รัฐบาลมาร์ค...ไม่ง่าย !

ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็ดันก้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากรอคอยมานานร่วม 8 ปี ด้วยคะแนน 235 ต่อ 198 เสียง


ทำเอาบรรดากองเชียร์หายใจแบบไม่ทั่วท้องเพราะคะแนนเล่นไล่หลังตามมาติดๆ แบบหายใจรดต้นคอ ก่อนที่จะเฉือนชนะ ประชา พรหมนอก แคนดิเดตจากพรรคเพื่อแผ่นดิน เพียง 37 เสียงเท่านั้น
ในทางการเมืองถือว่า 37 เสียง น่าหวาดเสียวไม่ใช่น้อยกับการเป็นรัฐบาลผสมที่มาจากหลายพรรค หลายกลุ่ม ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์


นั่นเป็นเพราะตั้งแต่ยกแรกที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค สวมบทล็อบบี้ยิสต์ เดินสายฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลจนถึงยกสุดท้าย


ทำเอาประชาธิปัตย์แทบหืดจับ
เพราะเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "อภิสิทธิ์" ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เกิดจากดอกกุหลาบฮอลแลนด์หลาย 10 ช่อ ที่ "สุเทพ" พาเดินสายวิ่งเต้นโชว์พลังดูด แข่งกับอดีตพรรคพลังประชาชนที่แปรสภาพเป็นพรรคเพื่อไทย


ท่ามกลางกระแสการต่อรองเก้าอี้แลกกับผลประโยชน์ต่างตอบแทบ วิ่งกันให้วุ่นจนฝุ่นตลบ ก่อนที่จบด้วยการกว้านซื้อตัว ส.ส.ไม่ต่างจาก "ตลาดนัดวัว-ควาย
"


สภาพการวิ่งเต้นต่อรองเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลโดยการทำของพรรคประชาธิปัตย์ ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเพราะความหลากหลายของกลุ่มการเมือง และพรรคต่างๆ ที่เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต่างยืนอยู่บนอุดมการณ์ที่แตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด


แต่กลับมาจูบปากกันได้เมื่อผลประโยชน์ลงตัวบนซากปรักหักพังประเทศ ในยุคที่ "ระบอบทักษิณ" ใกล้ล่มสลาย


นี่จึงไม่ง่ายสำหรับ "อภิสิทธิ์" ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ในรอบ 1 ปีของประเทศไทย ที่จะสมานความแตกแยกของสังคมระหว่างมวลชนเสื้อเหลือง-แดง ได้ รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่ทรุดหนักทั่วโลก


จริงอยู่ที่ทุกครั้งบ้านเมืองเกิดวิกฤติ "พรรคประชาธิปัตย์" มักจะได้โอกาสนั้นเข้ามากอบกู้สถานการณ์


แต่ทว่าท่ามกลางเสียงสนับสนุน 235 เสียง ที่แบ่งเป็น ...

 ~ประชาธิปัตย์ 166

 ~เพื่อแผ่นดิน 11

 ~อดีตพรรคมัชฌิมาธิปไตย 7

 ~อดีตพรรคชาติไทย 14

 ~พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 7

 ~ส.ส.กลุ่มสุวิทย์ คุณกิตติ ที่จะย้ายไปสังกัดพรรคกิจสังคม 5

 ~ส.ส.กลุ่มนายสรอรรถ กลิ่นประทุม 2

 ~และแก๊งอนาคอนด้า จากกลุ่มเพื่อนเนวิน 22 เสียง


 


ความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลนี่แหละ จะเป็นตัวสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในที่สุด


เพราะกลุ่มการเมืองเหล่านี้ ต่างแสดงออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนทั้งประเทศแล้วในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี


ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่หัวหน้าพรรคหมาดๆ อย่าง "ประชา" ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแท้ๆ
แต่สมาชิกกลับแสดงออกด้วยการโหวตสวน เลือก "อภิสิทธิ์" เป็นนายกฯ กรณีของพรรคร่วมใจไทยชาติพัฒนา พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรคแท้ๆ ยังโหวตสวนมติพรรค ด้วยการสนับสนุน "ประชา" เป็นนายกฯ


ขณะที่กลุ่ม ส.ส.อดีตพรรคชาติไทย อดีตพรรคมัชฌิมาธิปไตย แม้จะมีการบล็อกกันอย่างแน่นหนา แต่สุดท้ายก็เกิดเสียงแตกขึ้นจนได้


ที่เหนือความคาดหมายคือ "กลุ่มสุวิทย์" ที่เตรียมไปสังกัดพรรคกิจสังคม แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ไม่กี่นาที ก่อนจะก้าวเข้าสู่วันที่ 15 ธันวาคม หลังเวลาเที่ยงคืน
และมาตกลงกันอีกรอบในช่วงเช้าก่อนถึงเวลาเข้าร่วมประชุมเพียงไม่กี่นาทีอีกเหมือนกัน เมื่อ "สุวิทย์" ไปดักพบแกนนำประชาธิปัตย์ถึงห้องทำงานวิปฝ่ายค้าน จนส่งผลให้ประชาธิปัตย์ชนะแบบเฉียดฉิว


นั่นเพราะในสภากับนักการเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขนาดมีการเตรียมการกันมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมจำนวนเสียงสนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เข้าเป้า


แม้จะมีการแบ่งทีมวิปฝ่ายค้านร่วม 20 คน ในการตามประกบและโทรศัพท์เตือน ส.ส.ร่วมถึงพรรคร่วมให้เข้าร่วมประชุม และให้เดินทางถึงสภาก่อน 08.00 น.
ไม่เว้นแม้แต่ในการจับจองที่นั่งในห้องประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี "สุเทพ" ยังนั่งประกบ "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ไม่ห่าง จากเดิมทีกลุ่มนี้เคยนั่งกลางห้องประชุม มาเที่ยวนี้ถึงกับเจาะจงเลือกให้นั่งในซีกของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอยู่ด้านซ้ายมือบัลลังก์ของประธานสภาผู้แทนราษฎร


ขณะที่ในซีกกลุ่มเพื่อนเนวินเอง ก็ถึงกับสั่งเก็บโทรศัพท์มือถือ งดการติดต่อสื่อสารตลอดทั้งคืนก่อนถึงรุ่งเช้า


ส่วนสมาชิกในซีกของอดีตพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น ประชาธิปัตย์ ส่ง 3 ทหารเสือ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.สงขลา ผู้ช่วยเลขาธิการพรรค นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา และ สาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง นั่งประกบ


ทั้งหมดนี้จะเป็นปัญหาในการคุมสภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างยิ่ง


โดยเฉพาะเมื่อส่วนต่าง 37 เสียง มีบางส่วนต้องทิ้งเก้าอี้ ส.ส.มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ยิ่งทำให้ตัวเลขปริ่มน้ำมากขึ้น


เพาะฉะนั้นถึงแม้นาทีนี้ ประชาธิปัตย์ จะเดินเกมเร็วด้วยการคาดการณ์วันโปรดเกล้าฯ ชื่อ "อภิสิทธิ์" ภายในวันพุธที่ 17 ธันวาคมนี้


ตามมาด้วยรายชื่อคณะรัฐมนตรีภายในวัน 19 ธันวาคม เพื่อนำรายชื่อบุคคลที่ถูกเสนอเป็นรัฐมนตรีเข้าสู่การประชุมกรรมการบริหารพรรคหลังจากที่โปรดเกล้าฯ "อภิสิทธิ์" แล้ว
ขณะเดียวกัน ก็คาดว่านายกฯ และ ครม.จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ในวันที่ 21 ธันวาคม หรือวันที่ 22 ธันวาคมนี้


โดยตั้งเป้าว่าจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้เสร็จสิ้นก่อนปีใหม่ ภายในวันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม เพื่อเป็นของขวัญสำหรับคนไทยทั้งประเทศ


แต่หลังจากนี้จะกลายเป็น "งานหิน" สำหรับประชาธิปัตย์ !!!


เพราะด้วยจำนวนเสียงที่ก้ำกึ่งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน จะกลายเป็นเกมป่วนในสภา ที่ทำให้ประชาธิปัตย์ปวดใจ หากเกมการต่อรองไม่ลงตัว โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายสำคัญที่ต้องขอมติในที่ประชุม


สภาพที่เห็น ณ วันนี้ จึงคล้ายกับการเมืองกำลังเข้าสู่ยุคถอยหลังอีกครั้ง


เนื่องจากเห็นแนวโน้มที่รัฐบาลจะขาดเสถียรภาพ และพร้อมที่จะพังครืนลงมาได้ตลอดเวลา
บวกกับ "พรรคเพื่อไทย" ที่คอยกระทืบซ้ำเมื่อ ประชาธิปัตย์ ก้าวพลาด ท่ามกลางกระแสมวลชน "เสื้อแดง" ที่ตามรังควานตลอดเวลา เหมือนเมื่อครั้งยุคเสื้อเหลืองตามจิกรัฐบาลนอมินีทักษิณ


สถานการณ์เช่นนี้แม้จะไม่มีการชุมนุมยืดเยื้อยาวนานเหมือนมวลชนเสื้อเหลือง แต่ก็จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการแก้วิกฤติชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และความแตกแยกในสังคม


และทั้งหมดนี้จะเป็นตัวเร่งให้อายุรัฐบาลประชาธิปัตย์ "สั้นลง" หากว่าการบริหารจัดการภายในพรรคร่วมรัฐบาลล้มเหลว
 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์