นายกฯอ้างเคลียร์ฮุน เซนแล้วไม่ฟันธงประชุมอาเซียน กษิตบอกฮอร์ นัมฮงยันผู้นำเขมรมาร่วมแน่


"มาร์ค"เผยเคลียร์"ฮุน เซน"แล้ว ไม่กล้าฟันธงร่วมประชุมอาเซียน ติงเสียเวลาประชุมปีละ3ครั้ง เชื่อไม่ได้ตั้งแง่รมว.บัวแก้ว "กษิต"ต่อสาย"ฮอร์ นัมฮง"เชื่อผู้นำเขมรร่วมถกที่หัวหินแน่ อธิบดีกรมอาเซียนของประเทศสมาชิกนัดคุยสัปดาห์นี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวอ้างเมื่อวันที่ 10 มกราคม ได้ประสานกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ไม่ได้ตั้งข้อแม้อะไร เพียงแต่ให้ข้อคิดเรื่องการประชุมสุดยอดอาเซียนเท่านั้น หลังจากออกมาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการแยกจัดประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาออกจากกัน ที่ล่าสุดไทยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเป็นเรื่องเสียเวลา ต้องเดินทางมาไทยถึง 3 ครั้งในหนึ่งปี ควรจัดประชุมพร้อมกันมากกว่า และหากไม่พร้อมก็ควรเลื่อนการประชุมออกไปเป็นปลายปี

ในการให้สัมภาษณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกฯกล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว โดยต้องมีการประชุม 2 รอบ เพราะเป็นเรื่องที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต้องลงนามร่วมกัน เพื่อให้กฎบัตรอาเซียนที่จะนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียนเดินหน้าไปได้ ถ้ารอการประชุมอาเซียนบวก 3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) และอาเซียนบวก 6 จีน (เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ก็อาจต้องรอไปถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้การทำงานลำบาก เพราะหลายเรื่องต้องเดินหน้า นอกจากนี้ไทยยังต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนอีกครั้งในช่วงปลายปีด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วสมเด็จฯฮุน เซน ตอบรับการเข้าร่วมประชุมทั้งหมดหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้มีการประสานงานกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกัมพูชาไม่ได้มีข้อแม้อะไร และได้ชี้แจงว่าการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นเพียงการให้ข้อคิดว่าไทยจะลองพิจารณาหรือไม่ ว่าจะจัดประชุมพร้อมกัน หรือแยกกัน ซึ่งไทยก็มีเหตุผลที่ชัดเจนในการแยกการประชุม

ส่วนเหตุที่สมเด็จฯฮุน เซน ออกมาให้สัมภาษณ์เช่นนี้ เป็นเพราะตั้งแง่กับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เคยโจมตีสมเด็จฯฮุน เซน อย่างรุนแรงในกรณีปราสาทพระวิหารหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่มี เป็นเรื่องที่กัมพูชาปรึกษาเท่านั้น เพราะถ้าแยกการประชุม ก็ต้องประชุมทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งในความจริงกฎบัตรอาเซียนใหม่ ผู้เป็นเจ้าภาพต้องจัดการประชุม 2 ครั้งอยู่แล้ว และไทยได้ค้างการจัดประชุมมาแล้วครั้งหนึ่งจากปี 2551Ž"

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงท่าทีของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งในสัปดาห์นี้ อธิบดีกรมอาเซียนของประเทศสมาชิกทั้งหมดจะมาหารือกัน คิดว่าทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย

ขณะที่นายกษิตกล่าวว่า ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อย ไม่มีประเด็นปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ผู้นำกัมพูชาจะเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งจัดขึ้นที่ อ.หัวหิน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคมนี้อย่างแน่นอน เพราะทุกอย่างก็พร้อมแล้ว คณะของกระทรวงการต่างประเทศได้ลงตรวจสถานที่ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตอีก 2-3 แห่ง ก็ไปสำรวจพื้นที่แล้วเช่นกัน

เมื่อถามว่า ได้สอบถามหรือไม่ว่าเหตุใดสมเด็จฯฮุน เซน จึงพูดในตอนแรกว่าจะไม่มาประชุม นายกษิตกล่าวว่า "ไม่ได้สอบถาม เพราะไม่มีอะไร เป็นเพื่อนฝูงกัน อย่าทำให้เรื่องที่ไม่มีปัญหากลายเป็นมีปัญหา เราต้องมุ่งหน้าทำทุกอย่างให้ราบรื่นเพื่อให้ความสัมพันธ์และให้อาเซียนมีความคืบหน้า ในวันที่ 25-26 มกราคมนี้ ผมจะไปเยือนกัมพูชาหลังจากเยือนลาวในวันที่ 16 มกราคม จะหารือกันทุกเรื่อง อะไรที่จะให้ความสัมพันธ์กระชับและมีความคืบหน้าเราก็ต้องทำ"
นายกษิตยังให้สัมภาษณ์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายหลังหารือกับนายฮิโรฟูมิ นากาโซเน่ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นว่า เป็นการแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งได้ขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้มีสารแสดงความยินดีมาถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และตน พร้อมกันนี้ยังได้ขอโทษญี่ปุ่นที่ต้องแบ่งการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นสองช่วง และถือโอกาสเชิญญี่ปุ่นให้เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน

"ผมได้ยืนยันเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลไทยที่จะมุ่งมั่นบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จึงขอให้ประเทศญี่ปุ่นและมิตรประเทศทั้งหลายมั่นใจว่า สภาวการณ์ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะปกติยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เราจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่น และให้ความร่วมมือกันในเวทีระหว่างประเทศและเวทีภูมิภาคต่างๆ อย่างมุ่งมั่น" นายกษิตกล่าว
นายกษิตกล่าวว่า ทางญี่ปุ่นได้แจ้งว่าจะส่งนายมาซากาสึ โตโยดะ อดีตรองปลัดกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) เดินทางมาเยือนไทยในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค รวมทั้งการปรับตัวในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย ไทยแจ้งว่ายินดีให้การต้อนรับและจะจัดให้เข้าเยี่ยมคาราวะนายกฯ ทั้งนี้ คาดว่าผู้แทนพิเศษฯน่าจะเดินทางมาก่อนที่ไทยจะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยจะเริ่มต้นจากไทยเป็นประเทศแรกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนหลายประเทศในภูมิภาค
นายกษิตกล่าวอีกว่า ได้หารือถึงเรื่องความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทป้า) ว่าจะพยายามหาข้อยุติในประเด็นที่ฝ่ายไทยยังไม่ได้ข้อยุติ โดยจะประสานกับทางการญี่ปุ่นเพื่อให้มีการกำหนดวันในการประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่สาม ไทยยังได้ตอบรับคำเชิญของญี่ปุ่นให้ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับ 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเห็นว่าประเด็นสำคัญคือต้องมีการพัฒนาเรื่องการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเส้นทางขนส่งต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของถนนที่เชื่อมตะวันออก-ตะวันตก และเส้นทางด้านใต้ (อิสต์-เวสต์ และเซาท์เทิร์น คอริดอร์)

พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกลาโหม กล่าวถึงท่าทีนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่อาจไม่เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนว่า เรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการมากกว่า การจัดต่อเนื่องไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศไทยอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับผู้นำประเทศอื่นด้วย หากมาร่วมประชุมแล้วเขาไม่สามารถอยู่ต่อได้ ก็จำเป็นต้องจับแยก ดังนั้น ต้องประสานงานทุกฝ่าย กระทรวงการต่างประเทศต้องเป็นผู้ประสานงาน เข้าใจว่าผู้นำของประเทศที่เป็นอาเซียนไม่สะดวกที่จะมาประชุมใน 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2552 จึงอยากเลื่อนการประชุมของอาเซียนซัมมิท ทั้งนี้ อยู่ที่ความสะดวกของผู้ร่วมประชุมมากกว่า คงไม่ใช่ประเด็นที่เป็นปัญหา เขาพร้อมเมื่อไหร่ไทยก็พร้อมที่จะดูแลให้ทุกฝ่ายพร้อมพบกัน

ขณะที่นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้สมเด็จฯฮุน เซน ทบทวนการเข้าร่วมประชุม เนื่องจากนายกษิต เป็นบุคคลหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ รวมไปถึงขึ้นเวทีพันธมิตรโจมตีสมเด็จฯฮุน เซน และประเทศกัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมกับตัวแทนองค์กรในประเทศไทยจะเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาในสัปดาห์หน้า และขอเข้าพบสมเด็จฯฮุน เซน เพื่อสอบถามว่าอะไรเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ทบทวนการเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท พร้อมกับยื่นหนังสือแจ้งให้ทราบว่าการจัดประชุมอาเซียนไม่ชอบธรรม เนื่องจากรัฐมนตรีที่จัดการประชุมเป็นคนหนึ่งที่ปิดสนามบิน ดังนั้น ขอเรียกร้องไปยังนายอภิสิทธิ์  ให้ทบทวนการจัดประชุมครั้งนี้ เพราะหากจัดไปรัฐบาลคงไม่สามารถจัดการกับคนเสื้อแดงเรือนหมื่นเรือนแสนได้

"นอกจากนี้ผมจะไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตประเทศต่างๆ ในอาเซียนทั้งหมดด้วย ซึ่งหากประเทศไหนสามารถเดินทางไปได้ก็จะไป โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา แม้จะไม่ได้ยื่นโดยตรงต่อสมเด็จฯฮุน เซน แต่ยื่นผ่านตัวแทนก็ยังดี โดยการเดินทางไปครั้งนี้ จะบันทึกภาพและนำมาทำเป็นสารคดีเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ดีทีวี (ของกลุ่มเสื้อแดง) ที่จะเริ่มออกอากาศกลางเดือนมกราคมนี้ด้วย" นายประชากล่าว 

ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อ.หัวหิน ถือเป็นพื้นที่พิเศษ มีตำรวจและทหารหลายหน่วย ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยให้บุคคลสำคัญ ตัวแทนนานาชาติ ที่จะเข้าร่วมประชุม และดูแลความสงบในพื้นที่ คงไม่มีปัญหา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คงจะประสานตำรวจ และทหารในพื้นที่รองรับแล้ว  "ผมคิดว่าคงจะไม่มีการประท้วงหรือชุมนุม คนประจวบคีรีขันธ์ไม่ทำอย่างแน่นอน" นายเฉลิมชัยกล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์