"มาร์ค" ยันเดินหน้าเก็บภาษีที่ดิน-มรดก แต่ออกตัวต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะคลอด มั่นใจล้างกฎหมายอาถรรพ์ได้ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หนุน ยันผู้ประกอบการพร้อมจะจ่าย ขณะที่รองประธาน สป.-นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ชี้ยังไม่ถึงเวลาต้องทำ แนะให้รอเศรษฐกิจฟื้นก่อน "เพื่อไทย" เชื่อแค่โปรโมต หวังเบี่ยงประเด็น
"มาร์ค"ลุยภาษีที่ดิน-มรดก
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 มกราคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ” ครั้งที่ 2 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเอ็นบีที และเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พร้อมตอบคำถามนางสู่ขวัญ บุลกุล พิธีกร และตอบข้อซักถามจากประชาชนทางบ้าน โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงแนวคิดการยกร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และ พ.ร.บ.ภาษีมรดก เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล ว่า เป็นเรื่องของโครงสร้างที่จะต้องมีการปรับปรุงเพราะภาษีทรัพย์สินเป็นภาษีที่จะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมได้มาก ความได้เปรียบเสียเปรียบของคนในสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากเรื่องทรัพย์สินและเรื่องมรดก
นายกฯกล่าวว่า ปัจจุบันมีภาษีอยู่ 2 ตัว คือ ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือน แต่เป็นภาษีที่จัดเก็บได้น้อยมากและยังไม่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น แนวคิดเรื่องการมีภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สินมีมานานแล้ว แม้กระทั่งครั้งสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ตนเป็นรัฐมนตรีอยู่ก็มีการเสนอมาเพียงแต่รายละเอียดยังไม่เรียบร้อย หลักก็คือว่าควรจะต้องมาจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินเป็นฐาน และรายได้ตัวนี้ จะเป็นรายได้สำคัญของท้องถิ่น แต่จะต้องมีข้อยกเว้นสำหรับทรัพย์สินที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัย และควรจะมีมาตรการ ที่ทำให้คนที่สะสมที่ดินมากๆ และไม่ได้ใช้ประโยชน์ ต้องจ่ายภาษีให้มาก หลายประเทศใช้กลไกตัวนี้ จนในที่สุด ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน
คาดใช้เวลาเป็นปีกว่าจะคลอด
"ตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมถือเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่คงไม่สามารถผลักดันออกมาได้ในเดือน 2 เดือนนี้เพราะต้องไปทำกฎหมาย กรอบเวลากว่าจะดำเนินการได้นั้นก็คงเป็นปี แต่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราควรจะเริ่มต้น ควรจะทำ ส่วนภาษีมรดก จะยุ่งยากกว่า เพราะในหลายประเทศขณะนี้ มีการทบทวนเรื่องของภาษีมรดกอยู่ ความยากจะไปอยู่ที่การเขียนในเรื่องข้อยกเว้นต่างๆ ซึ่งควรจะมี เช่น มรดกที่ไม่ได้เยอะจนเกินไป ก็ไม่ควรจะไปเก็บภาษี หรือที่มีการโอนเข้าสู่มูลนิธิบ้าง หรือมีการโอนให้ก่อนบ้าง อะไรต่างๆ อันนี้จะเป็นจุดที่จะต้องมีการไปศึกษา เรื่องนี้คงจะยุ่งนานกว่าภาษีที่ดิน" นายกฯกล่าว
