ปลาไหลซวยซ้ำซาก ตัดสิทธิ11ผู้สมัคร? จุดประกาย...แก้รธน.รอบใหม่

ในภาวะที่มีการพูดกันว่าเสถียรภาพของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีความเข้มแข็งมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งซ่อม 26 เขต 29 ที่นั่ง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 มกราคมนี้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลมีความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะกวาดเก้าอี้ ส.ส.ที่ว่างลงนี้มาเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

พลันที่มีกระแสข่าวว่า 11 ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) อยู่ในอาการโคม่า ส่อเค้าว่าขาดคุณสมบัติ ก็กลายเป็นลางร้ายของรัฐบาล และเป็นข่าวร้ายซ้ำซาก-ซ้ำสองของ "บรรหาร ศิลปอาชา" อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยและทีมงาน ที่ต้องมานั่งกุมขมับกับวิกฤตของ "ชาติไทยพัฒนา" พรรคนอมินีของตนเอง

"นายทะเบียนของพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้ดำเนินการตามประกาศของ กกต.ที่ได้ประกาศให้ทุกพรรคการเมืองทราบโดยทั่วกันแล้วว่า เมื่อใดที่รับสมาชิกใหม่ พรรคต้องรายงานให้ กกต.ทราบภายใน 7 วัน...แต่พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศนี้" สดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองระบุ

กรณีบรรดาผู้สมัคร ส.ส.ของ ชพท.ที่ "ส่อขาดคุณสมบัติ" นั้น ได้ยื่นใบสมัครเป็นมาชิกพรรคในวันที่ 7 และ 8 ตุลาคม 2551

แต่นายทะเบียนของพรรคเพิ่งแจ้ง กกต.เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ซึ่งผู้สมัคร ส.ส.ครั้งนี้จะสังกัดพรรคครบ 90 วัน ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคก่อนวันที่ 13 ตุลาคม 2551 และถ้าว่าตามเอกสารของพรรคการเมือง ก็ถือว่าไม่เป็นปัญหา แต่ กกต.มองมุมต่าง...

สดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง บอกว่า ไม่ได้พูดว่า ชพท.ทำเอกสารย้อนหลัง เพียงแต่อยากบอกว่า นายทะเบียนพรรคไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศของ กกต.

งานนี้แม้ กกต.กลางจะบอกว่าไม่มีอำนาจที่พิจารณาชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร เพราะเป็นดุลพินิจของ กกต.เขตเลือกตั้ง แต่การที่ท้องถิ่นส่งเรื่องหารือย่อมส่งสัญญาณอะไรบางอย่างถึงผู้สมัครแล้วว่าประเด็นของตนเองจะหมู่หรือจ่า

แต่ข้อเท็จจริงที่ฟังได้จากฝั่ง ชพท.ได้บอกว่า เรื่องนี้เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของ กกต.เองที่อยากลดภาระเรื่องงานเอกสาร

จึงบอกกับพรรคการเมืองว่าไม่ต้องรายงานภายใน 7 วันก็ได้ โดยให้รายงานเป็นรายไตรมาสแทน และบังเอิญว่าครบรอบที่จะต้องรายงาน กกต.ในช่วงเดือนธันวาคมพอดิบพอดี...??

ข้อกังขานี้จะได้รับคำตอบในวันที่ 7 มกราคม เพราะศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง นัดชี้ขาดคำร้อง "อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์" ผู้สมัคร ส.ส.อุทัยธานี ชทพ. ที่ถูก กกต.เขตไม่ประกาศให้เป็นผู้สมัครได้ยื่นคำอุทธรณ์ประกาศของ กกต.เขตเอาไว้...ทำให้ผู้สมัคร ชพท.ที่เหลือพลอยเกิดอาการหนาวยะเยือกเป็นแถวกับบรรทัดฐานที่ศาลฎีกากำลังตัดสิน!!

หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้สมัครของชาติไทยพัฒนาถูกตัดสิทธิจากการแข่งขันครั้งนี้ ผลคงทำให้ฐานที่มั่นของพรรคชาติไทยเดิมตกไปอยู่ในมือของคนทั้งหมดอื่น เท่ากับว่าเปิดทางให้ฝ่ายค้านไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาราช มีโอกาสเพิ่มจำนวน ส.ส.ของตนเองมากขึ้น

จากตัวเลขคณิตศาสตร์การเมืองเมื่อวันประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

มีเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทยด้วยคะแนน 235 เสียง ต่อ 198 เสียง เท่ากับว่าช่องว่างของจำนวน ส.ส.ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลห่างกันไม่ถึง 40 คนดี กอปรกับ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลไปรับตำแหน่งฝ่ายบริหารร่วม 20 คน ช่องว่างของตัวเลขนั้นยิ่งแคบลงมาอีก

ฉะนั้น หากเกิดกรณีฝ่ายค้านขอยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประกาศจองกฐินไว้ล่วงหน้าแล้วว่า เปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 21 มกราคมนี้ ฝ่ายค้านซักฟอกแน่นอน โดยเป็นการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครม.ทั้งคณะ ก็ต้องบอกว่า "รัฐบาลงานเข้า" ตกอยู่ในภาวะเสียงปริ่มน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!!

เกมการเมืองก็คงหนีไม่พ้นที่จะเดินเข้าสูตรเดิมๆ คือคืนอำนาจให้ประชาชน "อภิสิทธิ์" ประกาศยุบสภา เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง แต่ภายใต้กติกาที่ยังไม่มีการแก้ไข ทำให้ฝ่ายการเมืองยังอิหลักอิเหลื่อ เพราะการเคลื่อนการเมืองในอนาคตก็คงเหมือนกับเดินในเขาวงกตที่ยากจะหาทางออก

จึงเกิดมีเสียงสะท้อนจากผู้คนในพรรคปลาไหลว่า หากรัฐบาลกำหนดกรอบเวลาว่าจะขอทำงานที่ชัดเจน เช่นว่า ภายใน 1 ปีจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอะไรบ้าง จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง เมื่อสำเร็จตามกรอบที่กำหนดก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่...วันนั้นสังคมไทยอาจจะยังพอคาดหวังได้กับการเมือง!!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์