เบื้องลึก ปชป.พลิกขั้วชิงธงแถลงตั้งรัฐบาล หนุน อภิสิทธิ์นายกฯ-ประกาศิตคำขอที่ไม่อาจปฏิเสธได้


เหตุผลที่ต้องเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่เห็นว่า ถ้าให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดวิกฤตในลักษณะเดิมคือการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ที่สำคัญสำคัญคือ มีคำขอจากนายทหารใหญ่อ้าง"บุคคลที่ไม่อาจปฏิเสธได้"

เป็นการชิงไหวชิงพริบอย่างถึงพริกถึงขิงในการชิงธงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการสลายขั้วการเมืองเพราะ ส.ส.245 ชีวิตต้องวิ่งหาพรรคใหม่สังกัดให้ได้ภายใน 60 วัน

เมื่อโอกาสเปิดให้ มีหรือที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งชำนาญเกมการเมืองมาอย่างยาวนาน จะไม่เดินเกมเจรจาต่อรองกับกลุ่ม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิมซึ่งกำลังแตกกระสานซ่านเซ็น กอปรกับสถานการณ์ของกลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่ส่วนใหญ่ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทยไม่สามารถหาตัวนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนได้

รวมถึงเสียงเรียกร้องของนักธุรกิจ และฝ่ายต่างๆให้มีการเปลี่ยนการจับขั้วการเมือง เพราะมิเช่นนั้นแล้ว คงเกิดการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่หยุดหย่อนซึ่งจะนำไปสู่การปะทะนองเลือดและวิกฤตการเมืองที่ไม่มีทางออก

การเจรจาต่อรองทางการเมืองเริ่มขึ้นทันทีโดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ ส.ส.แบบสัดส่วนเป็นตัวหลัก และแกนนำของพรรคคนอื่นๆที่สามารถต่อสายกับกลุ่ม ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้ เช่น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยที่ยังคงมีลูกน้องและบารมีเหนือ ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์บางส่วน นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรค

ในการเจรจาต่อรองสาธารณชนพุ่งเป้าไปที่ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินที่ที่อ้างว่า มีกำลังอยู่ 37 คน(แต่เอาเข้าจริงอาจมีประมาณ 20 คนเท่านั้น)ซึ่งไม่ยอมย้ายเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยว่า จะเป็นตัวแปรสำคัญทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยมีมเสียงเกินกึ่งหนึ่ง(224 เสียง)ในลักษณะที่มีเสถียรภาพเพียงพอคือประมาณ 250-260 เสียงได้
 
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มของนายสรอรรถ กลิ่นประทุม แกนนำกลุ่มำภาคกลางของอดีต ส.ส.พลังประชาชนประมาณ 10 คน และกลุ่มวาดะห์ 2 คน

ช่วงคืนวันที่ 5 ธันวาคม ต่อ 6 ธันวาคม นายสุเทพ และนายนิพนธ์ ได้พบปะกับกลุ่ม ส.ส.และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทุกพรรค เช่น นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทยในฐานะตัวแทนนายบรรหาร ศิลปอาชา  พล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ตัวแทนพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา  นายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ  ตัวแทนพรรคเพื่อแผ่นดิน  นายเนวิน ชิดชอบ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนเนวิน นายสรอรรถ  กลิ่นประทุม จนสามารถตกลงเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลได้ทั้งหมด

ทั้งนี้หลักการสำคัญในการแบ่งโควตารัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ จะยึดหลัการว่า พรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่ม ส.ส. จะได้เก้าอี้เดิมเหมือนกับรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพื่อสานงานต่อเนื่อง เช่น พรรคชาติไทยเดิมจะได้เก้าอี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กลุ่มเพื่อนเนวินได้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ฯลฯ

แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า นายเนวินให้เหตุผลที่ไปจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์ว่า หากอยู่ขั้วเดิมต่อไปจะทำให้ความขัดแย้งไม่จบสิ้น และรัฐบาลจะมีอายุสั้น โดยมีการอ้างคำพูดตอนหนึ่งของนายเนวินที่พูดกับนายสุเทพว่า "ทักษิณไม่ไว้ใจผม อยู่ต่อไปก็ลำบาก"

แต่กลุ่มเพื่อนเนวินยื่นเงื่อนไขว่า นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลต้องเป็นนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์  ทำให้นายสุเทพ ต้องเกลี้ยกล่อมและชี้ให้เห็นว่า ถ้านายชวนเป็นนายกรัฐมนตรี การต่อรองขอเก้าอี้และการต่อรองทางการเมืองจะทำได้ลำบากกว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองมากกว่า
 
