เป็นเพียงระฆังเริ่มยกแรก เท่านั้นชัยชนะเหนือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย ที่ชื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
หลังสามารถเอาชนะแคนดิเดตที่ชื่อ "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินที่ได้รับการสนับสนุนจาก "พรรคเพื่อไทย" ไปได้
เพราะแม้จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในสภาจำนวน 235 เสียง แบบทิ้งขาดคู่ต่อสู้ที่ได้เพียง 198 เสียง ถึง 37 เสียง แต่ความท้าทายที่รอ "นายกฯอภิสิทธิ์" อยู่ภายหน้า ก็หาได้เป็นที่หายใจได้คล่องคอ
ด้วยคะแนนเสียงที่ยังถือว่า "ปริ่มน้ำ"
ในเรื่องเสถียรภาพ หากเจอกับความท้าทายของการเสนอกฎหมายสำคัญ การอภิปรายทั่วไป รวมถึงไม่ไว้วางใจ ฯลฯ ภายใต้ความเข้มงวดของรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยแล้ว
"พรรคประชาธิปัตย์" จำต้องพึงระวัง อย่าได้ประมาท
โดยภารกิจสำคัญต่อจากนี้อันดับแรก ต้องประติมากรรมจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างที่มีจำนวนเสียง ส.ส.ที่เป็นเสถียรภาพ เพราะ 37 เสียงที่เป็นส่วนต่างนั้น ยังเป็นเสียงบริสุทธิ์ ที่ยังไม่ได้แสดงเจตจำนงชัดว่าจะไปสังกัดพรรคการเมืองใด
โดยเฉพาะ "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่เข้าสังกัด "พรรคประชาธิปัตย์" แน่นอน
ดังนั้น ต้องจับตาการไหลไปไหลมาของ ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่ถูกยุบพรรค เพราะนั่นคือ พลังต่อรองอันทรงพลัง ที่ "พรรคประชาธิปัตย์" ต้องใช้ศิลปะและการบริหารจัดการเชิงผลประโยชน์อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องโควต้ารัฐมนตรี
ข้อเสนอเมื่อครั้งเปิดดีลเรียกเสียงโหวตนายกฯ ที่ "พรรคประชาธิปัตย์" ให้คำมั่นว่าจะคงโควต้าเดิมให้แก่พรรคร่วมไม่เปลี่ยนแปลง
จากนี้ต่อไปคงไม่เป็นเช่นนั้น..?
เพราะการเมืองไทย เมื่อ ส.ส.มีอิสระในการเคลื่อนไหวและรวมตัว จะเกิดพลังต่อรองมาขึ้นเสมอ โควต้าที่เคยตกลงกันไว้อาจไม่เพียงพอ เพราะการตัดสินใจยกมือให้กับ "อภิสิทธิ์" ครั้งนี้ นักการเมืองถือว่า เป็นบุญคุณครั้งใหญ่
จับตาปรากฏการณ์เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต ซึ่งเป็นผลพวงจากการยุบพรรค จำนวน 26 เขตเลือกตั้ง คิดเป็นจำนวน 29 ส.ส. 22 จังหวัด ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11 มกราคม 2552 ให้ดี
เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อการ "เพิ่มเสียง" ช่วยค้ำจุนเสถียรภาพ ของบัลลังก์รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งถ้าแจกแจงอย่างละเอียดแล้ว พื้นที่เลือกตั้งซ่อมทั้ง 26 เขตเลือกตั้ง เป็นพื้นที่ชิงดำระหว่าง "พรรคพลังประชาชนเดิม" กับ "พรรคชาติไทยเดิม"
ดังนั้น ความหวังของ "พรรคประชาธิปัตย์" จึงต้องฝากไว้กับ "พรรคชาติไทยพัฒนา" อย่างปฏิเสธไม่ได้
นั่นคือ ความสำเร็จที่ได้รับ จะมาพร้อมกับพลังการต่อรองที่มากกว่าเดิม
