แจกเก้าอี้พธม.-รัฐบาลเปิดเป้าล่อ

ข่าวรัฐบาลเตรียมแต่งตั้งผู้ที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้ง นายประพันธ์ คูณมี นายสำราญ รอดเพชร และนายพิเชฐ พัฒนโชติ เป็นที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรี เป็นประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านและนปช. หรือกลุ่มเสื้อแดง นำมาโจมตีอย่างต่อเนื่อง

ว่าเป็นการให้ประโยชน์ต่างตอบแทน หรือตกรางวัลให้กับพันธมิตรที่มีส่วนในการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลชุดก่อน

ที่ออกมาย้ำบ่อยๆ คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มเสื้อแดง ระบุว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรเป็นการเคลื่อนไหวอย่างผิดกฎหมาย และมีคดีค้างคารอการดำเนินการอยู่หลายคดี

การให้เก้าอี้กับพันธมิตรจึงเป็นการปูนบำเหน็จ และอาจโยงได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนร่วมในการยึดทำเนียบฯ และสนามบินด้วย

ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย เหน็บถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่า ใจถึง ที่กล้าเปิดเผยว่าเป็นพวกเดียวกับพันธมิตร

ระยะแรกเป้าโจมตีอยู่ที่นายกษิต ภิรมย์ แคนดิเดตรมว.ต่างประเทศ ซึ่งวิจารณ์กันว่าเป็นโควตาพันธมิตร เพราะนายกษิต ไปขึ้นเวทีพันธมิตรแทบจะเรียกได้ว่าเป็นขาประจำคนหนึ่งก็ว่าได้

ในที่สุด นายกษิตได้นั่งเก้าอี้รมว.ต่างประเทศ และถูกมองเป็นรัฐมนตรีสายล่อฟ้าจากคำให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตร ว่า อาหารดี ดนตรีเพราะ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ครม.มีมติเมื่อวันที่ 13 ม.ค. แต่งตั้งนายประพันธ์ เป็นที่ปรึกษารมว.วิทยาศาสตร์ฯ

ส่วนนายสำราญ และนายพิเชฐ แม้ครม.ยังไม่มีมติแต่งตั้งในคราวเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มีการปฏิเสธว่าจะไม่มีการแต่งตั้ง

นายพิเชฐนั้น ข่าวระบุมีการเสนอชื่อเป็นที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข ให้ครม.พิจารณาแล้ว แต่นายกฯ ถอนเรื่องออกเพราะเห็นว่ามีปัญหาด้านคุณสมบัติ เมื่อรู้ข่าว นายพิเชฐชี้แจงว่า เหตุผลที่โดนดึงชื่อออกกลางคันเป็นเพราะตนเองยังไม่ได้ลาออกจากสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง หากฝ่ายกฎหมายเห็นว่าควรลาออกก็จะลาออก

และให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการเสนอชื่อตนเองเข้าสู่การพิจารณาของครม.อีกครั้งในวันอังคารที่ 20 ม.ค.

พรรคประชาธิปัตย์อาจเห็นว่าเสียงค้านของฝ่ายตรงข้ามเป็นเรื่องธรรมดา แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อาจทำให้สังคมและฝ่ายที่เป็นกลาง เห็นไปในทางเดียวกับฝ่ายค้านได้

คำถามที่ผู้สื่อข่าวถามนายกฯอภิสิทธิ์ว่า นายประพันธ์ มีความรู้อะไรในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถึงได้รับการการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารมว.วิทยาศาสตร์ฯ

ก็ทำให้นายกฯอึ้ง ก่อนจะเลี่ยงตอบว่า นายประพันธ์ ก็เป็นผู้ที่มีความรู้พอสมควร

แต่ไม่บอกว่ามีความรู้ด้านไหน

ที่พูดชัดเจนคือ นายประพันธ์ ทำงานให้กับพรรคประชาธิปัตย์มาระยะหนึ่งและร่วมเป็นคณะทำงานของพรรค เป็นคำตอบในทางเดียวกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อยืนยันว่าเป็นการตั้งคนของพรรคไม่ได้ตอบแทนพันธมิตรอย่างที่ถูกถล่ม

