นายกฯไม่นิ่งนอนใจโรฮิงยารับปากสางปมทนายสมชาย

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 19 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จำนวน 13 คน
 
นำโดยนายสมชาย หอมลออ ประธานครส. ได้เดินทางเขาพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาลใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. มาตรการป้องกันการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และการเยียวยาความยุติธรรมในรัฐบาล “ทักษิณ” หลังเกิดกรณีฆ่าตัดตอนในช่วงประกศสงครามกับลยาเสพติด และ
 
3. การแก้ไขปัญหาสัญชาติและคนไทยพลัดถิ่น ทั้งนี้มีส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน นำโดยนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส. สัดส่วน เข้าร่วมรับฟังด้วย

 
ภายหลังการหารือประมาณ 1 ชั่วโมง นายสมชายแถลงว่า

ครส. สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ใช้ความอดทน และไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะความขัดแย้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย จึงเสนอให้รัฐบาลตั้งกลไกประสานงานระหว่างผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน กับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยองค์กรดังกล่าวอาจเป็นหน่วยงานเล็กๆ ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้ ทั้งนี้นายกฯ ได้ให้ความสำคัญกับรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย พร้อมยืนยันว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลคือ พยายามลดใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งต่อไปถ้ามีการต่ออายุการใช้พ.ร.ก. ผู้เกี่ยวต้องอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นจริงๆ

 
นายสมชายกล่าวต่อว่า

ส่วนปัญหาการฆ่าตัดตอน 2.8 พันศพ ในช่วงที่มีการประกาศสงครามกับยาเสพติดนั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้สรุปผลการสอบสวนและยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลชุดก่อนแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นายกฯ จึงให้คำมั่นว่าจะเร่งสะสางคดีต่างๆ ให้กระจ่างโดยเร็ว

 
“นอกจากนี้ครส. ยังหยิบยกกรณีสื่อต่างประเทศเผยแพร่ภาพเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย กระทำการทารุณกับผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงยาขึ้นสอบถามนายกฯ ด้วย ซึ่งนายกฯ บอกว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนไม่มีนโยบายเช่นนั้น มีแต่ต้องแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิมนุษยชน” นายสมชายกล่าว
 
ประธานครส. กล่าวว่า

อย่างไรก็ตามนายกฯ ไม่ได้หารือ หรือสอบถามความเห็นจากครส. ในเรื่องการจัดตั้งกลไกพิเศษขึ้นมาสะสางคดีการเมืองต่างๆ แต่บอกเพียงว่าคดีต่างๆ ที่มีความอ่อนไหว รัฐบาลจะกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งเมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรคงจะมีการนำประเด็นนี้หารือกับฝ่ายค้านต่อไป

 
ด้านนางอังคนา นีละไพจิต กรรมการครส. และภริยานายสมชาย นีละไพจิต อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม กล่าวว่า
 
ได้เสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพบว่ายังมีการซ้อม ทารุณประชาชน และอุ้มตัวหายไปอยู่ ทั้งนี้นายกฯ ได้แสดงความห่วงใยและให้ความสำคัญกับคดีการหายตัวไปของนายสมชาย เนื่องจากเป็นที่สนใจของนานาประเทศ ดังนั้นจะเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามความคืบหน้าของคดี

 
ขณะที่นายโคทม อารยา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรรมการครส. กล่าวว่า
 
ได้เสนอให้รัฐบาลนำผลการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากกอส. เคยเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการพัฒนาพื้นที่เป็นการเฉพาะ คล้ายๆ กับนโยบายจัดตั้งสำนักงานบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สบ.ชต.) ของรัฐบาลในขณะนี้ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดตั้งทบวงบริหารพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีรัฐมนตรีกำกับดูแลทบวงดังกล่าว และมีรองปลัดทบวงทำหน้าที่ประสานงานในระดับพื้นที่กับข้าราชการประจำ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์