แฉส.ส.โดดร่มประชุมสภา ส่วนใหญ่พวกอกหักเก้าอี้ รมต. วิปรบ.ล้อมคอกกันสภาล่ม ตั้งทีมงานให้ประกบ1:5


วิปรัฐบาลเต้น ถกเครียด 5 ชม.ล้อมคอกสภาล่ม ตั้งคณะทำงานจากทุกพรรค ให้ 3 ส.ส.ปชป.โทร.ตามจิก ส่งเอสเอ็มเอสติดตามตัวผู้แทน แบ่งงาน 35 กลุ่มคุมเสียง ย้ำเข้มงวดประกบ 1:5 ขู่เบี้ยวอีกแจ้ง หน.พรรคจัดการ "เพื่อไทย" ได้ที ต่อรองของบฯถนนปลอดฝุ่นแลกองค์ประชุม อ้างเหตุเกิดจากการดูถูกกัน และไม่ประสานเหมือนกับที่ รบ.เก่าเคยทำ

 
"อภิสิทธิ์"รับเหตุสภาล่ม"รบ.บกพร่อง"

รัฐบาลยอมรับเหตุสภาผู้แทนราษฎรล่ม ระหว่างการประชุมเมื่อ 22 มกราคม วันที่สองของการประชุมสภาฯสมัยสามัญทั่วไป เป็นความบกพร่องของฝ่ายรัฐบาลที่ไม่สามารถระดมเสียงจนครบองค์ประชุมได้ ขณะที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาล ออกมาตรการใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากขึ้นอีก

ในการให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะฝ่ายค้านมีสิทธิเสนอให้นับองค์ประชุมได้ตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่การประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็คิดว่าไม่น่ามีอะไรขัดแย้ง ทุกฝ่ายจะเห็นพ้องกัน แต่เมื่อฝ่ายค้านใช้วิธีนี้ รัฐบาลก็ต้องพร้อมรับและจะนำไปปรับปรุง เพราะการดูแลเสียงรัฐบาลเป็นหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ทั้งนี้ ส.ส.พรรคร่วมนัดพบกันในวันที่ 25 มกราคมนี้อยู่แล้ว คิดว่าหลังจากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คงได้ซักซ้อมทำความเข้าใจกัน การประชุมที่ผ่านมามักมีปัญหาช่วงเย็นวันพฤหัสบดี เนื่องจาก ส.ส.บางส่วนต้องเดินทางกลับพื้นที่ จึงต้องระมัดระวังมากขึ้น อาจจะต้องขอให้เปลี่ยนเวลาลงพื้นที่เป็นวันศุกร์แทน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้คุยกับนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ว่าเสียงที่หายไป เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์จำนวนเท่าไหร่

นายอภิสิทธิ์กล่าวตอบคำถาม เหตุสภาล่มที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลเล่นเกมหรือไม่ว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ปัญหาน่าจะมาจาก ส.ส.กลับพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาทำความเข้าใจกัน ผู้สื่อข่าวถาม การเสนอให้นับองค์ประชุมของฝ่ายค้านจะทำให้รัฐบาลทำงานได้ไม่ราบรื่นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกคนต้องรับผิดชอบ รัฐบาลก็ยอมรับว่าบกพร่องที่ไม่สามารถนำเสียงข้างมากมาประชุมให้ครบได้ แต่ฝ่ายค้านก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยว่าให้นับองค์ประชุมด้วยเหตุผลอะไร เพราะปกติการนับองค์ประชุมจะเกิดเมื่อมีเหตุขัดแย้ง เช่น รัฐบาลอยากผลักดันกฎหมายแต่ฝ่ายค้านไม่พร้อม หรือเรื่องบางอย่างที่ฝ่ายค้านคิดว่าหากประชุมต่อไปจะยับยั้งอะไรไม่ได้Ž พร้อมกับปฏิเสธว่า เรื่องนี้ไม่ใช่กงเกวียนกำเกวียน และคงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพราะมีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว

