ทำบุญทำเนียบฯพรุ่งนี้สั่งทำบิ๊กคลีนรับนายกฯใหม่
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายลอยเลื่อน บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานทั้งหมดภายในทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือและเตรียมการทำกิจกรรมการพัฒนาบริเวณทำเนียบรัฐบาล (Big Clean) ในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ โดยนายลอยเลื่อน กล่าวว่า หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรฯถอยออกไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.)เข้ามาในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นหน่วยแรก ซึ่งทำเนียบรัฐบาลมีทั้งหมด 15 อาคาร สลน.ดูแลทั้งสิ้น 12 อาคาร ซึ่งทางรัฐบาลชุดใหม่ได้เร่งรัดให้ซ่อมแซม ปรับปรุงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเข้ามาทำงานในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ อีกทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็ต้องการให้ปรับปรุง ซ่อมแซมทำเนียบรัฐบาลให้เสร็จทันการประชุมอาเซียนซัมมิท ดังนั้นทุกหน่วยอาจจะต้องเร่งทำการปรับปรุงทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ตึกบัญชาการ 1 ที่ได้รับความเสียหายนั้น ในวันนี้หน่วยทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้เข้ามาขนย้ายออกไปแล้ว และอีก 2 วันก็จะขนเฟอร์นิเจอร์ใหม่เข้ามาแทน
นายลอยเลื่อน กล่าวว่า กิจกรรมการพัฒนาบริเวณทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ จะเริ่มด้วยพีธีทำบุญเลี้ยงพระ 9 รูป ที่ตึกสันติไมตรี ในเวลา 07.00 น. โดยได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดสระเกศให้มาทำพิธี ซึ่งจะโยงสายสิญน์ไปทุกอาคาร พร้อมกับพรมน้ำมนต์และทำพิธีให้ครบถ้วน จากนั้นจะเชิญชวนให้ทุกหน่วยงานร่วมกันทำ 5 ส. ทาสีกำแพง รั้วทำเนียบใหม่ อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดของ กทม.จะเริ่มเข้ามาทำความสะอาดกำแพง พร้อมกับกวาดล้างถนนในบริเวณทำเนียบรัฐบาลและพื้นที่รอบนอก เก็บเศษวัสดุ ลอกท่อระบายน้ำ รวมถึงฉีดยาฆ่าเชื้อ ยาฆ่ายุงและแมลง โดยจะมีกำลังทหารจากหน่วยทหารพัฒนาเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ของ กทม.ในการทำความสะอาดด้วย
นายลอยเลื่อน กล่าวว่า ทุกหน่วยงานในทำเนียบรัฐบาลจะเริ่มทำงานได้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.นี้ และหลังจากนั้นทุกหน่วยงานจะต้องทำเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อเตรียมรับมือหากเกิดเหตุการณ์บุกยึดทำเนียบรัฐบาลอีก นอกจากนี้ตนจะเรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตำรวจ ทหาร สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เพื่อทบทวนมาตรการเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัย
ก.แรงงานสั่ง จนท.เร่งช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ
ที่กระทรวงแรงงาน นาย มนูญ ปุญญกริยากร รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้สั่งการ ให้เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานในส่วนภูมิภาค เร่งสำรวจพร้อมช่วยเหลือแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการอิสระให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะส่งเสริมสร้างความมั่นคงของรายได้จากการประกอบอาชีพ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินโครงการในกลุ่มแรงงานดังกล่าวทั้งหมด 51 จังหวัด ภาคกลาง 17 จังหวัด ภาคใต้ 12 จังหวัด ภาคอีสาน 13 จังหวัดและภาคเหนือ 9 จังหวัด
นายมนูญ กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้เร่งสั่งการให้เข้าไปช่วยในการบูรณาการแก่แรงงานนอกระบบใน 51 จังหวัดเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพพร้อมทั้งแนะวิธีพัฒนาการผลิตและบริการให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้ ในขณะเดียวกัน จะสำรวจและรวบรวมข้อมูลปัญหาและผลดี ผลเสีย ว่าในแต่ละพื้นที่มีการประกอบอาชีพอะไร อาชีพไหนที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงให้สอดคล้องในแต่ละพื้นที่ ต่อไป
“ เจ้าหน้าที่ของเราจะทำหน้าที่ช่วยผู้ประกอบการอิสระ เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น หากไม่สำเร็จก็พร้อมที่จะเจรจากับธนาคารที่เป็นแหล่งเงินทุนและแนะนำอาชีพใหม่เพื่อหาทางออกให้ ทั้งนี้การดำเนินโครงการนี้จะช่วยให้ปัญหาวิกฤติคนตกงานหรือว่างงานที่หลายฝ่ายระบุว่าในปี 52 จะมีตัวเลขถึง 1 ล้านคนได้เป็นอย่างดี ” นายมนูญ กล่าว
ก.แรงงานสั่งจับตาปัญหานายจ้างเบี้ยวโบนัส
ด้านนางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งเกิดปัญหาความขัดแย้ง ข้อพิพาทแรงงานไปจนถึงการเลิกจ้าง ประกอบกับช่วงปลายปีมักจะมีการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการปรับค่าจ้างประจำปี และโบนัสประจำปีของลูกจ้าง ก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งอื่น ๆ ตามมา ซึ่งในปี 51 (ต.ค.50 – ก.ย.51) มีสถานประกอบกิจการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จำนวน 342 ครั้ง ในสถานประกอบการทั้งหมด 320 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 243,956 คน
ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับการปรับ ค่าจ้าง สวัสดิการ การร้องทุกข์ เวลาในการทำงาน สภาพการจ้างงาน และสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างควรได้รับ ทั้งนี้นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันได้ผ่านระบบทวิภาคี จำนวน 234 แห่ง แต่ก็มีสถานประกอบการที่ตกลงกันไม่ได้จนสุดท้ายต้องเข้าไปสู่การดำเนินงานของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจำนวน 84 แห่งและอยู่ในระหว่างเจรจากันเองทั้งหมด 2 แห่ง
“ อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้เจ้าหน้า กสร.ทุกจังหวัดรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานที่คาดว่าจะเกิดการยื่นข้อเรียกร้อง ปิดงาน และการนัดหยุดงานในทุกสัปดาห์ และหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะมีการรายงานทันที ในส่วนของนายจ้าง ลูกจ้าง ที่เกิดข้อขัดแย้งควรใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาและควรปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ” นางอัมพร กล่าว
นาย สมชาย วงศ์ทอง ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ กสร. กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกจ้างร้องเรียนเรื่องเงินโบนัสหรือเงินพิเศษประจำปีมายัง กสร. 3 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จ.ระยอง บริษัท คอบร้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จ.ชลบุรี และ บริษัท ไทยซัมมิด ออโต้บอดี้ อินดัสทรี่ จำกัด จ.สมุทรปราการ ซึ่งเบื้องต้นได้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาเพื่อหาข้อยุติระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเองโดยลูกจ้างจะต้องยื่นหนังสือให้กับนายจ้าง แต่หากว่ายังหาข้อยุติไม่ได้ภายใน 3 วันตาม ซึ่งทางกระทรวงแรงงานจะเข้าไปทำการไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์
นายสมชาย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างบริษัทคอบร้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดที่ทำการไกล่เกลี่ยในช่วงเช้าของวันที่ 17 ธ.ค.สรุปยังไม่ได้รับข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายจึงได้มีการนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.) และจะมีการนัดประชุมให้ติดต่อกันมากที่สุด จนกว่าจะได้รับข้อตกลงที่เป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง