เพื่อไทยโวยมท.2 ใช้อำนาจประชุมแกนนำหมู่บ้าน กกต.ชี้เลือกตั้งซ่อมงวดนี้ดุ เผย3ผู้สมัครขาดคุณสมบัติ


เลือกตั้งซ่อมล่วงหน้าวันแรก ภาคกลางเหงา ส่วนอีสานคึกคัก ผู้ใช้สิทธิ์หนาตา เฉพาะอีสาน "บุรีรัมย์" รอเข้าคิวนับหมื่น เลขาฯ กกต.เผยผู้สมัครขาดคุณสมบัติแล้ว 3 ราย "สดศรี" ชี้ครั้งนี้แข่งดุ พรรคฝ่ายค้าน-รบ.เร่งกวาดคะแนน เพื่อไทยโวย"บุญจง" ใช้อำนาจ มท.2 ประชุมแกนนำหมู่บ้านเขตเลือกตั้ง

 
ภาคกลางเหงา-อีสานคึกคัก

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเลือกตั้งแทนตำแหน่งว่างล่วงหน้าของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 3 มกราคม วันแรกในพื้นที่ 22 จังหวัด รวม 26 เขตเลือกตั้ง กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พบว่า บรรยากาศการเลือกตั้งหลายจังหวัดในภาคกลางเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ขณะที่พื้นที่ทางภาคอีสาน มีผู้คนใช้สิทธิกันหนาตา และที่ จ.ร้อยเอ็ด มีกลุ่มเสื้อแดงยืนประท้วงหน้า 2 หน่วยเลือกตั้ง

บุรีรัมย์รอใช้สิทธิ1หมื่นคน

ที่ จ.บุรีรัมย์ การเลือกตั้งซ่อมล่วงหน้าในเขต 2 และเขต 4 เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะที่ อ.ลำปลายมาศ เป็นหน่วยเลือกตั้งกลางของ 1 ใน 5 อำเภอ ของเขต 4 มีผู้คนเข้าคิวรอใช้สิทธิร่วม 10,000 คน มากเป็นประวัติการณ์ของการเลือกตั้งล่วงหน้าทุกครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ทำงานในพื้นที่ กทม.และจังหวัดอื่นๆ ที่ใช้สิทธิแล้วต้องการรีบเดินทางกลับทันที แต่เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สิทธิได้ทันท่วงที

น.ส.ชิดชนก สินรัมย์ อายุ 41 ปี ชาวบ้านหมู่ 2 ต.หนองคู อ.ลำปลายมาศ ทำงานที่ กทม. กล่าวว่า ได้มาใช้สิทธิตั้งแต่เวลา 08.00 น. แต่มีคนเยอะมาก จนถึงเวลา 11.00 น. ยังไม่ได้กาบัตร เจ้าหน้าที่ปล่อยให้มีการลัดคิว หลายคนรอไม่ไหวต่างเดินทางกลับทันที

ว่าที่ ร.ต.ทวี ชุนเกาะ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (ผอ.กต.) ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับจำนวนผู้ใช้สิทธิ ทำให้การลงคะแนนล่าช้า สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน ที่ส่วนใหญ่จะเดินทางกลับ กทม.และต่างจังหวัดเพื่อไปทำงาน

ร้อยเอ็ดเจอเสื้อแดงไล่นายกฯ

ที่ จ.ร้อยเอ็ด นายมงคล สิทธิวีระกุล ผอ.กต.ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เผยว่า จากการตรวจสภาพการเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนจุตรพักตรพิมานรัชดาภิเษก อ.จุตรพักตรพิมาน และที่ว่าการอำเภอ อ.เมืองสรวง มีกลุ่มเสื้อแดงแห่งละประมาณ 10 คน ถือป้ายประท้วงด้วยข้อความว่า "ไม่เอาอภิสิทธิ์ พันธมิตรออกไป" แต่ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น ส่วนจำนวนผู้ใช้สิทธิถือว่าอยู่ในขั้นน่าพอใจ ส่วนที่ จ.นครพนม มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 นายธงชัย ชำนาญไพร ประธาน กกต.จังหวัดนครพนม เผยว่า ได้รับรายงานจากหน่วยเลือกตั้งอำเภอต่างๆ แต่ละจุดมีผู้มาใช้สิทธิกว่า 500 คน

