก. เสนอขอครม.ไฟเขียวกู้นอก-ในใช้2.7แสนล.ฟื้นศก.-เสริมคล่องตัว ปลุก ธ.ก.ส.หนุนหลังช่วยรัฐบาล พท.คุยยุค"สมชาย-แม้ว" เงินคงคลังอื้อ
ยันคงคลังไม่กระทบเงินเดือนขรก.
นายกรณ์ จาติวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับปัจจุบันเหลือเงินคงคลังอยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่เป็นปัญหา และไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เนื่องจากมีเครื่องมือบริหารสภาพคล่องมากมาย และเงินภาษีก้อนใหญ่จะเข้าในเดือนพฤษภาคม
ในการให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมเแพค เมืองทองธานี นายกรณ์กล่าวกรณีกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 เพิ่มเติม แสดงความเป็นห่วงปัญหาเงินคงคลัง ขณะที่ปลัดกระทรวงการคลังยอมรับ ณ สิ้นธันวาคม 2551 มีเงินคงคลังเหลืออยู่ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาทว่า ที่ปัจจุบันเหลืออยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นเรื่องปกติในการบริหารจัดการเงินสด ที่บางช่วงจะมีรายได้จากเงินภาษีเข้ามาเป็นเงินคงคลัง ขณะที่ช่วงนี้เป็นช่วงก่อนเงินภาษีจะเข้ามา เงินคงคลังก็จะเหลือน้อย แต่ก็ไม่ถือเป็นปัญหา เพราะกระทรวงมีเครื่องมือมากมายในการบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในประเทศ เช่น การกู้เงินระยะสั้น นอกจากนี้รายได้จากเงินภาษีก็มีเข้ามาเรื่อยๆ แต่ก้อนใหญ่จากภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเข้ามาในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่มีผลต่อการเบิกจ่ายเงิน และการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ
คลังเสนอขอครม.ไฟเขียวกู้นอก-ใน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สัปดาห์หน้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการพิจารณากรอบวงเงินกู้ 2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการแหล่งเงินทุนระยะสั้นของรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม การอนุมัติครั้งนี้เป็นเพียงวงเงินเท่านั้น ยังไม่มีการใช้จ่าย ตราบใดที่ยังไม่มีการกู้ นอกจากนี้ยังจะมีการเจรจาขอกู้ต่างประเทศ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารโลก และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) วงเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้ใช้สำหรับการฟื้นฟู และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ หลังการเบิกจ่ายงบกลางปี และส่วนหนึ่งยังจะใช้สำหรับเพิ่มทุนให้กับธนาคารของรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพ บทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การตั้งกองทุนค้ำประกันส่งออก ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้กี่แห่ง แต่ที่ขอมาก็มีทั้งธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยคลังได้เจรจากับสถาบันการเงินเหล่านี้แล้ว เหลือเพียงการเสนอให้ ครม.อนุมัติ และเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190
ใช้2.7แสนล.ฟื้นศก.-เสริมคล่องตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลัง จะเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ให้ความเห็นชอบการกู้เงินจากสถาบันการเงินและองค์กรระหว่างประเทศ 3 แห่ง วงเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และขอให้อนุมัติหลักการให้ความเห็นชอบจัดหาแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในประเทศและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ วงเงิน 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเพื่อเสริมความคล่องตัวให้กับการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศแก่รัฐวิสาหกิจให้สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง
"หมอเลี้ยบ"แนะทางแก้ดึงเงินจากกระเป๋าไม่ใช่ยัดให้ปชช.
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง กล่าวในการสัมมนาแนวทางธุรกิจ SME ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจปี 52 ว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกกระทบประเทศไทยรัฐบาลจะต้องรับฟังปัญหาและข้อมูลจากทุกฝ่าย และปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้เกิดจากประชาชนไม่มีเงิน หรือ สินค้าแพงที่ต้องแก้ไขแล้วไปเพิ่มเงินในกระเป๋า แต่ปัญหาเกิดจากความไม่มั่นใจในการใช้เงิน ทำให้ไม่เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ดึงเงินที่มีอยู่มาทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมั่นคงลดการพึ่งพาการส่งออก เน้นการท่องเที่ยวทางเดียวที่จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยได้เร็วที่สุด
ปลุก ธ.ก.ส.หนุนหลังช่วยรัฐบาล
