ศึกชิงผู้ว่าฯกทม.แปลก ผู้สมัครเมินเวทีปราศรัย เน้นลงพท.เจาะกลุ่ม คนชรา-คนจน-ชุมชน-ชาวนา

ผู้สมัครฯผู้ว่าฯกทม.ขึ้นเวทีปราศรัยน้อย "แซม"ชูแหล่งท่องเที่ยวชุมชน "ลีน่าจัง" สวมชุดม่อฮ่อม-งอบลงพื้นที่หาเสียงสาธิตเกี่ยวข้าว "สุขุมพันธ์"เสนอขยายบ้านพักคนชราบางแคเพิ่มสวัสดิการลดภาวะเจ็บป่วย12-15 ปี ก่อนเสียชีวิต "แก้วสรร"ประสานการเคหะฯเปิดพื้นที่ตาบอดจัดที่อยู่อาศัยให้คนจน


การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แม้จะผ่านพ้นไปแล้วกว่าครึ่งทาง แต่เป็นน่าสังเกตว่าผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่เพื่อหาเสียงเหมือนเช่นการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานว่า จนถึงขณะนี้มีผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เพียง 2 รายที่ประสานไปยัง กทม.เพื่อจองพื้นที่สวนสาธารณะเปิดเวทีปราศรัย คือ นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ หมายเลข 4 ขอใช้เวทีปราศรัยที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนนายแก้วสรร อติโพธิ หมายเลข 12 ขอใช้เวทีปราศรัยสวนลุมพินี วันที่ 20 ธันวาคม เวลา 15.00-20.00 น.และวันที่ 22 ธันวาคม ที่ลานคนเมือง (เสาชิงช้า) เวลา 17.00-19.30 น.

สำหรับการหาเสียงของผู้สมัครคืนอื่นๆ นั้น เมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หมายเลข 10 พรรคเพื่อไทย เดินทางไปหาเสียงที่มัสยิดดารุ้ลมุตตะกีน (คู้) เขตหนองจอก จากนั้นแถลงว่า ธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนรามัญ และมุสลิมในพื้นที่หนองจอกเป็นเสน่ห์อย่างมาก อีกทั้งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมิ หากได้เป็นผู้ว่าฯกทม. จะพัฒนาให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยจะประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้มีการจัดท่องเที่ยวในชุมชน ทั้งการนั่งรถสามล้อ และการท่องเที่ยวทางน้ำ และจะให้เป็นต้นแบบก่อนขยายไปยังเขตอื่นๆ

ด้านนางลีนา จังจรรจา หรือ ลีน่า จัง หมายเลข 3 ซึ่งสวมชุดม่อฮ่อมและงอบลงพื้นที่พบเกษตรกรและสาธิตการเกี่ยวข้าวย่านสุเหร่าศาลาแดง เขตหนองจอก กล่าวว่า หากเป็นผู้ว่าฯกทม จะส่งเสริมให้ชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้น โดย กทม.จะให้งบประมาณในแต่ละชุมชนรวมกลุ่มทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ลดการใช้สารเคมี ซึ่งจะทำให้ข้าวปลอดสารเคมี และลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ จะนำผลิตภัณฑ์ชุมชนไปจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า กรีน มาร์ท (Green Mart)

ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่หาเสียงที่บ้านบางแค โดยแถลงนโยบายว่า จะผลักดันให้ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการที่ดี ปัจจุบันผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป มีประมาณ 600,000 คน และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่สถานที่พักฟื้นมีจำกัด จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมีการวางแผนรองรับที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีนโยบายขยายสถานที่พักผู้สูงอายุเช่นเดียวกับบ้านพักผู้สูงอายุบางแคอีก 3-4 แห่ง ให้ครอบคลุมทุกมุมเมืองกรุงเทพฯ โดยขอให้รัฐบาลอนุมัติการขยายอัตราข้าราชการและลูกจ้าง เห็นว่าควรมีการถ่ายโอนภารกิจบ้านบางแคให้ กทม.ดูแลตามนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วย

"นอกจากนี้ จะมอบสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ ได้แก่ การให้บริการทางการแพทย์ อนามัย เพื่อลดภาวะความเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่มีช่วงเวลายาวนาน 12-15 ปี ก่อนเสียชีวิต ให้น้อยลงเช่นเดียวกับในต่างประเทศที่มีช่วงเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น ส่งเสริมกิจกรรมให้ผู้เกษียณอายุมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม หรือสร้างทุนมนุษย์รุ่นใหม่ด้วยการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ คุณธรรม และจริยธรรม ให้แก่บุตรหลาน ส่วนเบี้ยยังชีพนั้น เบื้องต้นจะยังไม่มีการเพิ่ม เพราะงบประมาณ กทม.มีจำกัด ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเรียนรู้เทคโนโลยีการสื่อสาร เปิดเว็บไซต์ www.oldisyoung.com เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ และจัดเว็บบอร์ดแลกปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นซึ่งกันและกัน" 

นายแก้วสรร อติโพธิ หมายเลข 12 กลุ่มกรุงเทพฯใหม่ ลงพื้นที่หาเสียงที่การเคหะแห่งชาติ สำนักงานใหญ่ เขตบึงกุ่ม โดยบรรยากาศการหาเสียงเป็นไปอย่างเรียบง่าย เจ้าหน้าที่ และประชาชนให้การต้อนรับพอสมควร นายแก้วสรร กล่าวว่า หากว่าได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จะประสานการเคหะฯเปิดพื้นที่ตาบอด หรือพื้นที่รกร้างในเขตกรุงเทพฯ สนับสนุนโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองกว่า 700,000 คน มีโอกาสผ่อน เช่า หรือซื้อ เป็นของตนเองได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องดำเนินการจัดซื้อและจัดหาที่ดินเอง

"เพราะหากให้เอกชนดูแลอาจมีปัญหา เหมือนโครงการบ้านเอื้ออาทรที่สร้างในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีคนเข้าไปอยู่อาศัย สุดท้ายขาดทุน หลายฝ่ายมองว่าโครงการนี้จะซ้ำซ้อนกับการเคหะฯ แต่ผมกลับเห็นว่าเป็นหน้าที่ของการเคหะฯ ที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือชุมชน โดย กทม.จะเป็นฝ่ายจัดซื้อที่ดิน แล้วให้การเคหะฯ เข้ามาออกแบบวางโครงสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ว่าการเคหะฯพร้อมที่จะเข้ามาร่วมงานและแก้ปัญหา ส่วนคนยากจน เด็กเร่ร่อน จะประสานกับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ให้เข้ามาช่วยเหลือเพราะมีประสบการณ์"  นายแก้วสรรกล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์