เหตุการณ์สภาล่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งจะเปิดได้เพียงวันแรกและวันที่สอง ของการประชุมสภาสมัยสามัญ รัฐบาลก็ถูกฝ่ายค้านเล่นเกมตีรวน จนตั้งตัวไม่ติด มีการนับองค์ประชุมบ่อยครั้ง
ดูจะไม่เป็นธรรมนักหากจะตัดสินว่า ประธานวิปรัฐบาลป้ายแดง ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ไม่แข็งพอ ที่ไม่สามารถคุมเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้
หากจะไล่เรียงสาเหตุก็มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ การเมืองยังไม่นิ่ง จิตสำนึกและความรับผิดชอบของส.ส.รัฐบาลทุกคนที่จะต้องตระหนักร่วมกัน ยังไม่เกิดขึ้น
อีกทั้งพรรคการเมืองที่เคยครองอำนาจมาถึง 8 ปีเต็ม ย่อมไม่ต้องการสูญเสียอำนาจของตัวเอง
จึงมีการเสนอให้ประธาน นับองค์ประชุมพร่ำเพรื่อ
เกมนิติบัญญัติช่วงชิงความได้เปรียบจากรัฐบาลแบบนี้ เป็นเกมที่ง่าย ไม่มีต้นทุน เพียงแต่อาศัยความเข้มแข็งของหน้าตาบ้างเท่านั้น
ขนาด ปู่ชัย ชิดชอบ เองยังต้องทำใจ ระคนเหนื่อยหน่าย
“หากล่มบ่อย รัฐบาลก็ต้องยุบสภาไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาร้องขอให้ยุบสภา ดังนั้น รัฐบาลต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว” ปู่ชัยพูดเตือนสติ ส.ส.ซีกที่เป็นรัฐบาล แต่ไม่อยากมาประชุมสภา
นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า การก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างของรัฐบาลนั้นไม่ปกติธรรมดา แตกต่างจากสมัยรัฐบาลชวน 2 ที่ "อู๊ดด้า" จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธานวิปรัฐบาล
วันนั้นต้องเรียกว่า เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ "ของจริง"
วันนั้น รัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเพียง 18 เสียงเท่านั้น แต่องค์ประชุมก็ไม่เคยมีปัญหา
ก็อาจจะพูดได้ว่า เป็นเพราะฝ่ายค้านไม่ตีรวนตั้งแต่เริ่มยกแรก
ปล่อยให้รัฐบาลทำงานหนักมากกว่าเดิมเป็นสิบเท่าในการประสานสิบทิศ เพื่อนำพาชาติบ้านเมืองพ้นจากหายนะเศรษฐกิจ
จำนวนเสียงในวันนั้น เทียบไม่ได้กับวันนี้ ที่รัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านกว่า 40 เสียง !!
ภารกิจก็แทบไม่ต่างกัน เพราะรัฐบาลจะต้องนำพาชาติบ้านเมืองให้พ้นหายนะเศรษฐกิจเช่นกัน
แต่เพียงแค่เริ่มแรก "จุดอ่อน" ก็ถูกเผยออกมาเสียแล้ว
เป็นจุดอ่อนที่เรียกได้ว่า อันตรายอย่างยิ่ง
เพราะขนาดประชุมสภา มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านถึง 40 เสียง แต่กลับปล่อยให้สภาล่มไม่เป็นท่า
เสียราคาคุย ที่ก่อนหน้านี้บีบ-บี้ให้ ช่อง 11 ถ่ายทอดสด เพราะมั่นใจในเสียง จนกลับกลายเป็นว่า ประจานการทำงานของผู้ทรงเกียรติที่อยากเพียงแค่ได้เป็นรัฐบาล
แต่เรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะไม่ได้มีการป้องกันกันมาก่อน
"กฎเหล็ก" ให้ ส.ส. วิปรัฐบาล 1 คนคุมเสียง ส.ส. 5 คนนั้นเป็น "ยาดี" ในช่วง "ม้าตีนต้น"
แต่เมื่อนานไปความผ่อนคลาย บวกกับความชะล่าใจ ทำให้ละเลยกฎเหล็กที่ว่า
น่าเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้ อาจเกิดขึ้นได้อีกซ้ำซากเป็นบทเรียนที่เรียนกันแบบไม่รู้จบ
อย่าลืมว่า การนำพาชาติบ้านเมืองให้พ้นหายนะนั้น สภาหรือ รัฐสภา จะต้องร่วมมือกับฝ่ายบริหาร เพื่อออกกฎ ระเบียบ หรือกระทั่งกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือนำพาไปให้ถึงเป้าหมาย
กฎหมายที่ว่านั้นย่อมเป็นกฎหมายพิเศษ ไม่ใช่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ที่ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ต่างก็มีส่วนได้-เสีย ในการแบ่งสันปันส่วนให้ "ไอติม" ลงไปยังพื้นที่ของตนเองมากที่สุด
การพิจารณากฎหมายงบประมาณจึงไม่เคยมีเหตุการณ์ "สภาล่ม" มาก่อน
รัฐบาลจะทำอย่างไรกับเกมอันไร้ต้นทุนในสภา ที่ฝ่ายค้านนำมาใช้
อำนาจและบารมีของ "ประธานวิปรัฐบาล" ในวันนี้มีมากพอที่จะงัดไม้เด็ดมาโอ้โลมปฏิโลมแกนนำ-สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลให้ร่วมมือร่วมใจร่วมประชุมสภาอยู่หรือไม่
เพราะนี่แค่เกมยกแรก ยังไม่รวมกับเกมที่จะเกิดขึ้นในภาวะที่เหตุการณ์สำคัญ หรือเรื่องสำคัญๆ จะเข้าสู่การพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน, การบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ จำนวน 139 ไร่, โครงการฝายแม้ว ฯลฯ
ทุกเรื่องทุกปัญหาขมวดปมเข้ามาทุกขณะ จนน่ากลัวว่า ที่สัญญาไว้ว่า 90 วันเห็นผลงานนั้น เอาเข้าจริงน่าจะขอ "ต่อวีซ่า" ออกไปอีกกระมัง !