พลิกขั้วการเมือง เพื่อชาติหรือตัวเอง... ?

หากบทสรุป "การเมืองใหม่" คือ การเปลี่ยนจากขั้วอำนาจเก่าเป็นขั้วอำนาจใหม่ แล้วมีนักการเมือง "สายพันธุ์เดิม" ร่วมขบวนประวัติศาสตร์

หน้าฉากการเมืองคงไม่แตกต่าง

ทุกพรรคการเมืองคงมีปรัญชาที่ตรงกันคือ "อำนาจและผลประโยชน์"

ถึงวันนี้ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งดีกว่าหรือเลวกว่ากัน

การเปลี่ยนขั้วการเมืองเหมือนการเทเหล้าเก่าในขวดใหม่ เพราะวินาทีนี้คงเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าตลาดการเมืองไทยไม่มีคำว่า "มิตรแท้" และ "ศัตรูถาวร"

ทุกอย่างจบลงเมื่อผลประโยชน์ลงตัว !!!

การเดินสายเจรจาต้าอวยกับ 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมและ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" แม่บ้านประชาธิปัตย์จึงเป็นช่องว่างที่เปิดอยู่แล้วในการเมืองทุกยุคทุกสมัย

เพราะ "สุเทพ" ก็เห็นความไม่ลงตัวในการจัดสรรอำนาจทางฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยอยู่ก่อนแล้ว

การฉกตัวคนร่วม "แก๊งออฟโฟร์" ผู้เคยยิ่งใหญ่ แต่ที่วันนี้กลายสภาพเป็นอกหักมาสวมกอดจึงไม่ใช่เรื่องยาก

สำหรับการเมืองน้ำเน่าพะยี้ห้อ "เนวิน ชิดชอบ"


แต่สิ่งที่น่ากังวลใน พ.ศ.นี้ กลับเป็นภาพของการยินยอมเข้าหอลงโรงของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ซึ่งครั้งหนึ่งปากก็ขยับประกาศหาตัวเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามาปฏิรูปการเมือง สร้างสังคมใหม่

สุดท้ายหัวหน้ามาร์คก็ไม่ทิ้งภาพฉากการเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่มีความร้อนรนอยากเป็นรัฐบาลจนเกินงาม

การแสดงละครฉากใหญ่ด้วยการส่ง "กุหลาบแดง" เทียบเชิญกลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ ของ "อภิสิทธิ์"

เวลานี้จึงไม่แตกต่างจากพฤติกรรมของนักการเมืองรุ่นโบราณที่เคยถือปฏิบัติกันมา

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก่อนวันที่ 15 ธันวาคม ที่จะเปิดสภาเพื่อเลือกนายกฯ

"อภิสิทธิ์" คงได้นั่งเก้าอี้นายกฯสมใจแน่


ทว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเก้าอี้นายกฯต่อจากนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมจะร่วมกันจับตาพฤติกรรมการบริหารของ "อภิสิทธิ์" ท่ามกลางการขนาบข้างซ้าย-ขวาของพลพรรคกลุ่มเพื่อนเนวิน อันอุดมไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองอย่างครบเครื่อง

จะพิสูจน์ถ้อยคำสวยหรูของคนที่เรียกตัวเองว่า "คนรุ่นใหม่" จะกล้าเดินเกมฟันไม่เลี้ยงบุคคลผู้ร่วมสนับสนุนให้ขึ้นสู่อำนาจหรือไม่

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนที่จะยินยอมอ่อนโยนเป็นหนึ่งเสียงโหวตนั้น นักการเมืองที่ยอมตีตัวออกห่างจากเงื้อมมือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบุญคุณล้นหัวนั้น ต้องคิดดีแล้วว่าตีจากเพื่อไปหาสิ่งที่ดีกว่า

หาก "อภิสิทธิ์" ยอมจำนนกับข้อต่อรองที่แลกกับเสียงโหวตด้วยการยอมปล่อยให้คนที่ติดชนักของกระบวนการยุติธรรม ทั้งคดีกล้ายาง คดีเขาพระวิหาร คดีรถดับเพลิง หรือแม้กระทั่งการหลิ่วตาให้แก้รัฐธรรมนูญ

การบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่ต่างจากรัฐบาลพรรคพลังประชาชน

จึงไม่แปลกที่วันนี้ "วีระ สมความคิด" เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอรัปชั่น (คปต.) หนึ่งในผู้ร่วมหัวจมท้ายกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะออกมาบ่นดังๆ ว่า

"รู้สึกผิดหวังและเสียความรู้สึก ถือเป็นเรื่องยอมรับได้ยากกับการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์และไม่คุ้มค่าต่อการกู้ชาติมานาน 192 วัน การที่ประชาชนรวมพลังยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ก็หวังสร้างการเมืองใหม่ แต่คำตอบวันนี้คนที่ร่วมต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเองกลับได้รับบทเรียนราคาแพง"

เสียงสะท้อนนี้อาจเป็นเสียงหนึ่งของความเจ็บปวดจากผู้เฝ้ามองพฤติกรรมของนักการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ถือเป็นบทสรุปหนึ่งของภาคประชาชนที่ว่าไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย จะมีคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดการเมืองกี่รุ่น

"ประชาชน" ก็โดนหลอกอยู่วันยังค่ำ

พฤติกรรมของนักการเมืองในวันนี้จึงเกิดคำถามว่า ทำเพื่อประเทศชาติหรือตัวเองกันแน่...

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์