ข้อเท็จจริงคือ นายประพันธ์ จบนิติศาสตร์ จากรามคำแหง จบปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ จากเกษตรฯ และเนติบัณฑิตไทย รุ่น 37 ก่อนเปิดสำนักงานทนายความ

ร่วมงานกับ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ตั้งแต่ครั้งก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ และเคลื่อนไหวด้วยกันมาตลอด รวมถึงการประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในนามกลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ เมื่อปลายปี 2547 ร่วมกับน.ต.ประสงค์

กระทั่งเข้าร่วมกับพันธมิตรขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ในปี 2549 แม้ไม่ใช่ระดับแกนนำแต่ก็เป็นโฆษกบนเวที

หลังการยึดอำนาจ 19 กันยาของคมช. ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลือกตั้ง 23 ธ.ค. 50 หันมาสวมเสื้อพรรคประชาธิ์ปัตย์ ลงสมัครส.ส. เขต 7 กทม. ร่วมทีมกับนายสำราญ รอดเพชร แต่สอบตกทั้งคู่

เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาสู้คดี นายประพันธ์ มีชื่อไปนั่งเป็นที่ปรึกษาสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล และประกาศร่วมทำงานกับพันธมิตร

ภาพของนายประพันธ์ ที่ออกมาสู่สาธารณะจึงดูแนบแน่นกับพันธมิตรมากกว่าจะเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ

นายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่จ่อคิวรอครม.อนุมัติตำแหน่งที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข จบนิติศาสตรบัณฑิต จากจุฬาฯ ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ จากนิด้า เป็นอดีตรองประธานส.ว.

ประสบการณ์ในฐานะนักกฎหมาย แม้จะไม่ตรงสายงาน แต่พออะลุ้มอล่วยมานั่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

ขณะสายสัมพันธ์กับพันธมิตรก็ปึ้กไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านายประพันธ์เลย

นายพิเชฐ ร่วมกับพันธมิตรขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งสองครั้งสองครา คือในปี 2549 และ 2551 จากนั้นเลือกตั้งธ.ค. ถึงมาลงสมัครส.ส.โคราช ในนามพรรคประชาธิปัตย์

ที่นายสุเทพชี้แจงว่าการแต่งตั้งคนดูที่คุณสมบัติ ไม่ได้แยกแยะว่าจะเป็นพันธมิตรหรือกลุ่มไหน จึงฟังแล้วอาจเกิดข้อโต้แย้งได้

และอาจจะด้วยเหตุนี้ที่ทำให้นายสำราญ รอดเพชร ที่มีชื่อติดโผที่ปรึกษาอยู่เหมือนกัน แต่สุดท้ายไม่มีการแต่งตั้ง

นายสุเทพปฏิเสธว่าไม่มีรายชื่อนายสำราญอยู่ในโผ อาจเป็นเพราะนายสำราญนั้นเป็นแกนนำพันธมิตร รุ่น 2 ก่อนมาเป็นแกนนำก็ทำหน้าที่โฆษกพันธมิตร มาตลอด

หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. ได้รับการแต่งตั้งเป็นสนช. เช่นกัน ก่อนลงสมัครส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แล้วกลับมาร่วมกับพันธมิตรขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ อีกครั้งในปี 51 จนได้เป็นแกนนำ

นอกจากข่าวถูกทาบทามให้นั่งผู้ช่วยรมต.วัฒนธรรมแล้ว ยังมีกระแสข่าวเชื่อมโยงไปถึงเก้าอี้ผอ.อสมท

พรรคประชาธิปัตย์อาจทำหูทวนลมกับเสียงถล่มของฝ่ายค้านได้ แต่ไม่ควรละเลยท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันที่งุนงงและคาใจกับการแต่งตั้งครั้งนี้

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะมีส.ส.เพิ่มมาอีก 7 ที่นั่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น

ที่สำคัญยังมีเสียงเตือนอย่างสุภาพจากอดีตนายกฯ และองคมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เห็นว่าการตั้งพันธมิตรจะตกเป็นเป้าของการโจมตีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารจะต้องพิจารณา

การทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจได้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของฝ่ายบริหารเป็นสิ่งสำคัญ

หลักการสมานฉันท์ที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน จะเป็นจริงหรือไม่ ขึ้นกับการปฏิบัติของรัฐบาลนั่นเอง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์