มติชน
บทนำมติชน
คำให้สัมภาษณ์ของนายผัน จันทรปาน รักษาการประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองเป็นท่าทีที่น่าสนใจและควรได้รับการพิจารณาอย่างยิ่ง คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว สามารถประมวลเป็นประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องให้เร็วและดีที่สุด ประการที่สอง กระแสเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความยุติธรรมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ศาลต้องสร้างความยุติธรรม ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ต้องสร้างความยุติธรรม ประการที่สาม จะสร้างประวัติศาสตร์โดยยึดถือและปฏิบัติตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประการที่สี่ ขอให้เชื่อว่า ความยุติธรรมและความถูกต้องในประเทศนี้ยังมีอยู่
โดยเฉพาะการสร้างประวัติศาสตร์นั้น นายผันไม่ได้ให้คำอธิบายไว้ รวมทั้งคำวินิจฉัยแบบไหนถึงจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ แต่โดยสามัญสำนึกของผู้คนย่อมต้องการเห็นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ การพิจารณากระทำด้วยความรวดเร็ว ไม่ยืดเยื้อและที่สำคัญคือความเป็นอิสระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ซึ่งผูกพันกับคำวินิจฉัยที่จะออกมาตามมติของเสียงส่วนใหญ่ว่านั่นคือ ความยุติธรรม
ความยุติธรรมที่เที่ยงแท้แม้จะหาได้ยากหรือหาไม่ได้ในโลกนี้ เพราะตัวบทกฎหมายอันเดียวกัน แต่นักกฎหมายกลับตีความไปต่างๆ นานา จึงมักจะมีการพูดประชดประชันกัน เช่น กฎหมายดิ้นได้,ศรีธนญชัย เป็นต้น ความยุติธรรมมิได้มีนัยยะทางบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ถูกมนุษย์ตีความเท่านั้น หากยังมีนัยยะทางรัฐศาสตร์ที่ควรนำมาคำนึงถึงด้วย และนี่เองได้กลายมาเป็นข้อถกเถียงจนกลายเป็นความขัดแย้งจนเกิดผลกระทบต่อสถาบันศาลและคณะบุคคลผู้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยคดีหรือคำร้อง
กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำร้องเรื่องซุกหุ้น (การไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเกี่ยวกับหุ้นของบุคคลใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อ ป.ป.ช.) เมื่อปี 2544 ด้วยมติ 8 ต่อ 7 โดย 8 เสียงเห็นว่าไม่ได้ซุกหุ้น แต่อีก 7 เสียง (ห่างกันแค่เพียงเสียงเดียว) เห็นตรงข้าม ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณรอดพ้นจากการถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า พฤติการณ์อันเนื่องจากการกระทำของบุคคลอย่างหนึ่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่เหมือนกัน อย่างนี้แม้จะถือว่าเป็นความยุติธรรมอย่างหนึ่ง แต่ประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ก็มีรอยตำหนิหรือรอยด่างที่ถูกท้าทายความยุติธรรมและความเป็นอิสระของศาลรัฐธรรมนูญตลอดเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
คำร้องเรื่องการยุบ 5 พรรคการเมืองที่อัยการสูงสุดจะส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญในต้นสัปดาห์หน้าจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์แบบไหนจึงไม่อาจคาดการณ์ได้ เหนืออื่นใด คำกล่าวของนายผันจะหมายรวมไปถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 14 คนด้วยหรือไม่ ซึ่งต่างก็เป็นอิสระในการพิจารณาและวินิจฉัยกรณีนี้ด้วยตนเอง กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 เสียง ไม่รับคำร้องของ 35 รักษาการ ส.ว.ที่ให้วินิจฉัยการสิ้นสมาชิกภาพของ กกต. เพราะขาดคุณสมบัติของความเป็นกลางและความสุจริต เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเพียง 6 เสียงที่เห็นควรให้รับคำร้องเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดเพราะจากคำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้วิกฤตการณ์ทางการเมืองยังคงอยู่
ศาลรัฐธรรมนูญตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองเล็กๆ ไปแล้วจำนวนมากเนื่องจากกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพียงแต่พฤติการณ์กระทำผิดเป็นเรื่องซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เมื่อมาเจอพรรคการเมืองใหญ่อย่างไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ที่ถูกยื่นคำร้องให้ยุบพรรค ผลสุดท้ายมีอย่างคือ ยุบกับไม่ยุบ นั่นแน่นอนว่า ประวัติศาสตร์ที่จะถูกสร้างโดยศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายผันกล่าว จึงมีเพียง 2 ทางเท่านั้นคือ ถ้าไม่เป็นประวัติศาสตร์อันงดงามก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความด่างพร้อย