เด็กมาร์คประโคมมีขบวนการจ้องทำร้าย-เพื่อไทย ซัดแค่สร้างภาพ บอกอีสานชิงชังมากแต่ไม่ถึงอยากฆ่า


คนใกล้ชิดนายกฯได้ทีประโคมข่าว อ้างมีขบวนการปองร้าย ปลุกระดมผ่านวิทยุ ส่งข้อความข่มขู่เอาชีวิต "อภิสิทธิ์"ไม่กลัว ขอเร่งทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเอง พท.ชี้สร้างภาพ แค่แผนเรียกคะแนนสงสาร บอกคนอีสานชังมากแต่ไม่ถึงขั้นลอบทำร้าย "บัญญัติ" ทำนาย รบ.เหนื่อย เผย 5 จุดตาย

ประชาธิปัตย์อ้าง"มาร์ค"โดนขู่เอาชีวิต

นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวอ้างเมื่อวันที่ 2 มกราคม ภายหลังนายกฯยอมรับทำนองมีรายงานลับถึงความไม่ปลอดภัย ว่าขณะนี้มีขบวนการก่อกวน และหวังปองร้ายนายอภิสิทธิ์ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวในรูปแบบการให้วิทยุชุมชนคนรักแท็กซี่ วิภาวดีซอย 3 ประกาศเบอร์โทรศัพท์มือถือและที่อยู่ของนายอภิสิทธิ์ออกอากาศ พร้อมทั้งปลุกระดมให้คนฟังเดินทางไปก่อกวนที่บ้านของนายอภิสิทธิ์ รวมทั้งให้ช่วยกันโทรศัพท์และส่งข้อความ โดยพบว่าบุคคลที่โทรศัพท์มาส่วนใหญ่ จะด่าทอด้วยคำหยาบคาย บางรายถึงขั้นส่งข้อความขู่เอาชีวิต ขู่จะสาดน้ำกรด นอกจากนี้ ยังพบว่าลักษณะเคลื่อนไหวคล้ายกับกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มฅนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เพราะมีหลายครั้งที่ข้อความที่ส่งมามีเนื้อหาคล้ายกับบนเวทีคนเสื้อแดง

"การก่อกวนลักษณะเช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งทราบว่ามีต้นตอมาจากที่ใด ส่วนจะดำเนินคดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวของนายกฯซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ แต่เชื่อว่านายกฯคงไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะท่านพูดมาตลอดว่าจะบริหารประเทศบนความสมานฉันท์ นายกฯเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ เป็นเพราะถูกปลุกระดม ดังนั้น จึงมีอยู่หลายครั้งที่นายกฯได้ชี้แจงให้คนเหล่านี้ทราบข้อเท็จจริง  ซึ่งบางรายก็รับฟังและเข้าใจ แต่บางรายที่ไม่ฟัง ท่านก็จะให้ ส.ส.หรือไม่ก็เจ้าหน้าที่พรรคโทรศัพท์กลับไปชี้แจงอีกครั้ง" นายศิริโชคกล่าว

ยันนายกฯไม่เปลี่ยนเบอร์โทร.หนีแน่

นายศิริโชคกล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น แม้จะมีหลักฐาน แต่คงยังไม่ดำเนินคดีกับวิทยุชุมชนคนรักแท็กซี่ แต่จะใช้วิธีการพูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องความเป็นส่วนตัวของนายกฯ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หากเกิดกรณีเช่นนี้ คงถูกจัดการไปนานแล้ว ทั้งนี้ หากการเคลื่อนไหวนั้นเกินกรอบของกฎหมาย ก็อาจจะแจ้งความดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายกฯยังไม่มีคำสั่งให้เพิ่มทีมอารักขาความปลอดภัย จะดูแลกันเท่าที่จำเป็น โดยคิดว่าถ้าเป็นตัวแทนประชาชนแล้ว ก็ไม่ควรกลัวประชาชน รวมทั้งยืนยันว่านายกฯจะไม่เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์เพื่อหนีปัญหาอย่างแน่นอน

นายศิริโชคกล่าวว่า ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุนายอภิสิทธิ์พูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างสถานการณ์ ถือเป็นการพูดไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งในไม่ช้า ก็จะพบว่ามีเหตุการณ์ปองร้ายจริง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า แม้จะมีข่าวการปองร้ายนายกฯ แต่นายกฯไม่ได้ขอเพิ่มกำลังตำรวจเพื่ออารักขาแต่อย่างใด เนื่องจากตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง นายกฯไม่สนใจเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่ได้อธิบายให้เข้าใจว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีความสำคัญ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ก็มีตำรวจจำนวน 3-4 นายคอยดูแลอยู่แล้ว

