บัญญัติ บรรทัดฐาน เตือนรัฐบาลอย่าลืมบทเรียน

ตั้งแต่เสียเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากกลุ่มผลัดใบเมื่อปี"48 บทบาทของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็ลดลงเรื่อยๆ ในฐานะกรรมการสภากุนซือพรรค

วันนี้ผลสำเร็จของเกมพลิกขั้วทำให้พรรคที่ผูกขาดฝ่ายค้าน 8 ปี ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ

นายบัญญัติ ให้สัมภาษณ์ถึงวันนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงประเด็นร้อน พร้อมฝากข้อห่วงใยไปถึงรัฐบาล


การทำงานฝ่ายบริหารจะเข้มข้นเหมือนเป็นฝ่ายค้านหรือไม่

เรามีประสบการณ์ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล กลับมาเป็นรัฐบาลอีกคงไม่มีปัญหา ความอาภัพของเรามีอยู่ประการหนึ่งที่ว่า มักเข้ามาเป็นรัฐบาลในช่วงประเทศมีวิกฤต เริ่มต้นกอบกู้ประเทศจากติดลบมาเป็นบวก รัฐบาลใหม่เข้ามาซึ่งเป็นบวกอยู่แล้ว เลยบวกขึ้นอีก

อีกอย่างช่วงที่ยังไม่ได้เอาทฤษฎีการตลาดนำการเมือง คนของเรามักก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่ได้คุยโม้ให้ใครฟัง ทั้งหมดเป็นบทเรียนให้รัฐบาลต่อไป

แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องการเมืองที่ยังไม่ราบรื่น เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล ควันหลงจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่จบลงง่ายๆ ยืดเยื้อต่อไปจนถึงกลางปี 2552 โชคดีที่ปลายปีที่ผ่านมาสังคมได้ข้อสรุปว่าเรื่องนี้เป็นอันตรายต่อบ้านเมือง จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้สลับขั้ว


วิธีนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์โดนวิจารณ์ว่าไม่สง่างาม

พรรคเองก็รู้ว่าการรับเป็นแกนนำเปลี่ยนขั้ว อาจถูกครหาได้ว่าอยากได้ใคร่ดีจนเกินเหตุไปหรือไม่ แต่เมื่อสังคมเรียกร้องให้นักการเมืองเปลี่ยนขั้วสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ นักการเมืองส่วนหนึ่งพร้อมสลับขั้วมาอยู่ด้วย

ขณะที่เราประกาศตัวมาตลอดว่าเป็นสถาบันการเมืองที่พร้อมรับใช้บ้านเมือง หากไม่รับจะเสียหาย วันนี้เมื่อห้ามคนวิจารณ์ไม่ได้ พรรคการเมืองอย่างพวกเราก็พร้อมรับฟังความคิดเห็น

เหมาะสมหรือไม่กับการถือดอกไม้ไปให้อดีตแกนนำที่โดนตัดสิทธิ์ ขอให้สนับสนุนตั้งรัฐบาล

เป็นภาพของหัวหน้าพรรคที่ไปที่นั่นที่นี่ เป็นมารยาทของคนในสังคมไทย เมื่อคนส่วนหนึ่งบอกว่าพร้อมสนับสนุน เราจะหวงเนื้อหวงตัวถึงขนาดเดินไปขอบคุณเขาสักหน่อยไม่ได้เชียวหรือ

ประชาธิปัตย์เคยโจมตีอดีตกก.บห.เหล่านี้ว่าวุ่นวายการเมือง

ที่แล้วมามันก็ไม่ถึงขนาดนั้น เราก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านของเรา ตรวจสอบรัฐบาลที่ไม่ชอบมาพากลแล้วก็วิพากษ์วิจารณ์กัน แค่นั้นเอง

ก่อนมีเรื่องสลับขั้วได้หารือกันภายในพรรคหรือไม่

หารือกัน 5 คน มีคุณชวน หลีกภัย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ และผม ตั้งปัญหาถามกันว่าเราจะรับหรือไม่ ท้ายสุดลงความเห็นว่าต้องรับ เพราะถ้าไม่รับเท่ากับไม่เป็นไปตามจุดยืนเรื่องสถาบันการเมือง

มีคำๆ หนึ่งที่พูดกันบ่อยแต่ยังแปลความไม่ตรงนัก คำว่า "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรทางการเมือง" ความมุ่งหมายของสุภาษิตนี้ต้องการเตือนนักการเมืองว่า อย่าเอาความเป็นมิตรแท้หรือความเป็นศัตรูถาวรมาทำลายการทำหน้าที่

หมายความว่าคุณอาจเป็นศัตรูกับบางกลุ่มบางพรรค แต่เมื่อใดที่จังหวะมันบีบบังคับว่าคุณจำเป็นต้องร่วมมือกันทำงาน ถ้ายังนึกว่าเป็นศัตรูกันไม่พร้อมจะร่วมมือทำงาน อย่างนี้ไม่ได้