ที่ จ.ศรีสะเกษ การเลือกตั้งในเขต 1 และเขต 2 นั้น พบว่าในพื้นที่เขต 1 โดยเฉพาะ อ.เมือง มีผู้ใช้สิทธิประมาณ 900 คน น้อยกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ล่วงหน้าครั้งที่แล้วไม่มากนัก ที่ จ.อุบลราชธานี การเลือกตั้งในเขต 2 และ 3 นายอรุณ คูณคำ ผอ.กต.ประจำเขตเลือกตั้งที่ 3 กล่าวว่า มีการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าคึกคักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนได้เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงปีใหม่และมีวันหยุดยาวหลายวัน

ลพบุรีสับสนพรรคของผู้สมัคร

ส่วนจังหวัดทางภาคกลางที่เลือกตั้งล่วงหน้าจำนวน 12 จังหวัดนั้น พบว่าหลายจังหวัดมีผู้ใช้สิทธิบางตามาก เช่น จ.สมุทรปราการ สิงห์บุรี อ่างทอง ราชบุรี อุทัยธานี ฉะเชิงเทรา และ จ.ปทุมธานี เป็นต้น ขณะที่ จ.ลพบุรี ยังมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 คือ นายสิงห์สมุทร รัตนอำภา ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคความหวังใหม่ ที่มีชื่อสังกัดพรรคประชากรไทยด้วย ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงไม่นำรูปขึ้นติดบอร์ดประชาสัมพันธ์แต่ยังมีสิทธิลงเลือกตั้งได้เหมือนกับผู้สมัครที่เหลืออีก 3 ราย สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้สิทธิพอสมควร

อุทัยฯตัดชื่อผู้สมัครชาติไทย

ที่ จ.อุทัยธานี นายสมนึก โพธิวัลย์ ผอ.กต.ประจำเขตเลือกตั้งเขต 1 กล่าวว่า กรณีผู้สมัครหมายเลข 1 นายอดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ ที่ทาง กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งไม่ยอมให้ลงรับสมัคร เนื่องจากตรวจสอบไม่พบรายชื่อเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาในระบบบริหารข้อมูลพรรคการเมือง ล่าสุดนายอดุลย์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีการเมืองไปแล้ว นัดพิจารณาในวันที่ 5 มกราคมนี้ หากศาลตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ จะทำให้ผู้ที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าให้นายอดุลย์เป็นบัตรเสียโดยปริยาย

ที่ จ.นครปฐม การเลือกตั้งในเขต 1 มีผู้ใช้สิทธิกันหนาตา นายภิญโญ คชศิลา ผอ.กต.ประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้เตรียมบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าเขต 1 ทั้ง 3 อำเภอ กว่า 8,000 ฉบับ หรือร้อยละ 10 คาดว่า จะมีผู้ใช้สิทธิกว่า 5,000 คน หรือราวร้อยละ 60 ของบัตรที่เตรียมไว้ดังกล่าว

ที่ จ.นราธิวาส การเลือกตั้งเขต 2 รวมหลายอำเภออยู่ในความเงียบเหงา เนื่องจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่และมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ใช้สิทธิกันน้อยมาก โดยเฉพาะที่ อ.ระแงะ จำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนล่วงหน้า 54,950 คน แต่มีผู้ใช้สิทธิเพียง 184 คน ส่วนที่ จ.ลำพูน การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าที่หอประชุมอำเภอเมืองลำพูน มีผู้ใช้สิทธิประมาณ 600 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 18 ปี ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้ง ศึกษาและทำงานอยู่ในต่างจังหวัด

