ก้ำกึ่งหนุน-ไม่หนุนวิทยุนายกฯ คนกรุงติงพาดพิง ´คนมีบารมี´

ไทยรัฐ

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง รายการนายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชนและคนบารมีนอกรัฐธรรมนูญในทรรศนะของสาธารณชน : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมทั้งสิ้น 1,231 คน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผลสำรวจความคิดเห็นต่อกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมาจัดรายการนายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน อีกครั้ง พบว่า ก้ำกึ่งกันระหว่างคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยหรือร้อยละ 45.4 ต่อร้อยละ 43.6 โดยคนที่เห็นด้วยเพราะทำให้รู้การทำงานของรัฐบาลและต้องการให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ขณะที่ตัวอย่างที่ระบุไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าเป็นการหาเสียง เอาเปรียบและฉวยโอกาสทางการเมือง คิดว่าเป็นการสร้างภาพและพูดแต่ฝ่ายเดียว และร้อยละ 11.0 ไม่มีความเห็น

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจพบอีกว่าถ้ามีการจัดรายการ นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน นั้น ตัวอย่างต้องการให้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาสาระต่อไปนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.9 ต้องการให้ชี้แจงลดความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องทุจริตคอรัปชั่น รองลงมาคือร้อยละ 60.5 ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เสนอแนวทางแก้ไขวิกฤตการเมือง ร้อยละ 59.7 ต้องการให้ชี้แจงข้อสงสัยเรื่องการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 50.2 ต้องการให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีประเด็นร้อนๆ ทางการเมือง ตามลำดับ

นายนพดล กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ คนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกือบครึ่งหรือร้อยละ 47.7 คิดว่าไม่เหมาะสมที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวพาดพิงบุคคลมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้เกิดความแตกแยก ทำให้สถานการณ์การเมืองแย่ลงไปอีก ในขณะที่ร้อยละ 20.9 คิดว่าเหมาะสม และร้อยละ 31.4 ไม่มีความเห็น สำหรับบุคคลที่ประชาชนคิดว่าเป็นบุคคลบารมีนอกรัฐธรรมนูญจากการกล่าวของนายกรัฐมนตรี คือร้อยละ 58.4 คิดว่าคงหมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ร้อยละ 30.5 คิดว่าเป็นนายสนธิ ลิ้มทองกุล ร้อยละ 18.2 คิดว่าเป็นพลตรีจำลอง ศรีเมือง ตามลำดับ

"ผลสำรวจออกมาแบบนี้ จะเห็นได้ว่า การที่นายกรัฐมนตรีออกมากล่าวพาดพิงบุคคลบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ทำให้สาธารณชนคิดแตกแยกออกไปต่างๆ นานา แต่ส่วนใหญ่คิดว่านายกรัฐมนตรีพูดถึง พล.อ.เปรม ดังนั้น นายกรัฐมนตรีควรออกมาขอโทษสังคมที่พูดคลุมเคลือจนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปขนาดนี้" ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าว

นายนพดล กล่าวด้วยว่า ทุกฝ่ายคงยอมรับว่าเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเดือนแห่งความสุขของคนไทยทั้งประเทศ เป็นช่วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่แสดงให้คนทั่วโลกเห็นความรักความสามัคคีกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่วัน ฝ่ายการเมืองกำลังเป็นตัวการทำลายความสุขของคนไทยและความสามัคคีในหมู่ประชาชนหรือไม่ คงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าบรรดานักการเมืองจะเร่งทำงานหนักเพื่อประชาชน แต่กลับต้องสูญเสียความรักความสามัคคีของคนในชาติไป คล้ายๆ กับว่า ได้ใจประชาชนบนความแตกแยกทางสังคม ในขณะเดียวกัน ประโยชน์จะไม่เกิดแน่ ถ้ามีความสามัคคีกันแต่ปัญหาประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น ฝ่ายการเมืองและกลไกต่างๆ ของประเทศต้องมีกลยุทธ์เทคนิคประสานความรักความสามัคคีของคนในชาติควบคู่ไปกับการแก้ไขความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนเพื่อฟื้นความนิยมศรัทธา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์