หอการค้ายี้ทีมเศรษฐกิจ "ครม.มาร์ค 1" ชี้วิกฤติวันนี้ใช้มือใหม่หัดขับระวังชาติพัง ก.แรงงานสรุปปี 51 โรงงาน 597 แห่ง ลอยแพลูกจ้างแล้วร่วม 5 หมื่น อีกกว่าแสนอนาคตแขวนบนเส้นด้าย สั่งจับตาเข้มนายจ้าง 265 แห่ง ส่อฉวยปิดกิจการถาวรหลังปีใหม่
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ธันวาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้แก่ นายกรณ์ จาติกวณิช นายเกียรติ สิทธีอมร นายไพฑูรย์ แก้วทอง นายอลงกรณ์ พลบุตร เดินทางไปยังสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงแนวนโยบาย โดยมีนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทยและคณะ ต้อนรับ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นายจุติ ไกรฤกษ์ ไม่ได้ร่วมคณะไปด้วย ทั้งที่มีการจัดเตรียมเก้าอี้และป้ายชื่อไว้ให้
ภายหลังการหารือประมาณ 1 ชั่วโมง นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้แลกเปลี่ยนและหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ส่วนข้อเสนอในเชิงนโยบายที่หอการค้าไทยเสนอมาเกือบทั้งหมดสอดคล้องกับแนวคิด เป็นนโยบายของรัฐบาลและสอดคล้องกับการที่ได้ไปพบกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน สภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และเปิดใจในประเด็นที่สภาหอการค้าฯ บอกว่าเมื่อเห็นข่าวโผ ครม.แล้วรู้สึกผิดหวัง ซึ่งตนบอกไปว่าเข้าใจเสียงสะท้อนและความรู้สึกดี และอธิบายไปว่า ในการทำงานทางการเมือง เป้าหมายหรือวิธีการในขณะนี้คืออะไร และต้องเป็นอย่างไรบ้าง
“ผมมีหน้าที่ในการที่จะหาความสมดุลในการบริหารเพื่อให้การเมืองเดินต่อไปได้ และเพื่อที่ผมจะได้เข้าไปแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมก็จะทำให้ดีที่สุด ขณะนี้รายชื่อ ครม.ที่เป็นข่าวก็ยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็พร้อมรับเสียงสะท้อน ไม่ได้โต้แย้งอะไร เชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะหอการค้าเท่านั้นที่สะท้อนภาพออกมา ยังมีเสียงสะท้อนผ่านสื่อมวลชนเข้ามา เพราะฉะนั้นผมมีหน้าที่ในการหาความสมดุลตรงนี้และดำเนินการต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการปรับเปลี่ยนตัวว่าที่รัฐมนตรีตามเสียงสะท้อนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รายละเอียดขอยังไม่พูดในตอนนี้
หอการค้าผิดหวังทีมเศรษฐกิจ
ด้านนายประมนต์กล่าวว่า ประเด็นที่ภาคธุรกิจเป็นห่วงคือรายชื่อ ครม. โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ เท่าที่มีข่าวออกมารู้สึกผิดหวังมาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาทีมเศรษฐกิจในส่วนบุคคลของพรรคประชาธิปัตย์สามารถยอมรับได้ สิ่งที่ผิดหวังคือ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ที่คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลควรจะทบทวนและน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของมือใหม่หัดขับ จะทำให้เศรษฐกิจเสียหายได้
"ในความเห็นของภาคเอกชน นายกรัฐมนตรีรับปากจะกลับไปดูแลและแก้ไขให้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งภาพรวมอยากให้รัฐบาลนำบุคคลที่มีความรู้และความสามารถและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมาบริหารประเทศ เพราะจากรายชื่อทีมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพรรคร่วม ภาคเอกชนไม่สามารถรับได้ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีแก้ไขเร่งด่วน" นายประมนต์กล่าว
ส่วนข้อเสนอที่หอการค้าไทยหารือกับรัฐบาล ประธานหอการค้าไทยกล่าวว่า ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นตรงกัน แต่มีบางเรื่องที่ต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจน และรัฐบาลก็มองเห็นปัญหาต่างๆ ไม่แตกต่างจากภาคเอกชน
"ภาคเอกชนสะท้อนความรู้สึกให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่ทราบ เอกชนไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าควรจะเป็นใครมาบริหารประเทศในทีมเศรษฐกิจ แต่หากถามในใจ รายชื่อก่อนหน้านี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายเกียรติ สิทธีอมร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถือว่ารับได้" นายประมนต์กล่าว