กกต.ตั้งเป้าใช้สิทธิ์60-70%

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ภาพรวมการเลือกตั้งซ่อมล่วงหน้าวันแรกส่วนใหญ่ยังเป็นไปอย่างเงียบเหงา โดยเฉพาะ กทม.เขต 10 จ.อุทัยธานี จ.ลำปาง และจ.อุบลราชธานี ไม่ค่อยคึกคักมากนัก ส่วน จ.บุรีรัมย์ที่มีการเลือกตั้ง 2 เขต มีผู้มาใช้สิทธิคึกคัก โดยวันที่ 4 มกราคมจะเป็นวันสุดท้ายของการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต ผู้มีสิทธิสมารถมาใช้สิทธิได้ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 มกราคม จะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า เพราะกฎหมายท้องถิ่นไม่ได้ระบุไว้

ส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดตั้งเป้าผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 60 - 70 โดยเฉพาะจ.บุรีรัมย์ ตั้งเป้าไว้ร้อยละ 68.4 ส่วน กทม.เขต 10 จะตั้งเป้าไว้ต่ำ เพราะเทียบเคียงการเลือกตั้งที่ผ่านมาไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 ส่วน จ.ลำพูน แชมป์ผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดเมื่อครั้งเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ถึงร้อยละ 80 นั้น การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ก็ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75  นายสุทธิพลกล่าว
 
พบผู้สมัครขาดคุณสมบัติแล้ว3ราย

นายสุทธิพลกล่าวว่า นอกจากนี้ได้รับรายงานเข้ามาว่า มีผู้สมัคร 3 ราย ที่ขาดคุณสมบัติการลงสมัคร ได้แก่ จ.ลพบุรี 1 ราย ที่เป็นสมาชิกพรรค 2 พรรค จ.ลำปาง 1 ราย ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และ จ.อุทัยธานี 1 ราย สังกัดสมาชิกพรรคไม่ครบ 90 วัน และจนถึงขณะนี้มีการร้องเรียนเพียงการแจ้งเบาะแส บางกรณีก็ไม่พบหลักฐาน โดยเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ได้ให้ชุดป้องปรามและหาข่าว และผู้ตรวจการลงพื้นที่และได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ส่งชุดสืบสวนหาข่าวเพื่อป้องกันการกระทำผิดเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

"การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญและมีการแข่งขันสูง กกต.ได้เฝ้าระวังทุกจังหวัด เพราะ ส.ส.ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมก็ไม่อยากเสียที่นั่งไป" นายสุทธิพลกล่าว

เมื่อถามว่า กรณีกระแสข่าวรัฐมนตรี 2 คน จากกลุ่มเพื่อนเนวินลงช่วยหาเสียงให้ ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน กกต.จะเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ นายสุทธิพลกล่าวว่า จะต้องดูโดยแนวทางที่ ครม.ดำเนินการที่มีมติออกมาแต่ละครั้งว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ส่วนการตรวจสอบนั้นต้องมีเบาะแสก่อน ไม่ใช่เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์เท่านั้น โดยกฎหมายเขียนไว้ว่า มีการกล่าวหาเมื่อความปรากฏอันฝ่าฝืนไม่ทำตามกฎหมายเลือกตั้ง ก็ให้ กกต.สืบสวนและให้ใช้ดุลพินิจที่เหตุสมควรตามที่ฝ่ายกิจการสืบสวนสอบสวนได้กรองเข้ามาก่อน และหากมีเหตุอันสมควร กกต.ก็ต้องดำเนินการสืบสวนโดยเร็ว

