การบุกเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำมาสู่กระแสข่าวลือที่โหมสะพัดไปทั่วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่าจะมีการปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นเหยื่อรายแรกที่สังเวยความขัดแย้งทางการเมือง ท่ามกลางสถานภาพอันล่อแหลมของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ไม่สามารถหาข้อยุติความวุ่นวายทางการเมืองได้ กระแสข่าวที่เกิดขึ้น มีเหตุผลมาจากการลอยตัวอยู่เหนือปัญหาของผู้นำสีกากี นับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 4 เดือนก่อน ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ แล้วปล่อยให้ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะแกนนำทั้ง 5 คน ตรงกันข้ามกลับมีความเห็นแย้งตลอดที่รัฐบาลจะให้ใช้กำลังจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม
ท่าทีของ ผบ.ตร.ที่มีต่อกลุ่มผู้ชุมนุม ดูเหมือนจะทำให้ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีสมชายไม่สบอารมณ์
กระทั่งเกิดการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.พัชรวาท ก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย ปล่อยให้การสั่งการตกเป็นของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตั้งแต่ยุค พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง มาจนถึงยุค พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว หรือแม้แต่การใช้กฎหมายเล่นงาน 5 แกนนำ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เหตุการณ์ก็พลิกผัน เมื่อมีการจับกุม "ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์" กับ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" ในเวลาที่พันธมิตรกำลังอ่อนกำลัง นับเป็นการจุดชนวนให้ลุกกระพือขึ้นมาใหม่ กระทั่งเกิดการปะทะขึ้นระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลา 51 ขณะเข้าสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา
รอยปริร้าวที่มีอยู่เดิมถูกขยายให้กว้างขึ้น ตำรวจตกเป็นจำเลยของสังคม แต่กระนั้นผู้นำ สตช.ก็ดูเหมือนเก็บตัวอยู่ในที่กำบัง ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาทั้งมวล
ปล่อยให้ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. พร้อมด้วยทีมโฆษกอย่าง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. กับ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง โฆษก สตช. ออกมาเรียงหน้าชนตามลำพัง ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เมื่อผนวกเข้ากับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรใช้แผนดาวกระจายเคลื่อนพลออกไปบุกยึดสถานที่สำคัญ อย่างที่ทำการทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว สนามบินดอนเมือง ก่อนอีกกลุ่มจะบุกไปปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ ส่งผลให้ความวุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย เศรษฐกิจของประเทศเสียหายหลายพันหลายหมื่นล้านบาท ไม่นับบรรดานักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่ตกค้างไม่สามารถกลับประเทศได้ เนื่องจากสายการบินทุกสายประกาศงดเที่ยวบินทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นประปราย เช่น กลุ่มพันธมิตรปะทะกับกลุ่มสถานีวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ ที่ปากซอยวิภาวดีรังสิต 3 เหตุระเบิดที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิในเวลาไล่เลี่ยกัน
สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายเหล่านี้ ทำให้ตำรวจถูกมองว่าไม่สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ จึงต้องมีคนรับผิดชอบ และคนคนนั้นจะเป็นใคร นอกเสียจากนายใหญ่ สตช.ที่ชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
กระสแข่าวปลด ผบ.ตร.เคยมีออกมาก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งจัดทำโผแต่งตั้งนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ-สารวัตร
นัยว่าไม่ตอบสนองความต้องการของฝ่ายการเมือง ประกอบเข้ากับเหตุผลต่างๆ ข้างต้น จึงปรากฏข่าวออกมาทำนองนี้ แต่ก็รอดพ้นมาได้ ข่าวลือยังคงเป็นข่าวลืออยู่เช่นเดิม กระทั่งมาถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน กระแสข่าวปลด พล.ต.อ.พัชรวาท จึงหวนกลับมาอีกครั้ง และเกิดขึ้นภายหลังการประชุมร่วมของคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม ก่อนที่ประชุมจะมีมติเสนอให้นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินอีกครั้ง แล้วให้พันธมิตรออกจากสนามบินสุวรรณภูมิโดยเร็วที่สุด
กระแสข่าวที่เกิดขึ้นได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคพลังประชาชน อย่างน้อยก็ 3 คน วีระ มุกสิพงศ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้
ที่ประสานเสียงให้นายกฯ ปลด ผบ.ตร.และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม ที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความขัดแย้งได้ ยังออกมาเสนอแนะให้นายกฯ ยุบสภา ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้องในสายตาของ ส.ส.ส่วนใหญ่ เรื่องนี้จะเป็นเพียงกระแสที่เกิดขึ้นตามสถานการณ์การเมือง เมื่อเวลาผ่านเรื่องราวก็ผ่านไป หรือว่าจะเป็นของจริง เพื่อเซ่นสังเวยเรื่องการเมืองก็ขึ้นอยู่กับใจของชายคนที่ชื่อ สมชาย เท่านั้น