แต่คนทั่วไปมองว่าเป็นพวกไม่มีจุดยืน

อันนี้แปลความผิด ว่านักการเมืองกะล่อน เดี๋ยวมันดี เดี๋ยวมันร้าย แต่ความหมายของผมคือ อย่าเอาความเป็นมิตรแท้หรือความเป็นศัตรูมาเป็นอุปสรรคต่อการร่วมกันทำงาน เงื่อนไขทางการเมืองมันมีอย่างนี้บ่อย คนที่ไม่ชอบพอกัน ขัดแย้งกัน ต้องมาร่วมงานกัน เพียงแต่เมื่อร่วมงานกันแล้วอย่าเอาความรักความโกรธเป็นตัวชี้ขาด ต้องเอาผลประโยชน์ความถูกต้องเป็นหลัก

โฉมหน้ารัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร

สังคมตั้งความหวังไว้สูงว่าครม.ควรเป็นบุคคลระดับที่เอ่ยชื่อแล้วสังคมขานรับ เป็นมืออาชีพที่ทุกวงการยอมรับ แต่ข้อเท็จจริงทางการเมืองเป็นอีกเรื่อง บางทีเราอยากได้อย่างนั้น แต่ใช่ว่าจะได้ทุกอย่าง มันมีข้อจำกัดซึ่งพยายามแก้ไขอยู่

นักการเมืองวันนี้ดีขึ้น รับฟังเสียงวิจารณ์ พร้อมจะแก้ไขตามเสียงเรียกร้อง จะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลนี้เดินไปข้างหน้าได้


การจัดครม.เอาใจพรรคร่วมรัฐบาลเกินไปหรือไม่

การเมืองปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาร่วมงานกัน พรรคแกนนำมักต้องเสียสละ ประชาธิปัตย์มีปัญหาเช่นนี้ตลอด ในจังหวะเช่นนี้การทำให้เพื่อนที่มาร่วมงานได้รับความสบายใจ พอใจ จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ


ข่าวว่าคนจัดโผมีแค่นายสุเทพกับนายนิพนธ์

การตั้งรัฐบาลถ้ากลับไปกลับมา รับข้อเสนอแล้วมาหารือ พรรคคิดอย่างไรแล้วกลับไปตอบตกลง คงไม่ได้เพราะสถานการณ์ไม่เอื้อ จึงตั้งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรคบางคน และเลขาธิการพรรค ไปจัดการ

คราวนี้วิกฤตกว่าทุกครั้ง เร่งรัดให้จัดตั้งรัฐบาลเร็วที่สุดบนพื้นฐานของการช่วงชิงระหว่างกันสูงมาก มีการยุบพรรคการเมือง สมาชิกที่ถูกยุบก็มีสิทธิ์เลือกสังกัด เมื่อแกนนำบอกว่าจะมีคนมาอยู่ด้วยเท่านั้นเท่านี้ ก็ต้องฟังกัน


ปัญหาการจัดสรรตำแหน่งทำให้พรรคเกิดคลื่นใต้น้ำ

ไม่ขนาดนั้น เพียงแต่กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยของพรรคทำให้ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความเห็น ยังมีข้อจำกัดที่ต้องเอาใจพรรคร่วม เวลาก็ค่อนข้างเร่งรัด ทำให้การกลั่นกรองตัวบุคคลต้องตัดสินใจในเวลาที่รวดเร็วที่สุด ฝ่ายบริหารไม่มีโอกาสหารือทุกฝ่ายได้พร้อมๆ กัน

สิ่งที่สบายใจได้คือพรรคพัฒนาถึงขั้นที่เมื่อใดสมาชิกมีความขัดแย้ง นำไปสู่การสร้างปัญหาให้องค์กรหรือรัฐบาล สมาชิกก็จะรู้ตัว ค่อยๆ ลดความขัดแย้งนี้ลงมาเอง


รู้สึกอย่างไรกับข่าวนายทุนซื้อเก้าอี้รัฐมนตรี

ก็ว่ากันไป วันนี้ข่าวมันไว ไปฟังข่าวที่เขาปรุงแต่งก็เลยเป็นปัญหา แต่สำหรับประชาธิปัตย์ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ทุกคนตระหนักดีถึงภารกิจวันนี้คือสนับสนุนรัฐบาล ที่ผ่านมามีหลายข่าวเกิดกับประชาธิปัตย์ ก็ไม่เป็นไร สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้อภัยและให้โอกาส


มีข่าวว่าไม่พอใจที่คนในสายทศวรรษใหม่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี

ความจริงผมไม่มีประเด็นเลย ทุกคนย้อนไปนึกถึงสมัยแข่งขันหัวหน้าพรรคระหว่างผมกับคุณอภิสิทธิ์ ผมในกลุ่มทศวรรษใหม่ คุณอภิสิทธิ์ในกลุ่มผลัดใบ แต่หลังจากที่ผมสละตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยลาออกหลังแพ้เลือกตั้ง กลุ่มทศวรรษใหม่ก็ไม่มีแล้ว