แม้ "พรรคประชาธิปัตย์" จะยังได้ชิงดำอีกครั้ง กับการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนนทบุรี แทน ส.ส.ของพรรคที่เพิ่งเสียชีวิต ในวันที่ 25 มกราคม แต่ก็เป็นเพียงตัวเลขอันน้อยนิดเพียง 1 เขต 1 คน
ทำให้เวลานี้ "พรรคประชาธิปัตย์" ต้องพิจารณาเทคนิคที่ "พรรคพลังประชาชนเดิม" เคยใช้ในเรื่องการให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ลาออกจากส.ส.สัดส่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพเสียงในสภา
ความท้าทายที่ยิงตรงต่อ "พรรคประชาธิปัตย์" ทั้งหมด ยังไม่นับถึงความท้าทายภายในพรรค เพราะพื้นที่ฐานเสียงทางภาคใต้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ได้ถูกดองจากการเป็นรัฐบาลมานาน ทำให้ ส.ส.เกือบทั้งหมดของพรรค มีดีกรีและความเก๋า ตลอดจนชั้นความอาวุโสใกล้เคียงกัน
เมื่อมีเค้ก เป็นเก้าอี้รัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ จะสามารถบริหารจัดการประโยชน์ได้ลงตัวเพียงใด หากจะต้องสละโควต้าให้กับ "กลุ่มอำนาจทางการเมือง" อื่น ที่จะทยอยตั้งเงื่อนไขข้อต่อรองเพิ่มในโอกาสอันใกล้นี้
เพราะหากไม่สามารถทำได้ แรงกระเพื่อมจากภายใน จะส่งผลต่ออายุรัฐบาลเช่นกัน
ยังไม่นับถึงความท้าทายของปัญหารุมเร้า ที่คนไทยรู้กันดี ทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลพวงวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่จะออกดอกออกผลในปี 2552 รวมถึงความขัดแย้งทางความคิด อันเป็นผลจากการเมือง ระหว่าง เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ที่กำลังเพาะเชื้อขึ้นอีกครั้ง
โดยเฉพาะเมื่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ยังไม่ยอมแพ้ เพราะปฏิบัติการลงขันตัดตอน "พ.ต.ท.ทักษิณ" ในครั้งนี้ หาได้ทำให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" สิ้นฤทธิ์เสียทีเดียว
และ "พรรคประชาธิปัตย์" จะรักษา "เพื่อนเนวิน" ให้เป็นพันธมิตรทางการเมืองได้ยาวนานเพียงใด จะสามารถพัฒนาการร่วมพลิกขั้ว มาเป็นความร่วมมือในการต่อสู้ได้เพียงใด
เพราะใครก็รู้ดีว่า ศักยภาพและความสามารถ ตลอดจนชั้นเชิงกลเกมการเมืองของ "เนวิน ชิดชอบ" แกนนำ "กลุ่มเพื่อนเนวิน" นั้นล้ำลึกเพียงใด..!
ต้องรักษา "มิตร" อย่าให้พลิกไปเป็น "ศัตรู" และต้องทำให้ "มิตร" มาร่วมรบให้จงได้ แต่การที่จะทำได้สำเร็จ ล้วนต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น
รวมถึง "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เอง ที่ตั้งเงื่อนไขส่งพัสดุมาให้แล้วถึง 13 ข้อ หากทำไม่ได้ดั่งใจ ก็มีโอกาสถูกคนกันเอง กลับมาเล่นงานได้ เหมือนครั้งรัฐบาล "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" โดนมาแล้ว ฐานทำไม่ได้ดั่งใจ
ความท้าทายทั้งหลาย นอกจากจะตกตรงที่ "อภิสิทธิ์" แล้ว ยังตกตรงถึง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล รวมถึงกองเชียร์ที่ออกแรงแต่ไม่ออกหน้า ต่อปฏิบัติการพลิกขั้วครั้งนี้ อย่างปฏิเสธไม่ได้...