จี้วิปรบ.ควบคุมส.ส.ให้ดีกว่านี้

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คงพูดคุยกันนอกรอบถึงเรื่องนี้ ระหว่างเชิญ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมรับประทานอาหารเย็นที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ถนนวิทยุ ในวันที่ 25 มกราคม เชื่อว่า ส.ส.คงเข้าใจแล้วว่าเสียงของรัฐบาลมีน้อย ถ้าขาดไปพรรคละ 1-2 เสียง ก็จะทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ดังนั้น ต้องคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหา ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการคาดโทษส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลที่โดดประชุมสภาหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า  คงไม่ถึงขนาดนั้น นั่นมันเด็กเกินไป คงไม่มีใครทำ ส.ส.เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว มีความรับผิดชอบ เพียงแต่มันใกล้วันตรุษจีน ต่างคนต่างนึกว่าขาดตัวเองไปคน 1 คนคงไม่เป็นไร แต่เมื่อคิดเหมือนๆ กัน พร้อม ๆ กันหลายคน จึงเกิดเป็นเรื่องขึ้นมา เมื่อฝ่ายค้านเสนอให้นับองค์ประชุมบ่อยขนาดนี้ ส.ส.ทุกคนต้องตระหนัก และมีความรับผิดชอบมากขึ้น 
 
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  วิปรัฐบาลจะต้องหาแนวทางในการควบคุมส.ส. ให้ดีกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องานสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะร่างสนธิสัญญาต่างๆ ที่จะใช้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี) 2552 ที่จะขออนุมัติความเห็นชอบจากสภาในสัปดาห์หน้า
 
"คงไม่มีการคาดโทษส.ส. ที่ไม่เข้าร่วมประชุม และไม่อยากโทษว่าเป็นความผิดของพรรคนั้นพรรคนี้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกพรรคต้องร่วมกันรับผิดชอบ ไม่เว้นกระทั่งฝ่ายค้าน เพราะเป็นส.ส. ที่กินภาษีประชาชนเหมือนกัน และได้รับเงินเดือนเท่ากับส.ส. รัฐบาล" นายสาทิตย์กล่าว

"ชวน"ว่าส.ส.ประมาทไปหน่อย

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า องค์ประชุมสภามีโอกาสที่จะไม่ครบได้ แต่ปกติการนับองค์ประชุมจะทำเมื่อมีความจำเป็น เช่น กฎหมายสำคัญ แต่กฎหมายที่จะเข้าสภาเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา คือร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าเป็นกฎหมายสำคัญและมีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ จึงไม่คิดว่าจะมีการนับองค์ประชุม เพราะคนที่นับองค์ประชุมจะถูกกล่าวหาจากผู้สูงอายุว่า จะดึงกฎหมายนี้ แต่ที่ผ่านมาฝ่ายค้านก็ประกาศแล้วว่าจะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้รัฐบาลทำงานได้
 
"ดังนั้น เหตุการณ์สภาล่มก็ถือว่าเราประมาท เพราะเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องเตรียมตัว  ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้มาลากับผม เนื่องจากติดภารกิจในพื้นที่ ขณะที่นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ อาจติดภารกิจในช่วงเย็น เหตุการณ์ครั้งนี้ทางพรรคคงจะไม่มีการเตือน ส.ส. เพราะทุกคนตระหนักถึงการเข้าประชุมสภาผู้แล้ว และจากการสอบถามพบว่า ส.ส.หลายคน ลาการประชุม และไม่นึกว่าจะเปิดเหตุการณ์อย่างนี้  จึงถือว่าประมาทไปหน่อย จึงเรียนว่าอย่าไปนัดอะไรในช่วงเช้าวันศุกร์ ในต่างจังหวัด" นายชวน กล่าว

วิปรบ.ล้อมคอกตั้งคณะทำงาน
 
ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)เป็นประธานการประชุมวิปรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.00 น. เป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง จากนั้นแถลงว่า เหตุการณ์สภาล่มที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่เกิดความชะล่าใจ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการประชุมสภาฯสัปดาห์แรกและวาระท้ายๆ  เป็นเรื่องเพื่อรับทราบ ปกติจะไม่มีการเสนอให้นับองค์ประชุม หากพรรคฝ่ายค้านทำอย่างนี้บ่อยๆ จะถือว่าเป็นการป่วนสภาฯ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะได้ทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้ตระหนักว่าจะต้องมาหาหนทางในการทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้มแข็ง ในการดำเนินงานสภาฯ เดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ  เหตุสภาฯล่มนั้นเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล จึงได้มีมติเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยได้มอบหมายตัวบุคคลให้ดำเนินงานเรื่องการประสานงานด้านการเมือง

