ได้รับการจับตามองจากสื่อต่างชาติในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย
โดยเฉพาะการเข้ารับตำแหน่งแบบไม่ธรรมดา และท่ามกลางสารพัดปัญหาในประเทศที่รุมเร้า ปัญหาภายนอกที่รอถล่มซ้ำ
เส้นทางการดำรงตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในมุมมองของสื่อต่างชาติจึงขรุขระและเต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรค
-นิตยสารไทม์ สหรัฐ
ฮันนาห์ บีช ผู้สื่อข่าวไทม์ประจำกรุงเทพฯ เขียนบทความเรื่อง "Can Prime Minister Abhisit Mend Thailand?" นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์จะประสานรอยร้าวประเทศไทยได้หรือไม่
ระบุว่า ตัวนายอภิสิทธิ์ อาจได้รับการยอมรับจากนานาชาติในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
แต่ปัญหาใหญ่ภายในที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องเจอ คือ การประคับประคองถือหางเสือพรรคร่วมและบุคคลที่เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลผสมให้ดำเนินไปตลอดรอดฝั่ง
โดยเฉพาะกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ นักการเมืองที่เคยจับขั้วกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และมีความเจนจัดในเกมจัดสรรผลประโยชน์ทางการเมือง
บีช ระบุว่า ในอดีตนายเนวิน มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก
แม้แต่สื่อไทยบางค่ายที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพ.ต.ท.ทักษิณยังตั้งคำถามว่า นายอภิสิทธิ์จะมีความสามารถเพียงพอรับมือนักการเมืองเขี้ยวลากดินในรัฐบาลผสมชุดใหม่ได้หรือไม่
นายอภิสิทธิ์ยังต้องจัดการกับปัญหาความแตกแยกระหว่างคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง
พรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงแน่นหนาในภาคใต้ แต่ขาดการสนับสนุนจากกลุ่มคนยากจน รวมถึงประชากรในชนบทส่วนใหญ่ทั้งประเทศ
ขณะที่นายอภิสิทธิ์มีภาพลักษณ์เป็นคนไม่ติดดิน ทำให้การขอแรงสนับสนุนจากเกษตรกรชาวไร่ชาวนาอาจไม่ใช่เรื่องง่าย
ต่างจากพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถึงแม้จะร่ำรวยและต้องคดีใช้อำนาจในทางมิชอบ แต่กลายเป็นนักการเมืองที่ได้ใจชาวบ้านจากการออกนโยบาย เช่น กองทุนหมู่บ้านและโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
คนไทยคงได้แต่ตั้งความหวังว่านายอภิสิทธิ์ จะรักษาคำมั่นสัญญา ประกาศเร่งสร้างความสมานฉันท์
ไม่เช่นนั้นผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ จะยิ่งทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเลวร้ายหนักเหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
ซึ่งยุคนั้นประชาธิปัตย์ควบคุมสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เช่นกัน จนต้องพบจุดจบ
- สำนักข่าวบีบีซี อังกฤษ
โจนาธาน เฮด หัวหน้าข่าวบีบีซีประจำกรุงเทพฯ รายงานข่าวเรื่อง "Thai PM rule out cabinet deals." นายกฯ ไทยปฏิเสธข่าวการต่อรองผลประโยชน์ในคณะรัฐมนตรี
มีเนื้อหาว่า นายอภิสิทธิ์ยืนยันกับบีบีซีว่า ไม่ได้ขายวิญญาณของตัวเองเพื่อแลกกับการจัดตั้งรัฐบาล และยอมให้กลุ่มผู้แปรพักตร์จากรัฐบาลชุดเก่าเข้ามาครองที่นั่งในคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็พบว่าหลายคนยังอยู่ในตำแหน่งเดิม แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ
เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ไทยช่วงไม่นานมานี้ แทบไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนต้องเริ่มต้นการทำงานด้วยสภาพปัญหารอบด้านมากมายเฉกเช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์กำลังเผชิญอยู่
อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ และแรงต่อต้านจากกลุ่มคนที่ไม่พอใจทั้งสถาบันศาลและกองทัพ ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการยุบพรรคพลังประชาชน
นายอภิสิทธิ์โจมตีรัฐบาลชุดที่แล้ว (นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์) ว่า ยึดผลประโยชน์พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนผลประโยชน์ของชาติ
แต่ล่าสุด เขากล่าวว่าจะสานนโยบายประชานิยม ซึ่งช่วยให้พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับความนิยมในต่างจังหวัดต่อไป
-สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สหรัฐ
แดน ริเวอร์ส ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นประจำกรุงเทพฯ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเพิ่งสัมภาษณ์พิเศษนายอภิสิทธิ์หลังเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อไม่นานมานี้
เขียนวิเคราะห์เส้นทางการเมืองของนายกฯ ไทยคนใหม่ ไว้ในบล็อก "Cnn : In The Field"
ว่า นายอภิสิทธิ์มีประวัติการศึกษาดีเยี่ยมจากอังกฤษ เช่น จบจากโรงเรียนอีตันและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นเพื่อนร่วมสถาบันกับคนดังในแวดวงการเมืองอังกฤษ เช่น นายบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีลอนดอน และนายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม
แต่นายริเวอร์สมีลางสังหรณ์ว่า นั่นไม่ใช่คุณสมบัติช่วยให้นายอภิสิทธิ์อยู่ในเก้าอี้นายกฯ ได้ระยะยาว
สาเหตุเพราะรัฐบาลผสมมีความเปราะบางสูง
คนที่เข้ามาร่วมรัฐนาวาหลายคนเพิ่งเป็นศัตรูทางการเมืองกันอยู่เมื่อไม่กี่วันก่อนและภักดีต่อพ.ต.ท.ทักษิณ
สิ่งน่าเป็นห่วงอีกประเด็น คือ นายอภิสิทธิ์ขาดความเชื่อมโยงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ยากจน
นอกจากนั้นยังขาดประสบการณ์ใน "โลกที่เป็นจริง" ของสังคมไทย
ส่งผลให้ต้องลอกเลียนแบบนโยบายหลายด้านของพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อเอาชนะใจคนจนในชนบท
ปัญหาตอนนี้ก็คือนายอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ โดยไม่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนโดยตรง
แต่มาเป็นผู้นำได้เพราะการต่อรอง เจรจาแลกเปลี่ยนเก้าอี้ในรัฐสภา
ไม่ว่าช้าหรือเร็วในที่สุดย่อมถึงวันที่นายอภิสิทธิ์ ต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบจากคนทั่วประเทศ (การเลือกตั้ง)
และถ้าเท้าเต้นฟุตเวิร์กไม่ไวพอ น่ากลัวจะล้มคว่ำกลางทางเสียก่อน
-สำนักข่าวซินหัว จีน
ซินหัวให้น้ำหนักไปกับการแจกแจงเส้นทางชีวิตการเมืองก่อนถึงวันเป็นนายกฯ ไทยคนที่ 27 ว่า
นายอภิสิทธิ์ เกิดที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2507 พ่อแม่เป็นคนระดับ "ชนชั้นนำ" ของไทย
สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จากนั้นเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสู่ชายคาพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะส.ส.กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2535
เคยดำรงตำแหน่งหลายเก้าอี้ เช่น โฆษกพรรค โฆษกรัฐบาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ประธานกรรมาธิการการศึกษา ฯลฯ
ปี 2548 ได้รับเลือกมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคแทนนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่นำลูกพรรคแพ้พรรคไทยรักไทยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ปี 2549 พรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านบอยคอตการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2549 เป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่การก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 กันยายน ปีเดียวกัน
เมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ได้รับอานิสงส์จากเหตุรัฐประหาร เพราะพรรค "พลังประชาชน" หรือ ไทยรักไทยเดิม นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ชนะเลือกตั้งและจัดรัฐบาลผสม 6 พรรคสำเร็จ ขณะที่ประชาธิปัตย์กลายเป็นฝ่ายค้าน 1 เดียวในสภา
หลังนายสมัครพ้นเก้าอี้นายกฯ ตามคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์แพ้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในการโหวตลงมติเลือกนายกฯ คนใหม่ ด้วยคะแนน 163 ต่อ 298
ภาพลักษณ์นายอภิสิทธิ์จัดอยู่ในกลุ่มคนหนุ่มมีการศึกษาดี เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เป็นตัวแทนคนชั้นกลางและคนระดับบนในเมืองหลวง
แต่ไม่สามารถเข้าถึงประชากรกลุ่ม "รากหญ้า" ทางภาคเหนือและอีสาน ฐานเสียงหลักฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ
ล่าสุด นายกฯ อภิสิทธิ์ประกาศว่าจะสานต่อนโยบายประชานิยมของพ.ต.ท.ทักษิณ
เพื่อหวังเอามัดใจคนจนให้ได้