กกต.สรุปแล้ว ผู้สมัครเลือกซ่อม 29 เขต ต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างน้อย 90 วัน ชี้เป็นการเลือกตั้งทั่วไปไม่ใช่กรณีพิเศษจากการยุบสภา โยนนายทะเบียนพรรคการเมืองชี้ขาดสถานะ "พิเชษฐ์" ด้าน "สดศรี" หนุนศาลรัฐธรรมนูญตีความ รักษาการนายกฯยุบสภาได้หรือไม่
นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ถึงปัญหาการเข้าสังกัดพรรคการเมือง ของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. 26 เขตจำนวน 29 คน ในการเลือกตั้งซ่อมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 มกราคม 2552 ที่เป็นผลมาจากคำนิจฉัยยุบพรรคการเมือง ทำให้ ส.ส. 29 คนขาดคุณสมบัติว่า ที่ประชุม กกต. เมี่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า ผู้สมัครจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีเกิดการยุบสภาจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามมาตรา 101 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ที่ประชุม กกต.ยังได้ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนั้นๆ ที่จะพิจารณาในคุณสมบัติของผู้สมัคร เพราะถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปไม่ใช่การเลือกตั้งในกรณีพิเศษจากการยุบสภา รวมทั้งไม่เข้าบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งแรก(23 ธันวาคม 2550) หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
นางสดศรี กล่าวว่า ทางกกต.ขอคำวินิจฉัยยุบพรรคจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้รับในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ เพื่อนำมาดู คำวินิจฉัยในท้ายคำร้อง หากมีรายชื่อของกรรมการบริหารพรรคในคำวินิจฉัยของศาลก็จะได้ข้อยุติ ส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ยึดวันที่กระทำผิดนั้น ในคำร้องของอัยการนั้นมีจำนวนมากกว่าที่กกต.ระบุไว้ด้วย ทั้งนี้ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจะเป็นผู้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่ามีกรรมการบริหารพรรคคนใดจะถูกเพิกถอนสิทธิบ้าง โดยจะได้ความชัดเจนในวันที่ 8 ธันวาคม โดยไม่ต้องใช้มติจากที่ประชุม กกต.
ส่วนกรณีสถานภาพของนายพิเชษฐ์ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อแผ่นดิน 1 ในรายชื่อกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน(พปช.)ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ทั้งที่ลาออกมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2550 ที่ผ่านมานั้น นางสดศรี กล่าวว่า นายพิเชษฐ์ ลาออกก่อนที่กรรมการบริหารพรรคพปช.จะกระทำผิด รวมทั้งนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ได้ตอบการเปลี่ยนแปลงหลังวันกระทำผิดด้วย ดังนั้นสถานะของนายพิเชษฐ์ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งกกต.ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ทาง ประธาน กกต.ก็บอกไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องการประกาศของนายพิเชษฐ์ ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ ที่ประชุม กกต.เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม จึงสรุปว่าเป็นอำนาจตามกฎหมายของนายทะเบียนพรรคการเมืองในการประกาศรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิไม่ใช่อำนาจของกกต.ที่จะพิจารณาตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งกรณีนายพิเชษฐ์ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีสถานภาพของ ส.ส.สัดส่วนของพรรคถูกยุบจะต้องพ้นสภาพเมื่อต้องไปสังกัดพรรคใหม่หรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา พร้อมคณะ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยแล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของกกต.แล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็น่าจะหมดสิ้นข้อสงสัย และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญ ว่าจะสามารถย้ายพรรคได้เฉพาะส.ส.แบ่งเขตเท่านั้นหรือไม่
