ไม่ง่ายเสียแล้วสำหรับรัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะบริหารงานประเทศให้ราบรื่น
ไม่ใช่แค่เรื่องที่ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าไทย ออกมาแสดงความผิดหวังต่อโฉมหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้
ว่าเป็นเพียงมือใหม่หัดขับ
ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนโดยนักบริหารมืออาชีพ
แต่ยังมีเรื่องที่ส่อเค้าว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องบานปลาย
คือการออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ต่อการถูกเขี่ยหลุดออกจากโผรัฐมนตรีในนาทีสุดท้าย
โดยมีชื่อนายวีระชัย วีระเมธีกุล ตัวแทนทุนซีพีเข้ามาเสียบแทน
เท่าที่รู้ไม่ได้มีแค่นายนิพิฏฐ์เท่านั้น
ข่าวว่ายังมีส.ส.อีกครึ่งค่อนพรรคที่ไม่พอใจการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีครั้งนี้ เพียงแต่ยังสงวนท่าทีไม่ออกมาตีโพยตีพายเหมือนอย่างนายนิพิฏฐ์
ปัญหาของประชาธิปัตย์คือการเป็นฝ่ายค้านมาอย่างยาวนาน 8 ปี
ทำให้ส.ส.ที่เคยอาวุโสอยู่แล้วเพิ่มความอาวุโสมากขึ้นไปอีก หรือพวกเคยเป็นส.ส.อาวุโสขนาดกลาง พอ 8 ปีผ่านไปก็ขยับขึ้นมาเป็นอาวุโสเต็มขั้น
ยังไม่รวมส.ส.รุ่นใหม่แต่ไฟแรง และเคยโชว์ผลงานได้เข้าตากรรมการสมัยทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
วันดีคืนดีพอได้เป็นรัฐบาล ส.ส.เหล่านี้ก็เลยมายืนออรอเป็นรัฐมนตรีเต็มพรืดไปหมด
ลำพังโควตาพรรค 17 ที่นั่งก็ไม่พอยาไส้อยู่แล้ว
แถมยังต้องเฉือนเนื้อชิ้นโตอย่างกระทรวงคมนาคมและมหาดไทยให้กับกลุ่มเพื่อนเนวินอีกต่างหาก
รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจที่ต้องยกให้พรรคร่วม เพื่อตอบแทนการย้ายขั้วมาสนับสนุนประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพลิกขั้ว มีกระแสข่าวกลุ่มเพื่อนเนวินยื่นเงื่อนไขต้องการให้นายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ถึงจะยอมสนับสนุน
แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯพรรคประชาธิปัตย์ พยายามเกลี้ยกล่อมว่าสนับสนุนนายอภิสิทธิ์นั่นแหละดีแล้ว เพราะถ้าเป็นนายชวน การต่อรองอะไรต่างๆ จะทำได้ยาก
เพราะนายชวน เป็นคนแข็งในหลักการมากกว่านายอภิสิทธิ์
การที่นายนิพิฏฐ์ยกย่องเชิดชูนายชวน ว่าเป็นเทพเจ้าทางการเมือง ถึงจะฟังดูเว่อร์ไปหน่อยแต่ก็สะท้อนว่านายชวนคือผู้มีบารมีตัวจริงในประชาธิปัตย์
ขณะที่การดับชนวนคลื่นใต้น้ำจากการตั้งครม.ครั้งนี้
จะเป็นบททดสอบสำคัญว่านายอภิสิทธิ์ มีบารมีในพรรคมากน้อยขนาดไหน