ผู้ว่าฯกทม.ยันเดินรถไฟฟ้าข้ามสะพานตากสิน 15 พ.ค.ชัวร์

"สุขุมพันธ์" ระบุ กทม.เตรียมเปิดเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายรถสีลม ข้ามสะพานตากสิน 15 พ.ค.โดยวิ่งให้บริการฟรี ก่อนจะเก็บค่าบริการจริงหลังวันที่ 13 สิงหาคม เป็นต้นไป

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า
 
ความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลม จากสถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ตามที่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) รายงาน โดยการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ ก่อนจะเปิดให้บริการวันที่ 15 พฤษภาคม โดยจะวิ่งให้บริการฟรี จากนั้นจะเริ่มเก็บค่าบริการในวันที่ 13 สิงหาคม หลังจากวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ


ส่วนอัตราค่าโดยสาร ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่เรื่องนี้จะต้องนำเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้สมาชิกสภา กทม. พิจารณาความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีเวลาในการตัดสินใจอีกหลายเดือน แต่ยืนยัน กทม.จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

ด้านนายจุมพล สำเภาพล ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวว่า

กทม.จะต้องออกข้อบัญญัติเก็บค่าโดยสารเสนอสภา กทม. เชื่อว่า
จะสามารถออกมาทัน ก่อนที่จะคิดค่าบริการในวันที่ 13 สิงหาคม ทั้งนี้การกำหนดอัตราค่าโดยสารอยู่ระหว่างการหารือของบริษัทกรุงเทพธนาคาร ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม.กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้


แต่เบื้องต้นมีแนวทางการคิดค่าเข้าระบบทางบริษัท บีทีเอส 15 บาท ส่วนค่าแรกเข้าระบบของ กทม. 5 บาท ส่วนระบบตั๋วร่วม ขณะนี้ยังติดปัญหา เพราะกทม.ต้องหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง เพื่อออกกฎกระทรวงมารองรับ อ

ย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถเจรจาเพื่อดำเนินการได้ทัน กทม.อาจใช้เส้นทางของทางราชการแจ้งให้ทราบ นอกจากนี้ ในการว่าจ้างบริษัทบีทีเอส เดินรถนั้น กทม.จะดำเนินการว่าจ้างแบบปีต่อปี คิดตามระยะทางที่วิ่งจริงเป็นกิโลเมตร โดยเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่บริษัทบีทีเอส วิ่งในขณะนี้ คือ 4 หมื่นเที่ยว 1,400 กิโลเมตร คิดเป็นอัตราค่าจ้าง 20 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละกว่า 200 ล้านบาท


รายงานข่าวแจ้งว่า

สำหรับการจัดเก็บรายได้ตามสิทธินั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาใน 3 แนวทาง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับประชาชน ได้แก่

1.เก็บตามระยะทางแบบที่บีทีเอสดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
 
2.เก็บแบบข้อที่หนึ่ง แต่เพิ่มอัตราช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในระบบของ กทม. เพราะถือว่าเป็นอุปสรรคและใช้ต้นทุนในการก่อสร้างสูงเป็นไปตามหลักสากล ที่ฮ่องกงก็ใช้การหลักการนี้


และ 3.การเก็บอัตราคงที่

โดยทั้ง 3 หลักการ กทม.จะต้องตัดสินใจภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ว่าจะเลือกใช้วิธีการใด เพื่อนำหลักการไปเจรจากับบริษัทบีทีเอส และจัดหาระบบตั๋ว หรือ เอเอฟซี (Automatic Fare Collection) เพื่อนำมาเขียนโปรแกรมการจัดเก็บรายได้ต่อไป


ส่วนอัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 15-45 บาท อย่างไรก็ตามการจัดเก็บค่าโดยสารของ กทม.จะต้องผ่านการพิจารณาจากสภา กทม.ในการออกข้อบัญญัติการจัดเก็บค่าโดยสาร เพื่อนำมากำหนดค่าโดยสารต่อไป สำหรับการตั้ง เคลียร์ เฮ้าส์ นั้นต้องขออนุญาตจากกระทรวงการคลังก่อน โดยนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. จะเข้าหารือกับร่วมกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันที่ 29 มกราคมนี้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์