สำหรับเรื่องที่ยังเป็นข้อถกเถียง นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รักษาการนายกรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศยุบสภาได้หรือไม่นั้น นางสดศรี กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ารักษาการนายกฯ ไม่สามารถยุบสภาได้ เพราะตามกฎหมายใช้คำว่าให้นายกฯมีอำนาจในการประกาศยุบสภา ในกรณีที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วก็น่าจะให้ศาลได้ตีความอำนาจการประกาศยุบสภาของรักษาการนายกฯไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ว่ามีอำนาจได้มากน้อยเพียงไร
นางสดศรี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กกต.ทั้ง 5 คน ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องลาออก เพราะหน้าที่ของกกต.คือรอการเลือกตั้ง โดย กกต.จะไม่ทำปัญหาให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะกกต.ทุกคน ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เมื่อก้าวเข้ามาตรงนี้แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่กกต.จะถอดใจลาออก อีกทั้งกกต.ก็ได้ประกาศวันเลือกตั้งวันที่ 11 มกราคมไปแล้วด้วย ซึ่งหากกกต. ต้องพ้นตำแหน่งไปไม่ว่ากรณีใด ทางส.ว.ก็จะทำหน้าที่สรรหา กกต.ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชี้ขาดคุณสมบัติให้ผู้ลงสมัครส.ส.26เขต ต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างน้อย 90 วัน ส่งผลให้สมาชิกพรรคอาทิพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาที่นั่งส.ส.ในขั้วรัฐบาลเดิม
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นว่า เป็นสิทธิ์ที่ส.ว.จะยื่นเรื่องเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 106 (8) ไม่ได้มีการแยกส.ส.ระบบสัดส่วนกับส.ส.ระบบเขต โดยกำหนดเพียงว่า ส.ส.ที่ถูกยุบพรรคต้องไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วัน ไม่เช่นนั้นจะถือว่าสิ้นสมาชิกภาพ ดังนั้นกรณีนี้สมาชิกภาพก็น่าจะติดตัวส.ส.สัดส่วนอยู่ และส.ส.ที่ถูกยุบพรรคแล้วยังหาสังกัดใหม่ไม่ได้ ก็สามารถโหวตเลือกนายกฯได้ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดให้ในช่วง 60 วันดังกล่าว ฉะนั้นจึงมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับส.ส.คนอื่นๆ ส่วนประเด็นรักษาการนายกฯไม่ได้เป็นส.ส.จะทำได้หรือไม่นั้น ก็มีปัญหาอยู่ ยังไม่แน่ใจ ขอไปดูข้อกฎหมายให้ละเอียดก่อน
นายวรเจตน์ กล่าวถึงอำนาจในการยุบสภาฯของรักษาการนายกฯว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภา ซึ่งคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือนายกฯ กรณีนี้เมื่อรักษาการครม.มีอำนาจเหมือนกับครม.จริง เนื่องจากไม่ใช่ช่วงสภาถูกยุบหรือสภาหมดวาระ และไม่ได้มีอะไรบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือว่า รักษาการนายกฯยุบสภาได้ ไม่เช่นนั้น หากนายกฯตาย มีนายกฯรักษาการแล้วมีเหตุที่ต้องยุบสภา จะทำอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกต หากยุบสภาแล้วจะมีการเดินเกมให้กกต.ลาออกตามจำนวนที่ทำให้กกต.ที่เหลือทำงานไม่ได้ จะมีปัญหาในการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันแต่ไม่เร็วกว่า 45 วัน นายวรเจตน์ กล่าวว่า ก็ต้องรีบสรรหากกต. อย่างไรก็ดีจริงๆแล้ว กฎหมายไทยไม่ได้ให้อะไหล่ในอำนาจทางบริหารที่ต้องมีคนทำงานตลอดเอาไว้ หรือมีองค์กรอื่นที่มาทำหน้าที่แทน เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดถึงตรงนี้ จึงเป็นปัญหาตามมา หรืออย่างที่มีคนมองว่า กฎหมายกำหนดให้เลือกนายกฯภายใน 30 วัน ถ้ามีเกมการดึงเรื่องไปมาจนยังไม่มีการโหวต ก็จะเป็นปัญหาเอามาเป็นเงื่อนแง่อีก แต่การกำหนด 30 วัน เป็นบทเร่งรัดแต่ไม่มีบทลงโทษลักษณะเช่นเดียวกับการกำหนดเวลาการออกพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
"ผมคิดว่า ต่อไปคงจะมีการนำกฎหมายมาฟาดฟันกันทางการเมือง และตัวกติกาก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตในวันข้างหน้า" นายวรเจตน์กล่าว
กกต.ระบุผู้ชี้ขาดสถานะ พิเชษฐ์ ควรเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง วรเจตน์ ชี้รักษาการนายกฯ ยุบสภาได้
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง กกต.ระบุผู้ชี้ขาดสถานะ พิเชษฐ์ ควรเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง วรเจตน์ ชี้รักษาการนายกฯ ยุบสภาได้