"ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 16 "คุณชายฮีโร่" ยอมเป็นตัวประกันให้กองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่านำตัวขึ้น ฮ. ไปส่งที่ อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
"ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 16
หม่อมราชวงศ์ผู้มีประสบการณ์การทำงานที่ยังคงอยู่ในความประทับใจของใครหลายคนเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
เกิดเหตุการณ์วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ขณะที่กองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่า บุกเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทรเหนือ และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน หลังการเจรจาต่อรองเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้ก่อการร้ายยินยอมปล่อยตัวประกัน แลกกับให้ทางการไทยจัดเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า
ในที่สุดม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น กลายเป็นฮีโร่ในพริบตา หลังจากที่ได้เสนอตัวเป็นตัวประกันแลกกับเจ้าหน้าที่สถานทูต โดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลงได้โดยไม่มีการสูญเสียชีวิต ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ที่ยังคงจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ความกล้าหาญของฝ่ายบริหารประเทศ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หรือว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ในฐานะรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นบุตรของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (พระโอรสใน จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) และหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม ณ ถลาง) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีชื่อเล่นว่า "คุณชายหมู"
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร สมรสกับคุณนุชวดี บำรุงตระกูล มีบุตรคือ หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร และสมรสกับ คุณสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา (ภมรบุตร) มีบุตรคือ หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร
การศึกษา
ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียน Cheam (ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าโรงเรียน) และโรงเรียน Rugby ประเทศอังกฤษ (ดำรงตำแหน่ง หัวหน้า House หรือสี และได้รับทุนการศึกษาเรียนดีเด่น) (พ.ศ. 2506-พ.ศ. 2513)
ระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 2 และปริญญาโท ณ Pembroke College มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เกียรตินิยม สาขา ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) (พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2520)
ระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกาทางด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พ.ศ. 2521)
ประวัติการทำงาน
รับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2539
เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2536)
เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534) และตำแหน่งที่ปรึกษาคณะ กรรมาธิการกิจการรัฐสภา (พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534)
เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) (พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2532)
เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2536)
เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการพาณิชย์ฝ่ายต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537)
ประธานคณะทำงานร่วมอาเซียน-เวียดนาม เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน-เวียดนาม (พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2536)
ประธานคณะทำงานร่วมอาเซียน-กัมพูชา-ลาว เพื่อศึกษาและเสนอแนะ แนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน-กัมพูชา-ลาว
เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดร.พิจิตต รัตตกุล) ในคณะกรรมการต่างๆ คือ
ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการสำนักงานตลาด
ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตและ ประพฤติมิชอบในวงราชการกรุงเทพมหานคร
กรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการยุติธรรม
ปัจจุบัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พำนักอยู่ที่วังสวนผักกาด และเป็นประธานกรรมการมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และมีการจัดตั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา หรือ ครม.เงาขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเงา
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย ร่วมกับนายอำนวย วีรวรรณ เมื่อ พ.ศ. 2537 และเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคนำไทย
ต่อมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้าเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 6 (บางรัก สัมพันธวงศ์ สาทร แขวงยานนาวาและแขวงทุ่งมหาเมฆ) เมื่อปี พ.ศ. 2539 และ 2544
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 คณะกรรมการบริหารพรรค มีมติส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการเลือกตั้งในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งปรากฏว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้จะยังไม่ประกาศผลรับรองอย่างเป็นทางการ