"สดศรี"ห่วงเลือกตั้งซ่อมแข่งดุ

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในวันที่ 11 มกราคม ว่าเท่าที่ดูผู้สมัครที่ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมใน 26 เขต ในพื้นที่ 22 จังหวัดนั้น มีพรรคการเมืองไม่กี่พรรคที่ส่งผู้สมัคร และผู้สมัครส่วนใหญ่มีนามสกุลเดียวกับนักการเมืองหรือเป็นญาติของผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากคำสั่งยุบพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจกันดีว่าการเมืองมีกลุ่มจำกัด จึงเชื่อว่าการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ครั้งนี้ จะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เพราะจำนวน ส.ส. 29 คน ที่จะได้มา จะเป็นตัวที่ทำให้คะแนนเสียงระหว่างพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้านก้ำกึ่งกันมากขึ้น และคาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเกินร้อยละ 70 โดย จ.สมุทรปราการ จะเป็นจังหวัดที่มีการแข่งขันสูง เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนกันมาก ส่วนจังหวัดในภาคอีสานและภาคเหนือ ไม่น่าจะมีการแข่งขันสูงมากนัก เพราะเป็นฐานเสียงของเจ้าของพื้นที่เดิม ส่วนการขายโควต้าให้กับพรรคอื่นตามที่เป็นข่าวนั้น คงไม่น่าจะมี เพราะทุกพรรคพยายามให้ได้ ส.ส.ของตัวเองกลับมา เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้สมัครเท่านั้น ทั้งนี้ กกต.ยังประสานงานกับทางตำรวจในการดูแลผู้สมัคร หากผู้สมัครคนใดคิดว่าไม่ปลอดภัยและมีการร้องขอเจ้าหน้าที่มาก็จะมีการส่งตำรวจไปช่วยคุ้มครอง   

นางสดศรี กล่าวอีกว่า ส่วนการทุจริตการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่น่ามีเปอร์เซ็นต์สูง เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป เพราะมีแค่ 22 จังหวัด โดยกกต.ได้ส่งองค์กรเอกชนและเจ้าหน้าที่ไปดูแลอยู่แล้ว

พท.ร้องกกต.สอบ"บุญจง"

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อม เขต 1 จ.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน ลงพื้นที่ จ.นครพนม เรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รับฟังนโยบายของกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมาว่า มีการเกณฑ์กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. รวมถึงแกนนำชาวบ้าน เข้ารับฟังนโยบาย พร้อมทั้งให้แกนนำท้องถิ่นเสนอโครงการพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองต่อนายบุญจง ขอร้องเรียนนายกรัฐมนตรีและกกต. ว่า นายบุญจงใช้อำนาจหน้าที่การเป็นรัฐมนตรีสร้างประโยชน์ต่อการเลือกตั้งหรือไม่ เนื่องจากมีการลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 3 มกราคมนี้

"นายบุญจงนัดประชุมแกนนำหมู่บ้านใน 2 จุด แต่ถูกกลุ่มเสื้อแดงรวมตัวกันขับไล่ นายบุญจงจึงยกเลิกการลงพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว แต่จากนั้นไม่นาน นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม กลุ่มเพื่อนเนวิน ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ในจุดที่นายบุญจงจะเดินทางไป ดังนั้นการลงพื้นที่ของนายบุญจงครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการไปเพื่อใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ของตัวเองอย่างชัดเจน" นายชวลิตกล่าว

นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ในเขตพื้นที่เลือกตั้งซ่อมจังหวัดทางภาคอีสานหลายจังหวัด โดยเฉพาะ จ.ร้อยเอ็ด ผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินได้แอบอ้างชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไปใช้หาเสียง โดยระบุว่าผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินอยู่ในสายเดียวกับพรรคเพื่อไทย หากผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินได้รับเลือกเป็น ส.ส.ก็จะเข้าไปทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทย ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น

ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ จะเข้าแจ้งความเพื่อเอาผิดกับผู้สมัคร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อแผ่นดิน มีพฤติกรรมเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยการขนคนมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับจ่ายค่าตอบแทนรายละ 200 บาท พรรคเพื่อไทยมีพยานหลักฐานชัดเจนที่จะเอาผิดผู้สมัครพรรคเพื่อแผ่นดินได้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์