ยี้"พรทิวา"อัดไม่รู้เรื่องการค้า
แหล่งข่าวจากหอการค้ากลุ่ม 4 ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพชร และ จ.พิจิตร เปิดเผยว่า จากการหารือกับสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ นางพรทิวา นาคาศัย ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย หรือมัชฌิมาธิปไตยเดิม มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องการค้า ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ จึงอยากเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์พิจารณาอีกครั้ง
"ตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ เป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมาก ขนาดประธานหอการค้าบางคนยังไม่กล้ารับตำแหน่งนี้เลย แต่คนนี้เป็นใคร มีความรู้อะไร จะมาทำตรงนี้ ไม่ใช่ว่าจะปล่อยให้เป็นไปตามโควตาทั้งหมดจนไม่สนใจความเหมาะสม ขอให้นายอภิสิทธิ์ดูแลด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
“ศุภชัย”ขอโอกาสครม.ใหม่ทำงาน
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่ดี ซึ่งนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทราบดี แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาภายในบ้างแต่เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว คิดว่าจะดีขี้น ความน่าเชื่อถือก็จะกลับมาได้ไม่อยาก ขณะนี้เท่าที่ทราบนักท่องเที่ยวกลับมาไทยแล้ว ส่วนนักลงทุนความเชื่อมั่นก็จะกลับมาไม่ยากเช่นกัน ทั้งนี้ ไม่ขอแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ขอให้เปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ทำงานก่อน
ส่วนเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะชะลอตัว แต่ประเทศในเอเชียและประเทศกำลังพัฒนา จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ปีหน้ามีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะติดลบ 0.5-0.9% ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมีปัจจัยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์การเงินโลกน้อยเพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเงินโลกน้อย ประกอบกับประสบการณ์ที่ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วทำให้มีกฎระเบียบ กฎหมายที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ได้ดี มีการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2552 ประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัว 4-5% ได้
อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียต้องรู้จักที่จะเร่งสร้างอุปสงค์ภายใน เพื่อทดแทนตลาดโลกที่หดตัวลงจากปัญหาเศรษฐกิจ จึงจะทำให้เศรษฐกิจในเอเชียฟื้นตัวได้เร็ว และมั่นใจว่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ดร.ศุภชัยปฏิเสธตอบคำถามเกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด รวมถึงเรื่องที่มีกระแสข่าวว่าถูกทาบทามให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์
นายกฯรับปากแก้ปัญหาที่ดิน
เมื่อเวลา 12.56 น.นายกรัฐมนตรีเดินทางเข้ามายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีผู้ชุมนุมเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัมสี่ภาค มารอพบ นายอภิสิทธิ์ได้ตรงเข้าไปหากลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อรับฟังปัญหา โดยรับปากว่าจะเร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำมานานแล้ว แต่ขณะนี้มีกฎหมายที่ทับซ้อนกันอยู่หลายฉบับ แต่จะไปขอร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ไปดู เพื่อคลี่คลายข้อกฎหมาย ส่วนปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ แนวคิดเรื่อง ส.ป.ก.เดิมของพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าแก้ปัญหาที่ดินทำกินได้ ที่ผ่านมาเคยดำเนินการ แต่ต้องสะดุดไป ขอยืนยันว่า ส.ป.ก.สามารถแก้ปัญหาได้จริง
