การปิดล้อมทำเนียบดอนเมือง ก่อนบุกยึดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ตามยุทธการม้วนเดียวจบของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ส่งผลให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อไปประชุมเอเปกที่ประเทศเปรู ตั้งแต่คืนวันที่ 20 พ.ย.
ยังไม่มีโอกาสกลับเข้ากรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศ
ถึงไทยวันที่ 26 พ.ย. ต้องเอาเครื่องไปลงที่เชียงใหม่ ฐานที่มั่นของตระกูลชินวัตรแทน
พร้อมใช้ศาลากลางจังหวัดเป็นสถานที่ประชุมครม. และที่ทำงานชั่วคราว
ดูตามรูปการณ์แล้วก็น่าจะอยู่ยาว!?
ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เลยถูกมองว่า กลายเป็นศูนย์บัญชาการแห่งใหม่ของรัฐบาล หรือ "ทำเนียบ 3"
ทําเนียบรัฐบาล (Royal Thai Government) เป็นสถานที่ราชการสำคัญที่สุดในระดับชาติแห่งหนึ่ง เป็นที่ประชุมของครม. ที่ทำงานนายกฯ รองนายกฯ และรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ตั้งสำนักงานของหน่วยงานระดับกรมอีกหลายหน่วย ได้แก่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตลอดจนเป็นสถานที่ต้อนรับบุคคลสำคัญระดับผู้นำชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยือนประเทศไทย และเข้าพบนายกฯ รองนายกฯ บางโอกาสรัฐบาลยังจัดงานเกี่ยวกับรัฐพิธี เช่น งานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
เดิมทำเนียบรัฐบาลคือ "บ้านนรสิงห์" มี พลเอกพลเรือเอกเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นเจ้าของบ้าน
ตั้งอยู่ต.ดุสิต เขตดุสิต กทม. เนื้อที่ตามโฉนด 27 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา
เจ้าของบ้านได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์มาจัดสร้างอาคารและสิ่งต่างๆในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
เดือนมี.ค.2484 พลเอกพลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ มีหนังสือถึงรมว.คลัง คือ นายปรีดี พนมยงค์ เสนอขายบ้านนรสิงห์ให้แก่รัฐบาลในราคา 2 ล้านบาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะ เสียค่าบำรุงรักษาสูง
แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ
กระทั่งพ.ย.2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ เห็นว่าควรซื้อบ้านนรสิงห์ทำเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง ในที่สุดตกลงซื้อขายกันได้ในราคา 1 ล้านบาท
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พลเอกเจ้าพระ ยาพิเชเยนทรโยธิน (อุ่ม พิชเยนทรโยธิน) ให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วมอบบ้านนรสิงห์ให้สำนักนายกรัฐ มนตรีเป็นผู้ดูแล
บ้านนรสิงห์จึงเปลี่ยนเป็น "ทำ เนียบสามัคคีชัย" และ "ทำเนียบรัฐ บาล" ตามลำดับ สำนักนายกรัฐมนตรีย้ายจากวังสวนกุหลาบมาอยู่ที่นี่
29 พ.ย.2506 ครม.มีมติอนุมัติการซื้อทำเนียบรัฐบาล ทำสัญญาซื้อขายกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในราคา 17,780,802.36 บาท โอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนคร เสร็จเรียบร้อยเมื่อ 1 ต.ค.2512
ภายหลังกลุ่มพันธมิตรบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 ส.ค.51 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ทำเนียบจึงเปลี่ยนสภาพจากสถานที่ทำงานของรัฐบาล มาเป็นที่ปักหลักชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จ
รัฐบาลไปขอใช้สถานที่กองบัญชาการกองทัพไทยเป็นสถานที่ประชุมครม.ชั่วคราวแทน ส่วนตัวนายกฯก็เร่ร่อนไปเรื่อยๆ
ต่อมาสำนักเลขาธิการครม. ประสานท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ขอใช้สถานที่ห้องรับรองวีไอพีและอาคารสำนักงานท่าอากาศยานบางส่วน เป็นทำเนียบแห่งที่ 2
แต่ยังไม่ทันที่ได้เข้าใช้ นายสมัครมีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง!!
มาถึงรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แค่เริ่มต้นตำแหน่งก็ต้องวิ่งรอกระหว่างบ้านพักในหมู่บ้านเบเวอร์ลี่ฮิลล์ ถ.แจ้งวัฒนะ กับหน่วยงานราชการ
หลังปรับปรุงสนามบินดอนเมืองเสร็จเรียบร้อย นายกฯสมชายพร้อมด้วยรองนายกฯ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และเจ้าหน้าที่บางส่วนย้ายเข้ามาทำงานที่ทำเนียบแห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการ
ห้องทำงานของนายกฯอยู่ในห้องรับรองวีไอพี 1 ห้องรับรองถัดๆ ไปเป็นส่วนของรองนายกฯ คณะทำงานและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่วนรมต.ประจำสำนักนายกฯ 2 คน คือนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ และนายสุพล ฟองงาม อยู่บนชั้น 4 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทำเนียบบางส่วน และห้องประชุมครม.
สำหรับศูนย์แถลงข่าวและสื่อมวลชนอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารรับรองวีไอพี
ส่วนการรับแขกบ้านแขกเมือง นอกจากใช้ห้องรับรองภายในทำเนียบดอนเมืองแล้ว นายกฯสมชายยังใช้สถานที่ของกระทรวงการต่างประเทศอยู่บ่อยๆ
เมื่อสถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้น กลุ่มพันธมิตรยังไม่สามารถหาทางลงได้เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมเล่นตามเกมที่วางไว้
24 พ.ย. ขณะที่นายกฯสมชายอยู่ระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมเอเปกที่ประเทศเปรู กลุ่มพันธมิตรได้ดาวกระจายเข้ายึดทำเนียบแห่งที่ 2 ได้สำเร็จ ก่อนประกาศชัยชนะอย่างกึกก้อง
รุ่งขึ้น 25 พ.ย. กลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนมากขึ้น หลังแกน นำประกาศให้ผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ที่ทำเนียบตามมาสมทบ ตกบ่ายมีการดาวกระจายไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพไทย แวะเวียนไปปากทางเข้าบ้านพักของนายกฯที่หมู่บ้านเบเวอร์ลี่ฮิลล์
26 พ.ย. นายสมชายมีกำหนดเดินทางกลับเมืองไทย กลุ่มพันธมิตรจึงเคลื่อนขบวนไปปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งกดดันให้นายกฯลาออก และสกัดไม่ให้มีการประชุมครม.
ขณะนั้นสถานการณ์ตึงเครียด การยึดและปิดสนามบินนานาชาติเท่ากับยึดประเทศไว้เป็นตัวประกัน แต่นายกฯประกาศผ่านสื่อว่าไม่ยุบ-ไม่ออก ทำให้มีการปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้สู้แบบทุบหม้อข้าว
สุดท้ายนายสมชายจึงตัดสินใจให้เครื่องที่บินมาจากเปรูไปลงที่สนามบินเชียงใหม่แทน ขณะที่กลุ่มพันธมิตรก็ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองได้สำเร็จ ทุกเที่ยวบินไม่สามารถให้บริการได้
ค่ำวันเดียวกัน หลังจากนายกฯเดินทางเข้าบ้านพักภายในสนามกอล์ฟ กรีนวัลเลย์ ได้แถลงข่าวผ่านเอ็นบีทีอีกครั้งว่าไม่ยุบ-ไม่ออก
27 พ.ย. นายกฯเป็นประธานประ ชุมครม. โดยใช้ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์บัญชาการ หรือทำเนียบแห่งที่ 3 มี นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ เป็นหัวเรือใหญ่คอยเตรียมการ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส.เชียง ใหม่ เลขานุการส่วนตัว ประสานร่วมมือกัน
เสร็จจากประชุมครม. นายกฯยังคงแวะเวียนไปทำงานที่ศาลากลางฯ เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล มีศูนย์เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่ข่าย
รวมทั้งใช้โทรศัพท์ติดต่อประสานงานกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.
แม้จะขลุกขลักบ้างแต่นายกฯก็ปลอบใจตัวเอง
"อยู่ที่นี่ก็สบายดีเหมือนกัน สั่งงานง่าย อะไรก็สั่งได้หมด พูดผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็พูดได้ทั่วประเทศ
"มาที่ศาลากลางเชียงใหม่เครื่องเสียงเขาไม่ค่อยได้ใช้ ผมมาที่นี่ก็เท่ากับช่วยเขาใช้ไปในตัว"
วันนี้ศาลากลางเชียงใหม่จึงกลายเป็นทำเนียบแห่งที่ 3 ไปโดยปริยาย และคงต้องปักหลักอยู่ที่นี่จนกว่าสถานการณ์ในกรุงเทพฯจะคลี่คลาย
กว่าจะถึงวันนั้นจะต้องมีทำ เนียบอีกกี่แห่ง?