กลาโหมตั้งหน่วยงานใหม่ถอดด้ามมีหน้าที่พัฒนาโครงการอาวุธขนาดใหญ่-มีอำนาจร่วมทุนกับเอกชน


กระทรวงกลาโหมจัดตั้งหน่วยงานใหม่ถอดด้าม "สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ" มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์ เป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เผยมีอำนาจในการร่วมทุนกับเอกชนในการพัฒนาอาวุธได้ด้วย

ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"รายงานว่า มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน)พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ในราชกิจจานุเบกษาโดยให้เหตุผลในการจัดตั้งสถาบันว่า ในการดำเนินกิจการของรัฐทางด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีป้องกันประเทศต้องกระทำโดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งต้องพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรให้มีความทันสมัยและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ แต่ยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรง

ดังนั้น เพื่อให้กิจการของรัฐด้านนี้เป็นไปด้วยความคล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สมควรจัดตั้งสถาบันแห่งนี้เป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนซึ่งมี่ชื่อย่อว่า "สทป." และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Defence Technology Institute (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “DTI” โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีป้องกันประเทศ และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

(2) เป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้แก่กระทรวงกลาโหมเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

(3) ประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศกับหน่วยงานอื่นของรัฐสถาบันการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(4) ส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรม การค้นคว้าวิจัย และการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

(5) เป็นศูนย์กลางในการให้บริการข้อมูลและสารสนเทศด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

สำหรับอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของ สทป.ได้แก่

1. ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

2.จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

3.เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน

4. ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบันในการเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่

ในด้านการบริการงานนั้น ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ประกอบด้วย

(1) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงทางด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือด้านอื่น
ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน

(2) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม  เสนาธิการทหาร  เสนาธิการทหารบก  เสนาธิการทหารเรือ และเสนาธิการทหารอากาศ

(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน4 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงเป็นที่ประจักษ์ในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำร่วมอยู่ด้วย

ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็น

ผู้อำนวยการสถาบันคณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อำนวยการ ทั้งนี้มติของคณะกรรมการให้ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่ง ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียง
ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มีอยู่โดยไม่นับรวมตำแหน่งผู้อำนวยการ

เมื่อพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้มีการโอนบรรดากิจการทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของโครงการวิจัยและพัฒนาของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคง (พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2559)ที่มีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ไปเป็นของสถาบัน

ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ผู้แทนกรมพระธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสามคน เป็นกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ในระหว่างที่ยังไม่มีผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนิยาม"โครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์"หมายความว่า โครงการที่สภากลาโหมกำหนดและอนุมัติให้มีแผนแม่บทในการดำเนินโครงการ และมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างต้นแบบยุทโธปกรณ์โดยวิธีการวิจัยและพัฒนา


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์