ปฏิกิริยาหลังพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม หรือ คตร. ออกมาแถลงมติเสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภา และกลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมในทุกพื้นที่
ปรากฏว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นหมัน ไม่ได้การตอบสนองจากทั้ง 2 ฝ่าย
กลุ่มพันธมิตรฯ ยังยืนกรานต้องให้นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกสถานเดียว และยังคงยึดสนามบินสุวรรณภูมิต่อ แถมยึดสนามบินดอนเมืองเพิ่มอีกแห่งด้วย
ส่วนนายกฯ แถลงยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยระบุว่าเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม
แถมเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีด่วนที่เชียงใหม่
ขณะเดียวกัน บรรดาส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วย และโจมตีพล.อ.อนุพงษ์อย่างรุนแรง โดยระบุว่าไม่ใช่หน้าที่ และเป็นการปฏิวัติเงียบโดยกลุ่มข้าราชการ
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าถึงแม้จะยุบสภา แต่พันธมิตรฯ ก็คงไม่ยุติการชุมนุม และไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งด้วย
พร้อมกันนี้ มีการรวบรวมรายชื่อส.ส.เสนอให้ปลดพล.อ.อนุพงษ์อีกต่างหาก
ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ ก็ถูกแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อย่าง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ขึ้นเวทีด่าและเหยียดหยามไม่มีชิ้นดี เพราะเรียกร้องแล้วไม่ได้ดังใจ
คราวนี้ เจอแรงกดดันจากฟากรัฐบาลบ้าง
ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระบุว่าข้อเสนอของผบ.ทบ.ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และไม่ได้เน้นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย และที่สำคัญคือไม่รักษากฎหมาย และไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของกลุ่มพันธมิตรฯ กำลังทำอยู่
นายจาตุรนต์ระบุด้วยว่า ผบ.ทบ.ไม่ยอมใช้กฎหมายกับคนที่ไม่รักษากฎหมาย ไม่พูดถึงความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งการปิดสนามบิน การยึดทำเนียบ ทั้งที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเข้าข่ายก่อการร้ายสากล แต่ผบ.ทบ.กลับอ้างว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง จึงยอมให้พันธมิตรฯ ทำตามอำเภอใจได้
อย่างไรก็ตาม พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ออกมาบอกว่า ถ้าหากจะสั่งการให้ดำเนินการกับผู้ชุมนุม ทหารก็จะแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลพร้อมจะรับผิดชอบความสูญเสียที่เกิดขึ้นหรือไม่
เหตุผลดังกล่าว เป็นลักษณะเดียวกันกับกรณีที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.เคยปฏิเสธรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย. 2549
นั่นคือถ้าทหารออกมา รัฐบาลจะก็ยิ่งเสียหาย
แต่คราวนี้ ย้อนถามถึงขนาดว่ากล้าจะรับผิดชอบหรือไม่ด้วย