"อภิสิทธิ์"ไม่กลัว-เร่งพิสูจน์ตัวเอง

รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์แจ้งว่า หลังจากหน่วยงานด้านการข่าวแจ้งเตือน นายกฯงดเดินทางลงพื้นที่ต่างๆ ในช่วงปีใหม่นี้ ยกเว้นการเดินทางไปพักผ่อนกับครอบครัวที่จังหวัดกระบี่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายกฯถูกโทรศัพท์หลายสายโทร.เข้าไปข่มขู่หลายอย่าง ซึ่งจากการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์โทร.เข้า ส่วนใหญ่จะเป็นโทรศัพท์แบบเติมเงิน แต่มีหมายเลขที่เป็นหมายเลขส่วนตัว ซึ่งนายกฯได้สั่งให้ตรวจสอบแล้ว เนื่องจากมีรายงานว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว ไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่พยายามก่อความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง

นายอภิสิทธิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างพักผ่อนเป็นการส่วนตัวร่วมกับครอบครัวที่จังหวัดกระบี่ ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า เรื่องนี้ ไม่ได้ทำให้รู้สึกหวาดกลัว แต่จะทำให้ต้องเร่งทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเอง โดยเรื่องที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในช่วงต้นปี 2552 คือ ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะตัวเลขต่างๆ ในช่วงปลายปี 2551 ติดลบ อีกทั้งคนคาดหวังว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว ต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการตกงาน และการฝืดเคืองของเศรษฐกิจ ซึ่งยอมรับว่าเป็นงานที่หนักมาก

"ถ้าเล็งผลดีเยี่ยม ผมอยากเห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อย วิกฤตทางการเมืองคลี่คลาย และเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ในอัตราที่ประชาชนไม่เดือดร้อน"นายกฯกล่าว

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ไม่เคยได้ยินข่าวว่ามีรัฐมนตรีคนใดถูกข่มขู่ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีความพยายามที่จะปองร้ายนายกฯ เป็นเรื่องของตำรวจที่จะต้องตรวจสอบ และคงต้องดูแลความปลอดภัยนายกรัฐมนตรีให้ใกล้ชิดขึ้น

เพื่อไทยชี้แค่แผนเรียกคะแนนสงสาร

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พท. กล่าวว่า ไม่เชื่อว่านายอภิสิทธิ์กำลังตกอยู่ในอันตราย ตามที่มีรายงานอ้างหน่วยข่าวทางลับว่าจะมีคนลอบทำร้าย เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่มีความสำคัญ จนเป็นสาเหตุให้มีกระบวนการลอบทำร้าย ข่าวที่ออกมาน่าจะเป็นเพียงการสร้างภาพของนายอภิสิทธิ์ เพื่อเรียกคะแนนความสงสาร

นายจตุพรกล่าวถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า จะต่อต้านรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ต่อไปอย่างเปิดเผย ไม่ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จะพยายามขอเจรจากับแกนนำกลุ่ม หรือแม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมานตรี เพื่อขอให้ยุติการเคลื่อนไหวก็ตาม ดังนั้น หลังจากนี้ไป กลุ่ม นปช.จะเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้นายกรัฐมนตรียุบสภาเร็วที่สุด

อ้างอีสานชังมากแต่ไม่คิดทำร้าย

นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พท. กล่าวว่า ไม่น่าจะมีใครอยากจะทำอันตรายอะไรนายอภิสิทธิ์ เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีคงจะคิดไปเองจนกลัวเงาของตัวเอง หรือไม่คนในรัฐบาลเดียวกันอาจจะเล่นกันเองก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงสาเหตุอาจมาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อการตั้งรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้น นายกฯไม่ควรที่จะสร้างความคับแค้นและความเหลืออดให้ประชาชนอีก

นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด พท. กล่าวว่า ยอมรับว่าคนอีสานรู้สึกชิงชังนายกฯเป็นอย่างมากแต่ไม่ถึงขั้นที่จะลอบทำร้ายกันถึงขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่ว่านายอภิสิทธิ์หรือรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีเดินทางมาภาคอีสาน จะมีประชาชนเสื้อแดงพร้อมเท้าตบรอให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก
 