นายชินวัรณ์ กล่าวต่อว่า โดยรองประธานวิปรัฐบาลฯ ที่มีตัวแทนทุกพรรคมาเป็นคณะทำงานด้านการประสานงานด้านการเมือง ประกอบด้วย นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคชาติไทยพัฒนา นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย นพ.อลงกต มณีกาศ  ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อแผ่นดิน นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ ส.ส.พิจิตร พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายภิรมย์ พลวิเศษณ์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย นายสุวโรช พะลัง ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ โดยมี นายสุธรรม ระหงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายเลขานุการ นอกจากนี้จะมีคณะทำงานด้านกฎหมาย ที่ประกอบไปด้วยนายทิวา เงินยวง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ นายธนา ชีระวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติกรณ์ พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมกันทำงาน

กก.กลางตามโทร.จิก-เอสเอ็มเอส
 
ทั้งนี้ คณะทำงานด้านการควบคุมเสียง ส.ส. แบ่งเป็น 3 ส่วนประกอบด้วย  ฝ่ายประสานงานกลาง มอบหมายให้ นายธนิตพล ไชยนันท์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ ส.ส.ลพบุรี พรรคประชาธิปัตย์  นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะคอยประสานงานกับฝ่ายเลขานุการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารข้อมูล เช่น การใช้โทรศัพท์ เอสเอ็มเอส เพื่อติดตามตัว ส.ส.และแจ้งสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงให้ ส.ส.แต่ละคนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีมาตรการให้ตัวแทนวิปรัฐบาลควบคุมเสียงในอัตราส่วนวิปรัฐบาล 1 คนทำหน้าที่หัวหน้าผู้ควบคุมเสียงส.ส. 5  คน โดยวิปรัฐบาลที่ทำหน้าที่ควบคุมเสียง ส.ส.นั้นจะมีข้อมูล ส.ส.แต่ละคนอย่างละเอียด โดยการประชุมสภาฯครั้งต่อไปจะให้หัวหน้าที่ควบคุมเสียงแบ่งเป็น 35 กลุ่มแต่ละกลุ่มจะคอยส่งข้อมูลมายังศูนย์ประสานงานกลางพื่อให้ตนได้ใช้ในการตัดสินใจในแต่ละสถานการณ์การเมือง
 
"ถ้าส.ส.คนไหนไม่ดำเนินการตามมาตรการที่เราได้กำหนดไว้ ก็จะแจ้งไปยังหัวหน้าพรรคให้พิจารณาดำเนินงานกับ ส.ส.ของแต่ละพรรคอีกครั้ง และถ้าเกิดเหตุการณ์สภาฯล่มอีก ส.ส.ทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพราะก่อนหน้านี้ผมก็เห็นผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนอยากจะเข้ามาในสภาฯ ด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ยังอยู่ในสภาฯแค่ 2 วันไม่ได้ก็ต้องรับผิดชอบ" นายชินวรณ์ กล่าว

ส.ส.โดดร่มหลายคนอยู่กลุ่มอกหัก
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการนำมาตรการห้องเย็นที่เคยใช้ในสมัยรัฐบาลชวน 2 กลับมาใช้จัดการกับ ส.ส.ที่ไม่เข้าประชุมสภาฯ หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า  ยังไม่แน่ใจว่าจะนำเอามาตรการห้องเย็นกลับมาใช้อีกหรือไม่ แต่เบื้องต้นแกนนำพรรคและหัวหน้าพรรคต้นสังกัด ส.ส.แต่ละคนจะรับรู้ว่า ส.ส.ของพรรคคนไหนไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯบ่อยครั้ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้สภาผู้แทนฯล่ม  คือผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีไม่เป็นธรรม อาทิ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง รวมถึงนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน
 
นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาไม่มีปัญหาในการโดดประชุม ในอนาคตคงต้องพูดคุยกันในพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรการที่ฝ่ายค้านเล่นเกมการเมืองด้วยการนับองค์ประชุมบ่อยๆ คงไปว่าและห้ามอะไรไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน แต่ถ้าเล่นการเมืองบ่อยๆ ภาพพจน์การเป็นฝ่ายค้านก็คงไม่สวยนัก

เพื่อไทยได้ทีต่อรองขอเจียดงบแลก
 
นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์สร้างมาตรฐานเรื่องข้อบังคับและความพร้อมเพรียงองค์ประชุมไว้สูงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นจึงถือว่ามาตราฐานของพรรคประชาธิปัตย์ตกเอง สำหรับการประชุมรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบจากกรอบความร่วมมืออาเซียนระหว่างวันที่ 26-27 มกราคมนั้น หากรัฐบาลขอความร่วมมือมาฝ่ายค้านยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้วเพราะเป็นเรื่องประโยชน์ของประเทศชาติ
 