เมื่อถามว่า คนที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับภาษีมรดกมักบอกว่าในบางประเทศทำให้เกิดปัญหาสังคม นายกฯกล่าวว่า คิดว่าอยู่ที่ข้อยกเว้น ตนคิดว่าค่านิยมในสังคมของเรา ที่บอกว่าเราเองทำงานและก็เก็บเงินไว้ให้ลูกหลานก็เป็นค่านิยมที่ดี แต่ว่าเท่าไหร่ที่จะให้ลูกหลาน ตัวอย่างเช่น ต้องเก็บไว้ให้จนถึงพันล้านบาทเลยหรือ มันคงไม่ใช่ แต่ถ้าเกิดสมมติว่าอยู่ในระดับที่เราคิดว่าเหมาะสม ก็ยกเว้นให้ สมมติว่า 100 ล้านหรือเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ก็เป็นไปได้ อันนี้อยู่ในรายละเอียด ตัวอย่างที่ยกเป็นตัวเลขมาคือพูดลอยๆ ให้เห็นภาพแค่นั้นเองว่าสามารถที่จะไปดูแลแก้ไขได้ แต่จะไปปฏิเสธหลักการของมันเสียเลย คงจะไม่ถูกต้องนัก ยกตัวอย่างกรณีที่ดิน ทำไมถึงจะปล่อยให้มีการสะสมที่ดินโดยคนกลุ่มน้อย ขณะที่มีราษฎร ประชาชน เกษตรกร ร้องเรียนมาตลอดว่า ไม่มีที่ทำกิน
มั่นใจล้าง กม.อาถรรพ์ ได้
นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงแนวคิดการออกฎหมายภาษีที่ดินว่า เป็นการปรับปรุงระบบภาษีโรงเรือนและภาษีท้องที่เข้าด้วยกัน โดยจะต้องประเมินตามมูลค่าทรัพย์สิน แต่ยกเว้นให้กับที่ดินที่ทำเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะต้องใช้อัตราภาษีก้าวหน้า หลักการมีแค่นี้ โดยจะต้องมีขั้นต่ำและข้อยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่ม ที่มีที่ดินไม่มากนัก ผู้สื่อข่าวถามว่าฝ่ายค้านปรามาสว่ารัฐบาลไม่กล้าเดินหน้าเรื่องนี้แน่เพราะจะเกรงใจนายทุน นายอภิสิทธิ์ยิ้มเล็กๆ ก่อนกล่าวว่า เราก็เดินหน้าอยู่ มาตรการทุกเรื่องต้องมีคนถูกใจและไม่ถูกใจ แต่เราต้องเดินหน้าในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คิดว่าท้ายที่สุด คนที่ได้รับผลกระทบจะยอมรับได้ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง
"เมื่อก่อนเขาก็บอกว่ามีกฎหมายอาถรรพ์หลายเรื่อง สมัยหนึ่งก็มีคนบอกว่ากระทรวงแรงงานมีอาถรรพ์ตั้งไม่ได้หรอก สุดท้ายก็ยังตั้งได้ สิ่งอะไรที่จำเป็นต้องทำ เราก็เดินหน้าทำ ผมคิดว่าในที่สุดประเทศไทยต้องมีกฎหมายนี้ และรัฐบาลก็เดินหน้าทำ และตั้งใจให้เสร็จในสมัยนี้" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะออกกฎหมายภาษีที่ดิน ว่า เป็นสิ่งดีที่น่าทำ และทุกฝ่ายควรให้การสนับสนุน เพราะหากไม่เริ่มทำวันนี้ เมื่อไรนโยบายเรื่องนี้จะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะขณะนี้ประเทศไทย มีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็จะทำให้มีช่องว่างมากขึ้นไปเรื่อยๆ
บ.อสังหาพร้อมจ่ายภาษีที่ดิน
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า กรณีจะมีการเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน จะไม่กระทบกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้เมื่อซื้อที่ดินมาแล้ว จะใช้หมุนเวียนพัฒนาโครงการประเภทต่างๆ หรือหากมีที่ดินที่ซื้อสะสม (แลนด์แบงก์) ไว้ ส่วนใหญ่จะถือครองกันไม่เกิน 1-2 พันไร่ อยู่ในวิสัยที่ผู้ประกอบการจะนำเงินมาจ่ายภาษีให้รัฐได้อยู่แล้ว หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเรียกจัดเก็บ
"เชื่อว่าภาครัฐจะสามารถผลักดันกฎหมายดังกล่าวได้เป็นผลสำเร็จ และจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากปัจจุบันมีที่ดินที่ทิ้งรกร้างนับล้านไร่ทั่วประเทศไม่ได้นำใช้ให้เกิดประโยชน์เศรษฐกิจ" นายทองมากล่าว
รองปธ.สป.ให้รอศก.ฟื้นก่อน