หยัน"อภิสิทธิ์"ภาวะผู้นำไม่มาก

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและโฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า รัฐบาลได้อำนาจในการบริหารมาด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการดึง ส.ส.กลุ่มหนึ่งของพรรคพลังประชาชนเดิมไปร่วมรัฐบาลด้วย และนำบุคคลที่มีส่วนร่วมกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาเป็นรัฐมนตรี ดังนั้น จึงต้องตอบคำถามกับสังคมถึงความเหมาะสม

นายพงศ์เทพกล่าวว่า เมื่อเห็นโฉมหน้าของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่กระจายตำแหน่งให้พรรคร่วมรัฐบาล ทำให้หลายฝ่ายไม่มั่นใจในความเป็นเอกภาพ และทิศทางการแก้ไขปัญหา ว่าจะเดินหน้าไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่ จากการพูดคุยกับนักธุรกิจหลายคน รู้สึกผิดหวังกับการนำคนที่ไม่มีความสามารถเพียงพอมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่มีไม่มาก ถูกครอบงำจากหลายกลุ่ม ทั้งภายในพรรคและพรรคร่วมรัฐบาล การกล้าตัดสินใจในเรื่องสำคัญ บางครั้งอาจจะต้องทำให้เกิดความบาดหมาง ซึ่งแตกต่างจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีความเป็นผู้นำสูง ที่นำประเทศแก้ไขปัญหาวิกฤตได้

"เชื่อว่าการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 มกราคมนี้ จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงขั้วทางการเมือง เพราะหลายพรรคยังไม่มีความพร้อมในการส่งตัวผู้สมัคร รวมทั้งติดเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ไม่สามารถสังกัดพรรคการเมืองได้ทันตามที่กฎหมายกำหนด แต่การเลืกตั้งซ่อมจะมีส่วนสำคัญในการชี้วัดความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้ได้" โฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณระบุ

เด็ก"มาร์ค"ชูแนวภาวะผู้นำใหม่

นายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีนายพงศ์เทพออกมาวิจารณ์นายอภิสิทธิ์เรื่องภาวะผู้นำและการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่นายพงศ์เทพจะออกมาวิจารณ์คนเป็นนายกฯ เพราะนายพงศ์เทพเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ แต่อยากบอกว่า ภาวะผู้นำประเทศของนายอภิสิทธิ์ ต้องการบริหารราชการเพื่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ผู้นำที่เข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้ตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่นายพงศ์เทพชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ เราควรให้โอกาสนายกฯและ ครม.ชุดใหม่ได้บริหารประเทศก่อน แล้วค่อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์Ž นายสาธิตกล่าว
ฮิต-3

"สุเทพ"ไม่ท้อหาทางต่อสาย"แม้ว"

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีติดต่อแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาบ้านเมือง ว่า มีความตั้งใจใช้การเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหาของบ้านเมืองให้มีความสงบสุข ประชาชนได้สบายใจ จึงพยายามติดต่อพูดคุยกับแกนนำกลุ่ม นปช. หรือบุคคลสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ หากทำได้จะติดต่อโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อยังไม่ได้นั่งพูดคุย พยายามส่งสารไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ
ส่วนเรื่องที่แกนนำ นปช.ระบุ ถ้าเจรจาด้วยมีเพียงเรื่องเดียวคือ ขอให้ยุบสภานั้น นายสุเทพกล่าวว่า จะรู้สึกอย่างไรก็เป็นเรื่องของแกนนำ นปช. ส่วนความพยายามการเจรจาจะทำไปเรื่อย ไม่ใช่ว่า นปช.ประกาศไปอย่างนั้นแล้ว ประเทศไทยจะต้องเป็นไปอย่างที่ประกาศ

"ผมทำเพื่อส่วนร่วมทำเพื่อประเทศ จะย่อท้อไม่ได้ ต้องทำไปเรื่อยๆ และพยายามติดต่อโดยตรงให้ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ความพยายามอยู่เช่นกัน รวมทั้งผ่านคนที่จะเข้าถึงตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้ได้ เข้าใจว่าท่านคงได้ยินได้ฟังแล้ว แต่ว่าคงพยายามได้พบได้คุยกันได้ด้วยตัวเอง" นายสุเทพกล่าว

