สถานการณ์การเมืองวันนี้ใกล้ถึงจุดแตกหักเต็มที โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีปัจจัยบีบคั้นรายวัน
เริ่มตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองเรียกร้องให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯและ รมว.กลาโหมลาออกสถานเดียว ตามมาด้วยการปะทะกันและการระเบิดของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง มีคนบาดเจ็บทุกวัน ทำให้คณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม (คตร.) ที่มีนักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เป็นประธาน เสนอให้รัฐบาลยุบสภาพร้อมกับพันธมิตรยุติการชุมนุม รวมถึงภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมและหอการค้า มีข้อเสนอทำนองเดียวกันตามออกมา
แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะแก้เกมด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้มีกระแสข่าวการรัฐประหารจากฝ่ายทหารหนาหูตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว
ทำให้ ส.ส.พรรคพลังประชาชน เตรียมจัดคนจังหวัดละ 20,000 คน ออกมาต่อต้าน และประเดิมด้วยการรวมพลคนเสื้อแดง โชว์พลังเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ถือว่าเร้าสถานการณ์ที่สุดคือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดผู้ถูกร้องในคดียุบพรรค 3 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย แถลงปิดคดีวันที่ 2 ธันวาคม จนมีการคาดหมายกันโดยทั่วไปว่า อาจจะมีการตัดสินคดียุบพรรค ภายในวันสองวันหลังจากนั้น เหมือนกับเคสการวินิจฉัยคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช ไปเป็นพ่อครัวอย่างถาวร
งานนี้จึงต้องจับตามิตรรักแฟนเพลงของพรรคพลังประชาชนจะเดินหมากอย่างไร ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะใช้วิธีการแบบเดียวกับกลุ่มพันธมิตรที่ไปยึดทำเนียบ บุกสภา ปักหลักสนามบิน ก็เป็นได้
เพราะบรรดาแกนนำซึ่งจัดรายการความจริงวันนี้ ส่งสัญญาณให้ชาวเสื้อแดงแล้วว่า ให้เตรียมเสื้อผ้ามาด้วยเพราะอาจต้องค้างหลายคืน! เอาแค่มีมวลชนไปนั่งตาใสไร้อาวุธ กลางถนนรอบๆ ศาล ตั้งแต่วันแถลงปิดคดี อ้างอารยะขัดขืนเพราะเห็นว่า การพิจารณาคดีไม่น่าจะยุติธรรม รัฐประหารซ่อนรูป ยื่นพยานไปเป็นร้อยแต่กลับไม่เรียก ทำให้ผู้แถลงปิดคดีของ 3 พรรค เข้าไปไม่ได้ คดีก็จะคาไว้ กระบวนการพิจารณาคดีไม่จบ ตุลาการไม่รู้ว่าจะไปนัดประชุมกันที่ไหน เท่านี้ก็ป่วนแย่แล้ว
ยิ่งแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศว่า จะปักหลักยืดเยื้อ
เตรียมยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไว้เป็นที่มั่นถึงวันที่ 5 ธันวาคม ยุทธวิธีนี้ก็อาจทำให้พันธมิตรที่อ่อนล้า ต้องกุมขมับอีกรอบ หลังจากนายกฯยืนยันไม่ลาออก (อยากยึดก็ยึดไป?) ทำให้สังคมรวมถึงนานาชาติหันมากดดันพันธมิตรหนักขึ้นทุกวี่ทุกวัน เพราะสนามบินถือว่า เป็นหัวใจทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคที่เราอยู่ในประชาคมโลก
ฉะนั้น แม้ระยะเวลาการพิจารณาคดียุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญจะประจวบเหมาะกับการเป็นทางลงของพันธมิตร แต่กลไกที่บังเอิญลอยมาเข้าทางพอดี ก็อาจแป้กได้ด้วยเกมการย้อนเกล็ดของชาวเสื้อแดงนั่นเอง
ข้างฝ่ายทหาร บวกลบคูณหารแล้วคงคิดว่า หากขับรถถังออกมา ไม่แคล้วบ้านเมืองยิ่งพัง เพราะต้องเจอกับเสื้อแดง และอาจจะต้องเจอกับพลังเงียบที่ไม่เอาทหาร
งานนี้เมื่อคดียุบพรรคลอยมา จึงตั้งความหวังไว้กับกลไกนี้เช่นกัน โดยเชื่อว่า ถ้าศาลสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคหลังแถลงปิดคดีวันสองวัน นายกฯก็จะกระเด็นออกจากตำแหน่งเองโดยไม่ต้องลงมือ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ทำให้พันธมิตรกลับที่ตั้งได้บ้าง
แต่ถ้าเจอเกมของชาวเสื้อแดงแบบนี้ ก็เห็นจะต้องเครียดจัดอีกรอบ รวมกับการไม่รู้ว่า สองฝ่ายจะเปิดศึกห้ำหั่นกันเมื่อไหร่ แล้วตัวเองจะทำอย่างไร
สุดท้าย ไม่ว่าจะมีการแก้เกมกันอย่างไรก็แล้วแต่ มีคำถามที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะตอบอย่างน้อยๆ อาทิ 1.รัฐบาลที่บริหารประเทศให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยไม่ได้ ทำไมถึงยังทู่ซี้อยู่ 2.รัฐบาลและ ส.ส.คิดว่าประชาธิปไตยมีแค่เลือกตั้ง หลังจากนั้นจะปฏิบัติงานอย่างไร ช่างหัวมันอย่างนั้นหรือ 3.ส.ส.หรือนายกฯ เท่ากับผู้แทนของคนที่เลือกตัวเองเข้ามา หรือเท่ากับผู้แทนปวงชนทั้งมวล จึงมีการขนคนมาอัดกัน 4.พันธมิตรที่บอกว่าหวังดีต่อประเทศ อีกด้านหนึ่งก็ทำประเทศพังเหมือนกันหรือไม่ 5.พันธมิตรที่บอกว่าชุมนุมโดยสงบ สันติ ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามใช่หรือไม่ 6.ผู้ที่นำคนออกมาไม่ว่าฝ่ายใด ไม่เคยเป็นอะไร แถมยังอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข ในทางตรงข้าม คนเจ็บตายคือ ประชาชนเสมอ ใช่หรือไม่
ข้อสงสัยดังกล่าว สังคมเองก็คงพอจะเห็นพฤติกรรมแล้วว่า ฝ่ายใดกันแน่ที่หวังดีต่อประเทศชาติและประชาชน และเราควรสนับสนุนพวกเขาให้พังประเทศต่อไปอีกหรือไม่