เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 25 ธ.ค. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ได้รับฟังข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ ภาคสังคม จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรเครือข่ายพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเครือข่ายภาคประชาชน นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เห็นว่าระบบภาษีในบ้านเรายังด้อยกว่าประเทศอื่น และเห็นด้วยที่ควรจะมีภาษีทรัพย์สิน เพราะจะทำให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นหัวใจในการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ที่ผ่านมามีการเก็บภาษีแยกกันระหว่างภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน หากมีภาษีทรัพย์สินจะทำให้รายได้ตกอยู่ในท้องถิ่นและลดภาระรายจ่ายในท้องถิ่นได้ด้วย เพราะทรัพย์สินไม่สามารถโยกย้ายไปที่ไหนได้ ส่วนภาษีมรดกนั้นตนยอมรับว่าการออกแบบค่อนข้างยุ่งยาก และเงินไม่ได้รับมาก อย่างที่เราคิด แต่ก็จะศึกษารูปแบบความเป็นไปได้
นายกฯ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้ยกเลิกหวยออนไลน์ และการควบคุมอบายมุขต่างๆ นั้น ตนขอยืนยันว่าไม่เคยยอมรับทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้อง หรือส่งเสริมอบายมุขที่เรียกว่ากาสิโน
เพราะไม่เคยเห็นเมืองไหนที่โตมาจากเงินกาสิโนแล้วไม่มีผลเสีย เพราะฉะนั้นยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้ แต่ถ้าหากจำเป็นต้องมีก็จะไม่มีการส่งเสริมหรือโฆษณา และต้องมีการควบคุมอย่างชัดเจน ส่วนกรณีของหวยออนไลน์ที่จำได้ว่าเกิดขึ้นประมาณปี 2538 และต่อมามีการฟ้องร้องเพื่อระงับโครงการ และรัฐบาลแพ้จนต้องเจรจา อย่างไรก็ตามหากไม่ดำเนินโครงการแล้วจะต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งเข้าใจว่าเป็นหลักพันล้านบาท ก็ต้องคิดให้หนักว่าเราควรจะทำอย่างไร เพราะหากเรายอมเสียเงินค่าปรับก็อาจจะมีคนมาฟ้องร้องว่าทำให้รัฐเสียหายเช่นกัน ก็ต้องพิจารณาในรายละเอียด
"และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือมีการโฆษณาว่าจะนำรายได้ที่ได้จากการขายหวยบนดินไปเป็นทุนการศึกษาให้เด็ก เพราะฉะนั้นต้องมีการควบคุมให้ชัดเจนและผมเห็นว่าถ้าไม่มีมันก็จะดี แต่ก็ขอกลับไปทบทวนดูก่อน หากจำเป็นต้องมีจริงก็ต้องมีระบบการควบคุม" นายกฯ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงาน โดยจะฝึกอบรมและส่งกลับภูมิลำเนา เพื่อให้เริ่มต้นรัฐวิสาหกิจชุมชนและจะมีการนำบัณฑิตจบใหม่เข้าไปทำงานในโรงเรียน
โดยทำงานด้านเอกสารหรืองานธุรการเพื่อให้ครูได้ทำหน้าที่สอนหนังสือได้อย่างเต็มที่ สำหรับโครงการเมกะโปรเจ็กต์นั้นตนไม่เคยคิดว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะโครงการเหล่านี้ต้องผ่านขั้นตอนกฎหมาย กว่าจะใช้ได้ก็เลยสถานการณ์ที่ต้องการกระตุ้นแล้ว แต่สิ่งที่คิดว่าจำเป็นต้องทำคือการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขนส่งระบบราง และการพัฒนาแหล่งน้ำ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินไปลงทุนเพื่อทำอุโมงค์ผันน้ำมาจากลาว เพราะเห็นว่าควรจะพัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่อีสานมากกว่า