บัญญัติทำนายรบ.เหนื่อยหนัก

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้ากลุ่มทศวรรษใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงบทบาทเป็นครั้งแรก ภายหลังมีการตั้ง ครม.ชุดใหม่ โดย ส.ส.ในสายไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2552 ว่า ดูจากสภาพการณ์แล้ว เชื่อว่ายังคงวุ่นวาย ไม่มีทางราบรื่น เพราะต้องยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องเสียงสนับสนุนรัฐบาลที่ยังปริ่มๆ แต่ส่วนนี้จะชัดเจนขึ้นหลังการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 11 มกราคมนี้ หากฝ่ายค้านคือ พท.กับพรรคประชาราชได้มาก การเมืองก็อาจจะร้อนฮึกเหิมมากขึ้น แต่หากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลได้มาก สถานการณ์ก็จะเบาบางลง แต่ถ้าตัวเลขหมิ่นเหม่ เกมล็อบบี้และการงัดเกมต่างๆ มาเล่น คงไม่ลดราวาศอกกัน รวมถึงการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเพื่อลดความน่าเชื่อถือรัฐบาล และเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาคงมีอยู่เรื่อยๆ

"ดังนั้น การเมืองปี 2552 รัฐบาลต้องเหน็ดเหนื่อยมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากปัญหาการเมืองแล้ว ยังมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจด้วย อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ยังมีปัจจัยที่หนุนรัฐบาล ก็คือความรู้สึกของประชาชน ที่ตั้งความหวังว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์จะช่วยหาออกให้วิกฤตได้ รวมทั้งกำลังใจจากภาคธุรกิจเอกชน ที่ระมัดระวังท่าทีไม่ค่อยแสดงออกว่าจะอยู่ข้างหนึ่งข้างใด น่าจะช่วยพยุงให้รัฐบาลเดินหน้าได้" นายบัญญัติกล่าว

คำมั่นไม่มีฝ่ายค้านในรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลอาจต้องเจอกับการเมืองทั้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล และการเมืองภายนอก นายบัญญัติกล่าวว่า การเมืองภายในพรรคร่วมช่วงสั้นๆ นี้ ไม่กังวล เพราะกระแสเรียกร้องให้สลับขั้วที่มีคนขานรับมาก โดยวิสัยของนักการเมืองต้องระวังและเดินให้รัดกุม แม้ภายในจะไม่ราบเรียบนักก็ตาม เพราะการสลับขั้วครั้งนี้ อาจส่งผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย

ส่วนปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายบัญญัติกล่าวว่า ไม่ต้องห่วง ทั้งหมดที่แสดงออก เป็นเพราะพรรคมีโครงสร้างเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อไรก็ตามที่เขารู้สึกว่าความขัดแย้งกันเอง จะทำให้พรรคหรือสถาบันหลักของชาติมีปัญหา เขาจะหยุด นี่คือประชาธิปัตย์Ž

เมื่อถามว่า ถ้าต้องมีการปรับ ครม. ถึงตอนนั้นการพิจารณาจัดสรรตำแหน่งภายในพรรคควรต้องให้ความเป็นธรรมอย่างไร นายบัญญัติกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายปัจจัยมากกว่าเรื่องความเป็นธรรม ทั้งเรื่องที่ต้องหยิบยื่นตำแหน่งให้กับพรรคร่วมรัฐบาลมากเป็นพิเศษ รวมถึงการที่ต้องจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด ท่ามกลางการขับเคี่ยวช่วงชิงทำให้ต้องรวบรัดให้เร็วขึ้น แต่อย่ากังวล เมื่อถามว่า จะไม่มีฝ่ายค้านในรัฐบาลใช่หรือไม่ นายบัญญัติกล่าวว่า ไม่มีแน่นอน วันนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยให้การทำงานของรัฐบาลที่ประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ขับเคลื่อนไปให้ได้ นำนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