ข่าวที่ออกมาจึงไม่น่าเกี่ยวกับเรื่องในอดีต ไม่มีกลุ่มอะไรในพรรคแล้ว ทุกคนมีกลุ่มเดียวคือประชาธิปัตย์ ผมเห็นข่าวแล้วยังนึกขบขันในหัวใจ ว่ามันเป็นไปได้อย่างไร


ปัญหาม็อบเสื้อแดงเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลแค่ไหน

คงไม่ราบรื่น เกมการเมืองยังเข้มข้นอยู่ คนที่เคยมีอำนาจก็รู้ๆ กันอยู่ว่าไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ แต่ถ้ารัฐบาลอยู่ในจุดที่ถูกต้องเหมาะสม เอาบทเรียนความล้มเหลวมาสรุปเป็นบทเรียน แล้วเราอย่าเดินบนเส้นทางนั้น แค่นี้เราก็ไปได้ ต่อไปการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะฝืนกระแสสังคม สังคมจะไม่ขานรับ ผมเชื่อว่ากลุ่มการเมืองระมัดระวังเรื่องกระแสสังคมมาก

เหตุที่มั่นใจเพราะมีนายเนวิน ชิดชอบ ช่วยรับมือเรื่องม็อบ

ผมไม่คิดเช่นนั้น คิดแต่ว่าถ้ารัฐบาลทำสิ่งถูกต้องดีงาม ประการแรกมีภาพความขยันแข็ง ประการที่ 2 ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน ประการที่ 3 อย่าไปหยิบฉวยโครงการใหญ่ๆ ในอดีตที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหมกเม็ด มีผลประโยชน์แอบแฝง ประการที่ 4 โปร่งใสสุจริต ถ้ามี 4 ภาพปรากฏให้เห็น แม้จะถูกขับเคี่ยว ผมคิดว่ารัฐบาลนี้ไปได้

อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมามีอำนาจหรือไม่

อยู่ที่รัฐบาลด้วย ถ้ารัฐบาลล้มเหลว โอกาสที่เขาจะกลับมาก็มีมาก แต่ถ้ารัฐบาลไม่ล้มเหลว สามารถแสดงให้เห็นว่าแนวทางที่ทำกันมา 6-7 ปีต่างหากที่ทำให้การเมืองล้มเหลว ถ้าทำได้อย่างนี้ เป็นเรื่องไม่น่าวิตก

โพลหลายสำนักยังยกให้พ.ต.ท.ทักษิณได้รับความนิยมกว่านายกฯ อภิสิทธิ์

สักระยะมันจะเปลี่ยน เวลานี้มันก็เปลี่ยนมากแล้ว ต้องยอมรับว่าทฤษฎีการตลาดที่คุณทักษิณนำมาใช้ก่อนเพื่อน ทำให้เกิดทักษิณฟีเวอร์ กระแสนิยมของคุณทักษิณไปไกลตามสมควร คนบางส่วนอาจรู้สึกว่ารัฐบาลทักษิณริเริ่มเอาอะไรมาให้เราตั้งหลายอย่าง

นี่คือคนธรรมดาทั่วๆไปที่ตามการเมืองไม่ค่อยทัน มองการเมืองผิวเผิน แต่มีคนบางกลุ่มมองการเมืองลึกซึ้งว่า หลายอย่างที่คุณทักษิณเอามาให้เรา เมื่อเทียบกับสิ่งที่คุณทักษิณได้ไปจากประเทศ มันเทียบกันไม่ได้เลย การเอามาให้ก็เพียงเพื่อให้เราเป็นฐานอำนาจให้เขา

พรรคประชาธิปัตย์ก็ลอกนโยบายประชานิยมจากรัฐบาลทักษิณ

อยากให้เรียกว่า "สวัสดิการสังคม" ผมเคยอธิบายความแตกต่างระหว่าง "สวัสดิการสังคม" กับ "ประชานิยม" มันมีคำอยู่ 2 คำคือ "ถูกต้อง" กับ "ถูกใจ"

ประชานิยมคือนโยบายที่ทำให้ประชาชนถูกใจแต่ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วครู่ชั่วยาม เราต้องคำนึงถึง 2 สิ่ง คือถูกใจด้วย ถูกต้องด้วย

ประชาชนถูกใจว่าได้รับ แต่การได้รับนั้นต้องทำให้ประชาชนพึ่งตัวเองได้ในอนาคต หรือเป็นสวัสดิการที่รัฐจำเป็นต้องมอบให้ในฐานะของพลเมือง ผมเรียกอย่างหลังว่านโยบายสวัสดิการสังคม

หลายสิ่งที่ประชาธิปัตย์ทำวันนี้ แม้ทุกคนรู้จักกันว่าประชานิยม แต่ไม่ใช่ ของเรามีความถูกต้องควบคู่กันไปด้วย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์