ทันทีที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" สั่งให้ยุบ "พรรคพลังประชาชน" "ชาติไทย" และ "มัชฌิมาธิปไตย" และตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
ได้ทำให้ ส.ส.สัดส่วน และ ส.ส.เขตของทั้ง 3 พรรคต้องพ้นสถานภาพ ส.ส. และส่งผลกระทบต่อฐานเสียงในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาลจากเดิมที่เคยมี 316 เสียง เหลือ 271 เสียงในทันที โดยเป็นของพรรคพลังประชาชน 208 เสียง และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 63 เสียง
และแม้ฐานเสียงในสภาผู้แทนราษฎรจะลดลงไปกว่า 45 เสียง แต่ไม่ได้ช่วยให้ "พรรคร่วมรัฐบาล" สามารถสลับขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ได้
เพราะเมื่อสิ้นเสียงคำวินิจฉัย แกนนำ "พปช." พยายามเดินเกมประสานแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างที่ร่วมประชุมประชุม ครม.กับ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" ที่ จ.เชียงใหม่ และได้รับคำยืนยันร่วมจัดตั้งรัฐบาลในทันที
คำถามต่อไปคือ ใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ในภาวะที่บุคลากรทางการเมืองของแต่ละพรรคหดหายลงไปอย่างมาก
แม้ "พปช." จะเตรียมพร้อมรับมือการยุบพรรคอย่างดีมาตลอด แต่สำหรับ "เก้าอี้นายกรัฐมนตรี" นั้นยากยิ่งที่จะประสานให้ทุกกลุ่ม-ก๊วนภายในพรรค พอได้เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งเมื่อมีโอกาสทุกกลุ่มต่างพยายามผลักดันคนของตัวเองให้ขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำสูงสุด
โดยชื่อแรกๆ ที่มีการโยนออกมานั้นประกอบไปด้วย
1."สันติ พร้อมพัฒน์" แกนนำกลุ่มพิจิตร ที่ได้รับการสนับสนุนจาก "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" หัวหน้ากลุ่มพิจิตร ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
2."มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พปช. ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวังบัวบาน ใกล้ชิด "ยงยุทธ ติยะไพรัช"
ซึ่งเป็น 2 คนที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุด
3."เฉลิม อยู่บำรุง" รมว.สาธารณสุข ที่แม้ประสบการณ์การเมืองจะเหนือว่าเพื่อน แต่แกนนำเป็นห่วงเรื่องท่าทีที่แข็งกร้าวและยากต่อการควบคุม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีได้ง่ายๆ ในทุกด้าน
ที่สำคัญทั้ง 3 คนมีแผลเหวอะหวะ จากการถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งข้อกล่าวหากรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ร่วมกับ ครม.ชุดสมัคร สุนทรเวช
หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด อาจจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ และต้องกระเด็นพ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เหมือน "สมัคร" และ "สมชาย" ไปแบบง่ายๆ อีกครั้ง
ทำให้ชื่อของคนอื่นอย่าง "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" รมว.ยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มขุนค้อน หรือ "พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย" รองประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้แต่ "ชัย ชิดชอบ" ประธานสภาผู้แทนราษฎร บิดา "นายเนวิน ชิดชอบ" หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน ถูกนำขึ้นเข้าสู่วงสนทนาของแกนนำพรรคพลังประชาชน
แต่เมื่อมองไปที่สถานการณ์การเมืองวันนี้แล้ว ดูเหมือนว่าภาคส่วนต่างๆ จะไม่ไว้ใจให้ "พปช." ขึ้นมานำ "รัฐบาล" เป็นหนที่ 3
เพราะ "2 นายกรัฐมนตรี" ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปหมาดๆ เป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ทำให้กระบวนการต่างๆ ในประเทศสะดุดหยุดลง ที่สำคัญคือ บุคลากรของพรรคพลังประชาชนแทบทุกคนจะถูกมองจากสังคมและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่าเป็นนอมินี ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พร้อมจะเป็นเชื้อปะทุอย่างดีในการจุดไฟการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรตลอดเวลา
ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมคมธนาคารไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะรัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศไปแล้ว
และไม่เพียง กกร.เท่านั้นที่เห็นว่า พปช.ไม่สามารถขึ้นนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้อีกต่อไป แต่ "พรรคร่วมรัฐบาล" ต่างก็เห็นว่าหาก พปช.ยังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็หนีไม่พ้นการต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตร
แม้การสลับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยเงื่อนไขทาง "คณิตศาสตร์" แต่ในทาง "การเมือง" พรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็เคยรวมตัวกันเป็นแกนนำจัดตั้ง "รัฐบาล" ได้มาแล้ว
ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมีความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง "เพื่อแผ่นดิน มัชฌิมาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนา และประชาราช" ที่ต้องการรักษาสถานภาพของสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการหาหนทางหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกับกลุ่มพันธมิตร ด้วยการ "แพค" กันให้แน่น แล้วประสานกับ "ส.ส.พลังประชาชน" บางส่วนที่ยังไม่ได้เข้าสังกัด "เพื่อไทย" ให้มาร่วมอุดมการณ์และร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่มี "พรรคเล็ก" เป็นแกนนำ
ซึ่งขณะนี้ "กลุ่มใหญ่บางกลุ่ม" ที่เคยอยู่ใน "พรรคพลังประชาชน" รับรู้กระแสและตอบรับข้อเสนอดังกล่าวแล้ว
โดยตกลงกันว่าจะเสนอชื่อของ "พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร" หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และอดีต "รมว.กลาโหม" สมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งประสานได้กับทุกกลุ่ม-ก๊วนเดิมที่เคยอยู่ร่วมพรรคไทยรักไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเป็นแคนดิเดตสำคัญ
ซึ่งที่สำคัญคือเกมนี้จะเป็นการยึดอำนาจรัฐจากมือ "เพื่อไทย" ที่จะต้องกลายเป็น "พรรคเล็ก" และมีสถานะเพียง "พรรคร่วมรัฐบาล" พรรคหนึ่ง ที่จะมี "อำนาจต่อรอง" และ "สร้างปัญหา" ได้ลดน้อยลง
จับสัญญาณพรรคร่วมแข็งเมือง นายกฯใหม่อาจไม่ใช่เพื่อไทย
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง จับสัญญาณพรรคร่วมแข็งเมือง นายกฯใหม่อาจไม่ใช่เพื่อไทย