เผยปัจจัยเสี่ยงทำการเมืองระอุ

"รัฐบาลจะอยู่ต่อไปได้ คือ ต้องไม่ทำใน 5 ข้อ คือ 1.ไม่แบ่งแยกประชาชน ไม่แบ่งฝ่าย อย่าคิดว่าภาคนั้นสนับสนุน ภาคนี้ไม่สนับสนุนเรา 2.ไม่พูดจาท้าทายประชาชน หรือพูดสวนความเห็นของประชาชน ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมามีรัฐมนตรีสายล่อฟ้าซึ่งขาดในส่วนนี้ 3.ไม่เลือกปฏิบัติในวงราชการ เลือกปูนบำเหน็จความชอบให้กับคนที่สนับสนุนอย่างขาดเหตุผล 4.ต้องไม่ลืมคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ในตอนแถลงนโยบาย แล้วเดินไปพร้อมกับกรอบ 9 ข้อที่วางไว้ และ 5.ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาล้มคว่ำ คือ ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น วันนี้คนยังไม่วางใจเท่าไหร่ หลายคนพูดถึงพรรคร่วม ซึ่งผมขอว่าต้องให้โอกาส อย่าคิดว่านักการเมืองเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นักการเมืองก็ต้องฟังเสียงประชาชนเหมือนกัน หากประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันแสดงออกในการตั้งข้อรังเกียจการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง นักการเมืองก็ต้องระวังตัว การเมืองปี 2552 จะร้อนมากขึ้นหรือไม่อยู่ตรงนี้" นายบัญญัติกล่าว

ผบ.ทอ.หวังให้2อำนาจเดินเต็มที่

พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทของกองทัพอากาศต่อสถานการณ์การเมืองไทยในปี 2552 ว่า หวังว่าการเมือง และรัฐบาลที่จะบริหารประเทศต่อไป น่าจะนำบทเรียนมาปฏิบัติ อะไรที่มันจะเกิดเป็นประเด็นข้อขัดแย้งจนนำมาซึ่งการประท้วงอะไรต่างๆ น่าจะต้องรีบแก้ไข แต่ทหารก็คงจะอยู่บทบาทเดิมคือปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง หากได้รับการร้องขอก็เข้าไปช่วยเหลือในฐานะเจ้าพนักงาน แต่โดยปกติ ก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว

"ปกติกองทัพไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว แต่ว่านักการเมืองบางทีพยายามดึงทหารไปยุ่ง ทั้งนี้จุดยืนของกองทัพจะไม่ยุ่งอยู่แล้ว แต่ก็คงหลีกเลี่ยงยาก เพราะเวลาไปงาน หรือร่วมงานพิธีต่างๆ ก็จะมีผู้สื่อข่าวมาสอบถามบ้าง เราก็จะต้องแสดงความคิดเห็นบ้าง แต่เราก็จะต้องระวังเพราะบางทีการแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง แต่บางคำพูดอาจจะทำให้นักการเมืองไม่พอใจ ก็พยายามเอาประโยคของเราไปต่อเป็นประเด็นออก ซึ่งเราจะต้องพยายามประคับประคองไม่ให้เป็นประเด็นต่อไป ผมเคยพูดคุยกับพวกที่เกี่ยวข้องหลายคน เราอยากให้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ดำเนินการไปเต็มที่ไม่ให้มีปัญหามันก็จะราบรื่น ถ้าเผื่อว่ามัวแต่เล่นการเมืองกันไป กฎหมายก็ออกมาไม่ได้ ทุกอย่างก็จะติดขัดกันหมด" ผบ.ทอ.กล่าว

อยากเห็นบริหารโดยไม่ขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองกลุ่มก๊วนการเมืองที่อาจจะส่งผลในอนาคตอย่างไร พล.อ.อ.อิทธพรกล่าวว่า เรื่องพรรคการเมือง หรือกลุ่มก๊ก อยู่กับการเมืองไทยมานาน การที่เรามีนักการเมืองมีหลายก๊ก ทำให้พรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง ฉะนั้นถ้ามีก๊ก มีหลายกลุ่ม ก็จะมีการเรียกร้องอะไรต่างๆ ก็เลยทำให้สิ่งที่พรรคต่างๆ มาร่วมเป็นรัฐบาลก็จะต้องมีการเรียกร้องมาก โดยเฉพาะนโยบายที่ตั้งไว้ก็ไม่เป็นไปตามที่ได้แถลงไว้ เราอยากให้การเมืองของประเทศนิ่ง และมีความเข้มแข็ง เราอยากให้บริหารโดยที่ไม่มีความขัดแย้ง เมื่อฝ่ายบริหารนำเรื่องเข้าสภา เรื่องก็ผ่านไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่อยากให้ทุกอย่างมีความขัดแย้งจนถึงสะดุดบริหารต่อไปไม่ได้Ž พล.อ.อ.อิทธพรกล่าว 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์