ด้านนางร้อย สีหาพงษ์ ชาวบ้านชุมชนคลองเตย เข้าร้องทุกข์ต่อนายกฯ ทั้งน้ำตาว่า ขอให้ช่วยด้วย เพราะเป็นหนี้นอกระบบอยู่ 2 แสนบาท ซึ่งนายกฯ แสดงความเห็นใจ พร้อมทั้งสั่งการให้ผู้ติดตามรับเรื่องไว้เพื่อช่วยเหลือ
จี้เรียกคืนรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูป
ต่อมาเวลา 13.28 น. นายอภิสิทธิ์ลงมารับข้อเสนอของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) โดยมีนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. เป็นตัวแทนยื่นข้อเรียกร้องด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คือ รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน โดยสิ่งแรกต้องยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และเรียกคืนรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรสภาพไปเป็นบริษัททุกรูปแบบ จัดตั้งกระทรวงรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแปรรูปโดยตัวเองไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นการทำให้เกิดประสิทธิภาพ แต่ต้องแข่งขัน การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจหากแปรรูปแต่ยังผูกขาดก็ไม่ดีขึ้น ซึ่งสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ออก พ.ร.บ.ทุนฯ ไม่ใช่ พ.ร.บ.แปรรูป แต่ต้องการแปรรูปองค์กรก่อน โดยกฎหมายจะออกหลักเกณฑ์ ดูแลอำนาจรัฐไม่ให้ผูกขาด
“หากกฎหมายยังมีข้อด้อยก็ต้องปรับปรุง แต่ผมไม่ยอมให้ธุรกิจผูกขาด ส่วนที่แปรรูปไปแล้วอยากให้แก้ไข ซึ่งรัฐบาลไทยที่เคยทำกับเอกชนแล้วมาเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดความเดือดร้อนหมด ผมไม่นิยมรับเรื่องไปหมด ต้องดูว่าจะตั้งใจทำหรือไม่ ก็ต้องดูว่าใครจำเป็นต้องอยู่ภาครัฐ หรือเอกชนก็ต้องอยู่ ส่วนปัญหาทุจริตของรัฐวิสาหกิจต้องช่วยกันปราบปราม ต้องเป็นธรรมาภิบาล ส่วนที่เป็นคดีในกระบวนการยุติธรรมผมจะไม่เข้าไปแทรกแซง ส่วนที่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจมารวมที่เดียวกันหมด หากเจอนักการเมืองไม่ดีคนเดียวก็แย่ ต้องคิดให้รอบคอบ การที่เราคิดไม่ตรงกันไม่เป็นไร ถือว่าแลกเปลี่ยน ผมจะให้นายไพฑูรย์ แก้วทอง รับเรื่องไปให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เขียนนโยบาย” นายอภิสิทธิ์กล่าว
"พรทิวา" ไม่หวั่นถูกกดดัน
จากนั้นเวลา 14.15 น. นางพรทิวา นาคาศัย ซึ่งมีชื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนถึงความไม่เหมาะสม ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยบอกว่าไม่รู้สึกกดดันในการทำงาน ยิ่งถูกคาดหวังต่ำอย่างนี้ก็จะทำให้ทำงานได้สบาย ไม่เป็นไร เรื่องเล็ก ซึ่งเสียงสะท้อนที่ออกมาถือเป็นความห่วงใยของบ้านเมือง เข้าใจดี แต่เชื่อมั่นว่าจะสามารถทำงานได้ เพราะมีความตั้งใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคธุรกิจเรียกร้องผู้เป็นมืออาชีพ นางพรทิวากล่าวว่า ทุกคนต้องเป็นมืออาชีพ ตนก็เคยผ่านงานด้านธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้บริหารมาก่อน ก็เข้าใจว่าการทำงานกับภาคเอกชนเป็นอย่างไร และคิดว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับภาคเอกชนได้ไม่ยาก
สรุปปี 51 เลิกจ้างแล้ว 597 แห่ง
ขณะที่สถานการณ์การเลิกจ้างยังน่าเป็นห่วง โดยนายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การเลิกจ้าง ครั้งที่ 3/2551 จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างในช่วงวันที่ 1 มกราคม-18 ธันวาคม 2551 มีสถานประกอบการปิดกิจการเลิกจ้างพนักงานแล้ว 597 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 48,602 คน พื้นที่ที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 5 จังหวัดแรก คือ ปทุมธานี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา และตาก ตามลำดับ