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า การหารายได้ของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะเป็นแนวทางที่ดี แต่เห็นว่ายังไม่ควรดำเนินการในขณะนี้ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจึงค่อยนำมาพิจาณา เพราะยังมีเครื่องมืออีกหลายด้านให้เลือกทำได้ เช่น จัดเก็บภาษีจากการก่อมลภาวะ ดังนั้นต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการ นโยบายที่ดี ควรถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา
"ขณะนี้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกัน ภาคเอกชนเองก็ลำบากมากแล้ว อะไรที่ช่วยกันได้ก็ต้องประคับประคองกันไปก่อน การกระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นสิ่งที่ต้องทำแต่ก็ทำได้หลายอย่าง เช่น พัฒนาระบบสาธารณูปโภคกระจายไปทั่วประเทศ เส้นทางคมนาคมให้สะดวกมีต้นทุนในการเดินทางลดลง การพัฒนาด้านการศึกษา หากสิ่งเหล่านี้ดีขึ้น ความเหลื่มล้ำทางรายได้จะดีขึ้น" นายวรพลกล่าว
ธ.โลกแนะให้"อปท."จัดการ
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจะเก็บภาษีอะไรเพิ่มคงลำบาก แม้ว่าแนวทางการจัดเก็บภาษีมรดกจะเก็บจากคนมีฐานะ แต่คงไม่กระทบต่อกลุ่มดังกล่าวมากนัก และคงต้องดูว่าเมื่อจัดเก็บแล้วจะช่วยได้หรือไม่ หรือควรรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อนจึงค่อยดำเนินการ สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากดำเนินการก็ควรให้ อปท.เป็นผู้ดำเนินการ เพราะจะรู้พื้นที่มากที่สุดว่าใครทำอะไร ที่ไหน และหากเก็บได้ อปท. ก็จะมีรายได้พัฒนาท้องถิ่นโดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาลกลาง แต่ขณะนี้ต้องให้ อปท.ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ว่าภาษีดังกล่าวมาใช้พัฒนาท้องถิ่น ประชาชนก็จะยอมเสียภาษีเพราะมีการนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลต้องใช้เงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจจำนวนมาก ก็ต้องหาแหล่งรายได้ส่วนอื่นเข้ามาเสริม จึงเห็นด้วยกับแนวคิดกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และภาษีมรดก เพื่อให้มีฐานรายได้สูงขึ้น
พท.เชื่อเก็บภาษีที่ดินแค่โปรโมต
ที่พรรคเพื่อไทย นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคเห็นด้วยที่รัฐบาลจะออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก แต่สาระสำคัญคือการสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินและทรัพย์สิน ขอเอาใจช่วยรัฐบาลให้ทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ และขอให้เจรจาสำเร็จกับแกนนำพรรคประชาธิปัย์บางคนที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นเพียงการสร้างข่าวโปรโมตโฆษณามากกว่าที่จะทำจริงจัง เพราะเป็นการถอนขนห่านที่ส่งผลกระทบต่อแลนด์ลอร์ด นายทุน แนวร่วมเครือข่ายที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะออกมาต่อต้านผ่านกลุ่มก๊วนต่างๆ วันนี้ส.ว.ชนชั้นสูงก็ออกมาแล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นเพียงการเบี่ยงเบนประเด็นหาเสียงล่วงหน้าใช้เงินมากกว่าหาเงิน
อภิสิทธิ์ มั่นใจล้างกฎหมายอาถรรพ์ได้ ยันเดินหน้าเก็บภาษีที่ดิน-มรกด นักเศรษฐศาสตร์ชี้ยังไม่ถึงเวลา
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง อภิสิทธิ์ มั่นใจล้างกฎหมายอาถรรพ์ได้ ยันเดินหน้าเก็บภาษีที่ดิน-มรกด นักเศรษฐศาสตร์ชี้ยังไม่ถึงเวลา