อย่างไรก็ตามหลังจากที่นายสุเทพ แถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลว่าจะให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ ส.ส.บางคนในกลุ่มเพื่อนเนวินไม่พอใจและมีกระแสข่าวว่า อาจกลับไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกันก็มีกข่าวเช่นกันว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนมีข้อเสนอแลกเปลี่ยนในการให้ ส.ส.กลุ่มเพื่อเนวินมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเป็นตัวเลขถึงา 7 หลัก จึงต้องดูว่า วันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า เสียงจะออกมาพลิกขั้วอีกตลบหรือไม่ ซึ่งในช่วงนี้จนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภาคงมีการล็อบบี้และการทุ่มเงินซื้อตัว ส.ส.กันอย่างดุเดือด

นอกจากกระแสข่าว การทุ่มซื้อตัว ส.ส.แล้ว แกนนำพรรคประชาธิปัตย์รายหนึ่งเปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี  คนสนิทของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล โทรศัพท์มาหาพล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ในช่วงบ่ายวันที่ 6 ธันวาคมหลายคนโดยเสนอให้ พล.ต.สนั่นเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแลกกับการสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่พล.ต.สนั่นปฏิเสธ

แกนนำกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมยอมรับว่า เหตุผลที่ต้องเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่เห็นว่า ถ้าให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดวิกฤตในลักษณะเดิมคือการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ

"แต่ที่สำคัญสำคัญคือ มีคำขอจากนายทหารใหญ่อ้างบุคคลที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งคิดว่า ถึงเวลานี้(ค่ำวันที่ 6 ธันวาคม) คงอนยู่กับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน แต่เชื่อว่า ในวันลงมติเลือกนายกฯคงมีการทุ่มซื้อตัว ส.ส.กันอย่างมาก" แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดิมกล่าว

ขณะเดียวกัน มีกระแสข่าวว่า ช่วงบ่ายวันที่ 6 ธันวาคม นายสุเทพ เทือกสุบบรณ  นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ ส.ส.สัดส่วน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ พรรคเพื่อแผ่นดิน นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินบางส่วน เดินทางด้วยรถตู้ไปยังกองพันทหารรายที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก่อนที่จะมีการร่วมแถลงข่าวที่ให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ด้านนายจตุพรกล่าว พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชนกล่าว่า ขณะนี้มีกระแสว่า บุคคลในชุดเขียวออกมาเคลื่อนไหวล็อบบี้ให้มีการเปลี่ยนขั้วการเมือง และกลุ่ม 40 ส.ว.ก็ออกมาเคลื่อนให้ตีความเรื่องสถานะของ ส.ส.สัดส่วนและการเป็นคณะรับมนตรีรักษาการ ดูผิวเผินอาจจะไม่มีอะไร แต่ความจริงคือต้องการสร้างอุปสรรคในการตั้งรัฐบาล และอยากเตือนให้นักการเมืองทุกฝ่ายได้ตระหนักว่ามีแผนเบื้องหลังของการออกมาเคลื่อนไหวของชุดสีเขียวว่ากำลังจ้องจะล้มสภา 

"ไม่ว่าจะมีการสลับขั้ว หรือเอาใครขึ้นมาเป็นนายกฯ สถานการณ์การเมืองก็จะไม่ราบรื่น การเคลื่อนของ 40 ส.ว.ก็จะเป็นการทำหมันหรือฆ่าตัดตอน ส.ส. ผมอยากบอกว่า ตอนนี้นักการเมืองกำลังถูกต้ม ขณะนี้มีทหารออกมาล็อบบี้บอกว่า ออกมาช่วยชาติ แต่ความจริงแล้วมาข่มขู่ คุกคาม เมื่อจะแทรกแซงการเมืองก็ควรปฏิวัติเต็มรูปแบบไปเลย พวกเราจะได้ต่อสู้กันตรงๆ ดีกว่า มาทำเรื่องให้สลับซับซ้อนเป็นอีแอบอยู่อย่างนี้" นายจตุพรกล่า

นายจตุพรกล่าวว่า นักการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายกำลังถูกทหารใช้เป็นเครื่องมือ เมื่อถึงจุดแตกหักแล้วคนนอกก็จะเข้ามาสวมรอยบริหารประเทศ

 จากข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมด แม้พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถรวบรวมแกนนำพรรคและกลุ่ม ส.ส.ชิงธงแถลงจัดตั้งรัฐบาลได้เหนือกว่าพรรคเพื่อไทยที่อ้างว่า ได้ ส.ส.ในมือ 228 เสียง
 
แต่การชิงไหวชิงพริบทำให้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเชื่อว่า "บงการ"อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยยอมแพ้ไม่ได้ เนื่องจากมีทรัพย์สินกว่า 76,000 ล้านบาทและการหลุดพ้นจากคดีอาญาเป็นเป็นเดิมพัน

ดังนั้นกว่าจะถึงวันเปิดประชุมสภา ยังไม่รู้ว่าประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ชื่อ"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"หรือไม่

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์