ส่วนประเภทกิจการที่มีการเลิกลูกจ้างมากที่สุด ได้แก่ การผลิตสิ่งทอสิ่งถัก รองลงมาคือ การผลิตเครื่องประดับและเฟอร์นิเจอร์ การบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ ขายปลีกของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน การผลิตภัณฑ์จากแร่โลหะ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มการเลิกจ้างอีกจำนวน 265 แห่ง ลูกจ้าง 130,480 คน ส่วนใหญ่เป็นประเภทกิจการอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ พบมากในพื้นที่ ชลบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ 5 หน่วยงานที่สังกัดกระทรวงแรงงานเฝ้าระวังและช่วยเหลืออย่างเต็มที่
เฝ้าระวังรง.หยุดยาว-ปิดถาวร
นายอาทิตย์กล่าวว่า ขณะนี้ กสร.กำลังเร่งทำหนังสือเพื่อขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการทั่วประเทศ ให้พนักงานหยุดพักผ่อนในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นเวลา 3 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรี คือ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2551-2 มกราคม 2552 เพื่อให้ลูกจ้างกลับภูมิลำเนา และเป็นการส่งเสริมประเพณีไทยในการกลับไปแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ คาดว่าจะเสนอปลัดกระทรวงแรงงาน ลงนามพร้อมประกาศ และส่งให้นายจ้างสถานประกอบการทั่วประเทศจำนวน 406,436 แห่ง ภายในสัปดาห์หน้า
นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากอาจมีหลายสถานประกอบการถือโอกาสนี้หยุดยาวหรือเลิกจ้างพนักงาน ปิดกิจการถาวรได้ โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง 265 แห่ง ลูกจ้าง 130,480 คน อย่างไรก็ตาม อยากให้ลูกจ้างที่จะกลับภูมิลำเนาไม่ต้องเป็นห่วง และสบายใจว่าจะไม่ถูกนายจ้างเลิกจ้าง
คอบร้าปิดถนนขอพบนายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน พนักงานบริษัท คอบร้า (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานตั้งอยู่เลขที่ 700/478 นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี ประมาณ 2,000 คน ได้ปิดถนนสุขุมวิททั้งขาเข้า และขาออก บริเวณ ต.คลองตำหรุ อ.เมือง จ.ชลบุรี ส่งผลให้การจราจรถนนสายสุขุมวิท และมอเตอร์เวย์ เป็นอัมพาตหนัก เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานบริษัทคอบร้า ได้รวมตัวประท้วงเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินโบนัสคนละ 2 หมื่นบาท และเงินเดือนขึ้น 6% แต่บริษัทยืนยันมาว่าจ่ายโบนัสให้ได้เพียงคนละ 5,000 บาท และเงินเดือนขึ้น 4% เท่านั้น ทำให้สหภาพแรงงานเตรียมนัดหยุดงานวันที่ 4 ธันวาคม แต่บริษัทชิงปิดโรงงานเสียก่อน
ด้านนายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าฯ ชลบุรี พล.ต.ต.บัณฑิต คุณจักร์ ผบก.ภ.จว.ชลบุรี เดินทางไปเจรจาด้วยตนเองกับแกนนำของพนักงานคอบร้า แต่ฝ่ายพนักงานยืนยันว่าจะพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ลงมาแก้ไขปัญหา เพราะช่วงก่อนที่จะรับตำแหน่งได้เดินทางเข้าพบ แต่ได้รับคำตอบว่า หากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี จะลงมาแก้ไขปัญหาให้ จึงทำให้การเจรจาในเบื้องต้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
ต่อมานายอาทิตย์ อสิโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อขอเจรจา อย่างไรก็ตาม พนักงานทั้งหมดได้ยื่นข้อเสนอให้บริษัทจ่ายโบนัส 3 หมื่นบาททุกคน และเงินเดือนขึ้น 8% หากไม่ตกลงจะไม่เจรจาด้วย จนกระทั่งเวลา 16.00 น. การเจรจาก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
ต่อมาเมื่อเวลา 18.45 น. นายสุรพล ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รวมทั้งนายดนู โชติกวนิช ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท คอบร้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้เจรจากับแกนนำของพนักงานบริษัทคอบร้า ได้ข้อสรุปโดยยอมที่จะจ่ายเงินโบนัสคนละ 18,000 บาท โดยแบ่งจ่ายวันที่ 26 ธันวาคม 8,000 บาท และอีกงวดในเดือนเมษายน 2552 จำนวน 5,000 บาท และในเดือนกรกฎาคม 2552 อีก 5,000 บาท นอกจากนี้ยังรับปากว่าจะพิจารณาเงินเดือน 6% ตามผลงาน รวมทั้งบริษัทจะไม่เอาผิดกับพนักงานทั้งหมด หลังจากนั้นกลุ่มพนักงานได้สลายตัว เปิดถนนให้มีการจราจรได้ทันที