ทั้งนี้ นายกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มอบนโยบายแก่ผู้บริหารธนาคารทั้งจากสำนักงานใหญ่ สำนักงานจังหวัด และสาขาทั่วประเทศกว่า 1,170 คน ในหัวข้อ "รวมพลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย" ที่อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมเแพค เมืองทองธานีว่า ธ.ก.ส.จะเป็นองค์กรสำคัญในการช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร โดยนโยบายภาครัฐที่จะมีผลต่อการทำงานของธ.ก.ส.มี 5 ส่วน ประกอบด้วย 1.งบกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการเอสเอ็มแอลของรัฐบาลในอดีต แต่จะมีการเพิ่มวงเงินให้อีก โดยทั้งหมด 7 หมื่นหมู่บ้านนั้น ได้รับเงินไปแล้ว 6 หมื่นหมู่บ้าน ก็จะเพิ่มให้ เช่น ได้ไปแล้ว 2 แสนบาท จะเพิ่มให้อีก 2 แสนบาท ส่วนที่ยังไม่ได้รับเงินเลย ก็จะให้พร้อมกันทั้ง 2 งวดทีเดียว โดยเงินส่วนนี้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาโครงการเศรษฐกิจชุมชน ธ.ก.ส.เข้ามีบทบาทในการช่วยชี้แนะ นำเม็ดเงินไปใช้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ส่งผลต่อประชาชนตามความตั้งใจรัฐบาล
เชื่อครม.หนุนซื้อหนี้ช่วยเกษตรกร
2.ธนาคารประชาชน เป็นนโยบายเดิมของรัฐบาลที่แล้วเหมือนกัน จะดำเนินการผ่านทั้งธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน ได้คุยกับทางออมสินแล้วในการปล่อยกู้ แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 3 หมื่นบาทต่อราย แต่ให้สมาชิกลงชื่อ โดยรัฐบาลพยายามหาวิธีเชื่อมเข้ากับกองทุนหมู่บ้าน 3.โครงการพักหนี้เกษตรกร ธ.ก.ส.มีโครงการนี้อยู่แล้ว เพราะสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.อยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณางบอุดหนุนกองทุนฟื้นฟูฯที่ขอมา 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการซื้อหนี้จาก ธ.ก.ส. หวังว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะสนับสนุน เพราะการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรถือเป็นวาระแห่งชาติ 4.การฝึกอาชีพให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริม และ 5.การแก้ไขปัญหาราคาพืชผลเกษตร ซึ่ง ธ.ก.ส.ก็เป็นกลไกหลักในการดำเนินการรับจำนำพืช 3 ตัว ในวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยคลังเป็นผู้ค้ำประกันให้อีกที รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มการค้ำประกันยางพารา และมันสำปะหลังด้วย และเพิ่มวงเงินค้ำประกันอีก 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาข้าวได้ปรับดีขึ้น ทำให้ใช้เงินประกันราคาต่ำลง ทำให้มีเงินที่จะค้ำประกันพืชเกษตรชนิดอื่นได้
เล็งค้ำประกันรายได้เกษตรกร
"อนาคตรัฐบาลกำลังพิจารณาว่า การค้ำประกันราคาสินค้าเกษตร เป็นมาตรการที่มีความเหมาะสมในระยะยาวหรือไม่ เพราะการแทรกแซงราคาตลาด สร้างปัญหาในการซื้อขายสินค้าเกษตร จึงอาจจะเปลี่ยนเป็นการหาวิธีค้ำประกันรายได้ให้กับเกษตรกรแทน กำลังหารือกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจะขยายโครงการทดลองของธนาคารโลกในการประกันภัยธรรมชาติ มาเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่า
นายกรณ์กล่าวว่า อีกเรื่องคือการส่งเสริมการออม รัฐบาลกำลังหาแนววิธีตั้งกองทุนบำเหน็จบำบาญแห่งชาติ ให้กับผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร นอกระบบประกันสังคม เพื่อให้ได้ประโยชน์การสมทบการออมเหมือนกับในระบบประกันสังคม
พท.คุยยุค"สมชาย-แม้ว" เงินคงคลังอื้อ
นายวรวัจน์ เอื้อภิญญากุล ส.ส.แพร่ กมธ.งบประมาณฯพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงเงินคงคลังที่ล่าสุดมีอยู่ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท ว่า ถ้าพูดถึงสถานการณ์ในขณะนี้จริงๆ รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเม็ดเงินก้อนสุดท้ายของประเทศกำลังจะหมดไปแล้ว แต่รัฐบาลใช้งบประมาณในนโยบายประชานิยมจำนวนมาก ที่รัฐบาลทำเช่นนี้ถือเป็นเกมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการหาเสียงปูทางในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ดิสเครดิตพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นผู้ดูแลกระทรวงในภาคการผลิต เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะยุบสภา ซึ่งประเด็นดังกล่าวพรรคร่วมเริ่มอึดอัดกับการใช้จ่ายงบของรัฐบาลเป็นอย่างมากแต่ไม่สามารถพูดอะไรได้ ที่รัฐบาลนำเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นเครื่องมือในการสร้างเครดิตให้กับตัวเอง
"สมัยรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เงินคงคลังเหลือเป็นแสนล้าน และสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นั้นยิ่งมีเงินคงคลังมาก ตัวเลขอยู่ที่หลายแสนล้าน การที่เงินคงคลังในรัฐบาลชุดนี้มีจำนวนเพียง 52,000 ล้านนั้น จึงยืนยันได้ว่าไม่ได้มีผลพวงมาจากรัฐบาลชุดก่อน แต่เป็นผลจากการใช้จ่ายเงินที่เกินตัวของรัฐบาลเอง" นายวรวัจน์กล่าว
นายวรวัจน์กล่าวว่า การที่รัฐบาลเร่งหาเงินโดยการเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันนั้นยิ่งเป็นการตอกย้ำปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้นประชาชนก็จะท่องเที่ยวน้อยลง ผู้ประกอบการก็จะได้รับความเดือดร้อน ส่วนการที่รัฐบาลบอกว่าจะมีการกู้เงินจากต่างปะเทศนั้นถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
กรณ์ยันคงคลังเหลือไม่กระทบเงินขรก.เล็งขอครม.อนุมัติกู้นอก-ใน พท.คุยยุคแม้วมั่งคั่งเงินคลังไม่ขาด
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง กรณ์ยันคงคลังเหลือไม่กระทบเงินขรก.เล็งขอครม.อนุมัติกู้นอก-ใน พท.คุยยุคแม้วมั่งคั่งเงินคลังไม่ขาด