"การประชุมนัดแรกยังเกิดปัญหาสภาล่ม ผมมองว่าการประชุมกรอบความร่วมมืออาเซียนมีความเสี่ยงสูง เพราะสมาชิกที่ประชุมมีทั้งส.ส.และส.ว.จึงเท่ากับว่าจะต้องมีสัดส่วนองค์ประชุมมากขึ้น ขณะที่ส.ว.เองก็มาจากหลายพรรคการเมือง" นายวิทยากล่าว
 
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลอยากให้องค์ประชุมครบควรที่จะจัดสรรงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมกระจายไปยังพรรคร่วมรัฐบาลให้ทั่วถึง โดยเฉพาะโครงการถนนปลอดฝุ่น ดังนั้นเห็นว่าประธานวิปรัฐบาลควรที่จะหารือกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ เชื่อว่าเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้รัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมอีก

อ้างดูถูกคนอื่น-ไม่ประสานเหตุล่ม
 
นายวรวัจน์  เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โอกาสที่สภาจะล่มอีกครั้งนั้นมีสูง รัฐบาลควรให้ความสนใจเรื่ององค์ประชุมให้มากกว่าที่ผ่านมา ที่รัฐบาลไม่เคยประสานงานมาขอความร่วมมือกับฝ่ายค้านในเรื่ององค์ประชุม เหมือนอย่างที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนเคยทำมา  การที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลถือเป็นกับการดูถูกคนอื่น และจะทำให้อยู่ร่วมกันลำบาก ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองจะเกิดปัญหาตามมา
 
"พรรคเพื่อไทยไม่ได้ขัดขวางการประชุม แต่เรื่ององค์ประชุมนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับพรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ" นายวรวัจน์กล่าว
 
นายวรวัจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ของให้จับตาการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปีประจำปีงบประมาณ 2552 เพิ่มเติมที่จะมีขึ้นหลังพิจารณากรอบความร่วมมืออาเซียน ซึ่งเชื่อว่าการประชุมอาจจะล่มอีกครั้งหนึ่ง เพราะงบประมาณดังกล่าวไม่ได้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เป็นการซื้อเสียงทั้งสิ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้นั้นมีจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมาก

รองปธ.สภาจากพท.ชี้เรื่องธรรมดา
 
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมระหว่างเกิดเหตุการณ์สภาล่ม กล่าวว่า ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทำตามข้อบังคับ โดยไม่ได้ยึดเรื่องการเมืองพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และไม่มีใครมาสั่งตนได้  การนับองค์ประชุมถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.ที่สามารถเสนอนับองค์ประชุมเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในสภาได้ ช่วงนั้นเข้าใจว่าองค์ประชุมน่าจะครบ แต่ก็พยายามไกล่เกลี่ย เพราะไม่อยากให้นับองค์ประชุมเนื่องจากจะเสียเวลา 

"เป็นเรื่องธรรมดาของระบอบรัฐสภา ไม่มีกงกรรมกงเกวียนอะไร สังเกตได้จากสภาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการพิจารณากฎหมายสำคัญก็มีปัญหาองค์ประชุมก็ไม่ครบอยู่หลายครั้ง" พ.อ.อภิวันท์กล่าว
 
******************************
 
รายชื่อส.ส.โดดร่มทำสภาล่ม 
 
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเข้าประชุม 219 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 254 คน หายไป 35 คน เปิดช่องให้พรรคฝ่ายค้านเล่นเกมนับองค์ประชุม ปรากฏว่า ไม่ถึงกึ่งหนึ่งที่ 228 คน เป็นเหตุให้สภาผู้แทนฯในยุคพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล ล่มŽ เป็นครั้งแรก สำหรับรายชื่อ ส.ส.รัฐบาลที่ขาดประชุมตามบันทึกสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ มีดังนี้

พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 171 คน ขาดประชุม 15 คน ได้แก่ 1.นายกัมพล สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี 2.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ 3.นายธวัชชัย อนามพงษ์ ส.ส.จันทบุรี 4.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง 5.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน 6.นายประพร เอกอุรุ ส.ส.สงขลา 7.นายปรีชา ขำเจริญ ส.ส.ราชบุรี 8.นายปัญญวัฒน์ บุญมี ส.ส.สัดส่วน 9.นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ส.ส.สงขลา 10.นายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา 11.นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง 12.นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช 13.นายสากล ม่วงศิริ ส.ส.กทม. 14.นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ 15.นายอภิชาต สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี  

พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. 32 คน ขาดประชุม 12 คน ได้แก่ 1.พ.ต.ท.นุกูล แสงศิริ ส.ส.นครสวรรค์ 2.นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ส.ส.บุรีรัมย์ 3.นางพรทิวา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท 4.นายเพิ่มพูน ทองศรี ส.ส.สัดส่วน 5.นายภิรมย์ พลวิเศษ ส.ส.นครราชสีมา 6.นายมนต์ไชย ชาติวัฒนศิริ ส.ส.บุรีรัมย์ 7.นายยรรยง ร่วมพัฒนา ส.ส.สุรินทร์ 8.นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.บุรีรัมย์ 9.นายเลิศศักดิ์ ทัศนเศรษฐ ส.ส.สุรินทร์ 10.นายวีระ รักความสุข ส.ส.สัดส่วน 11.นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม 12.นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์  

พรรคเพื่อแผ่นดิน มี ส.ส. 26 คน ขาดประชุม 12 คน ได้แก่ 1.ม.ร.ว.กิติวัฒนา ไชยันต์ ส.ส.สัดส่วน 2.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ส.ส.สัดส่วน 3.นายพลพีร์ สุวรรณฉวี ส.ส.นครราชสีมา 4.นายพิกิฏ ศรีชนะ ส.ส.ศรีชนะ 5.นายมานพ ปัตนวงศ์ ส.ส.สัดส่วน 6.นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน 7.นายวิทยา บุตรดีวงศ์ ส.ส.มุกดาหาร 8.นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ส.ส.นราธิวาส 9.นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน 10.นายสุชาติ ตันติวณิชชานนท์ ส.ส.อุบลราชธานี 11.นายสุรเดช ยะสวัสดิ์ ส.ส.สัดส่วน 12.นายอลงกต มณีกาศ ส.ส.นครพนม

พรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส. 21 คน ขาดประชุม 9 คน ได้แก่ 1.นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา 2.นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี 3.นายตุ่น จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี 4.นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ 5.นางปารีณา ไกรคุปต์ ปาจรียางกูร ส.ส.ราชบุรี 6.นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง 7.นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส 8.นายวิจิตร พรพฤติพันธุ์ ส.ส.เพชรบูรณ์ 9.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ส.ส.พิจิตร
พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา มี ส.ส. 9 คน ขาดประชุม คน 1 ได้แก่ นางวรศุลี สุวรรณปริสุทธิ์ ส.ส.มุกดาหาร
พรรคกิจสังคม มี ส.ส. 5 คน ขาดประชุม 2 คน ได้แก่ 1.นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ส.ส.สุโขทัย 2.นายวารุจ ศิริวัฒน์ ส.ส.อุตรดิตถ์ 

พรรคประชาราช มี ส.ส. 9 คน ขาดประชุม 8 คน ได้แก่ 1.นายจักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ 2.นายสรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว 3.นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.สัดส่วน 4.นายฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว 5.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว 6.น.ส.จิรวดี จึงวรานนท์ ส.ส.ศรีสะเกษ 7.นายสุตา พรมตวง ส.ส.ศรีสะเกษ 8.นางชนากานต์ ยืนยง ส.ส.ปทุมธานี

พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. 183 คน ขาด 180 คน เสียบบัตรแสดงตน 3 คน ได้แก่ นายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย ส.ส.สมุทรปราการ นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ประธานวิปฝ่ายค้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา คนที่ 2 

นอกจากนี้ มี ส.ส.ที่ยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง 10 คน ขาดประชุม 9 คน ได้แก่ 1.นางกรรณิการ์ เจริญพันธ์ ส.ส.สุรินทร์ 2.นายกิตติศักดิ์ รุ่งธนเกียรติ ส.ส.สุรินทร์ 3.นายคงกฤษ หงส์วิไล ส.ส.ปราจีนบุรี 4.นายนัจมุดดิน อูมา ส.ส.นราธิวาส 5.นางฟารีดา สุไลมาน ส.ส.สุรินทร์ 6.นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ 7.นายสาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ ส.ส.สุรินทร์ 8.นายอารยะ ชุมดวง ส.ส.สุโขทัย 9.นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.สัดส่วน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์